ข่าวสารจุฬาฯ

แถลงข่าวเวทีคืนข้อมูลรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฯ โครงการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ

            รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในงานแถลงข่าวเวทีคืนข้อมูลรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฯ โครงการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ หลังจากดำเนินการมา 30 ปี และความชุกของโรคตับอักเสบ เอ บี และ ซี ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

              การศึกษาผลงานวิจัยโครงการนี้ประสบผลความสำเร็จแล้ว โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มูลนิธิป้าทองคำ มูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ โดยมี นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีคุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล มูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมงานในครั้งนี้

              “ไวรัสตับอักเสบ” เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประชากรโลกสำหรับประเทศไทย เป็นปัญหาที่สำคัญก่อให้เกิด โรคตับอักเสบเฉียบพลัน เรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ รวมทั้งเป็นสาเหตุให้เพศชายพบมะเร็งตับสูงที่สุดในบรรดามะเร็งทั้งหมด ในอดีตที่ผ่านมาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี พบในอัตราที่สูงร้อยละ 6-8 (ปี 1980) และไวรัสตับอักเสบ ซี ร้อยละ 2 (ปี 1990) พบว่าสาเหตุการแพร่กระจายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการใช้ของมีคมร่วมกัน การถ่ายเลือดก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบ บีสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการให้วัคซีนในทารกแรกเกิด ประกอบกับระบบสาธารณสุข และความรู้เรื่องป้องกัน รวมทั้งมีการตรวจกรองเลือดที่บริจาคทุกหน่วย

              องค์การอนามัยโลกมีนโยบายการขจัดไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2030 และมีการประกาศให้ลดการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ ประเทศไทยได้รับนโยบายดังกล่าวโดยมีข้อบ่งชี้ว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ต้องน้อยกว่า 0.1% รวมทั้งการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 90 และป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ในผู้ที่ติดเชื้อจะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาให้ได้มากกว่าร้อยละ 80 และเมื่อถึงเวลาดังกล่าว อัตราการตายจากโรคที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบต้องลดลงให้ได้อย่างน้อย 65%  จึงเป็นที่มาและเหตุผลในการศึกษาติดตาม การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย จากข้อมูลของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสตับอักเสบ จุฬาฯ ได้ศึกษามาโดยตลอดทุก 10 ปี ตั้งแต่ปี 2004 2014 และการศึกษาในปี 2024 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ทราบถึงตัวเลขที่แท้จริงของประเทศไทยในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ บี และซี

              โครงการนี้ทำการศึกษาโดยสุ่มจากประชากร 4 จังหวัดที่เป็นตัวแทนของแต่ละภาค คือจังหวัดอุตรดิตถ์ พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ และตรัง จังหวัดละ 1,500 คน โดยเลือกจากเขตอำเภอเมืองครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นอำเภอที่อยู่นอกออกไปรวมทั้งชนบท โดยกระจายกำหนดอายุ ตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 80 ปี ตามกลุ่มเป้าหมายที่ได้คำนวณไว้ตามสถิติ โดยมีฐานของการให้วัคซีนตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา โดยจะทำการตรวจเลือด อัตราการติดเชื้อเป็นพาหะ และภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบ บี (HBsAg, anti-HBs และ anti-HBc) การติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ ซี (anti-HCV และ HCV Ag) ไวรัสตับอักเสบ เอ (anti HAV IgG) วิเคราะห์อัตราการตรวจพบกระจายตามอายุต่าง ๆ และเปรียบเทียบกับอัตราส่วนของประชากรไทย เพื่อหาภาพรวมของการติดเชื้อในประเทศไทย

              ผลการศึกษา ไวรัสตับอักเสบ เอ พบว่าประชากรส่วนใหญ่ ยังไม่มีภูมิต้านทานหรือตรวจไม่พบ anti HAV IgG โดยอายุที่ตรวจพบภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบ เอ (anti-HAV IgG) ร้อยละ 50 อยู่ที่อายุ 52 ปี และหลังจากนั้นจะตรวจพบภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบ เอเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นว่าในขณะนี้ประเทศไทยทางด้านระบาดวิทยาจัดอยู่ในประเทศระบาดต่ำมาก (very low endemicity)

              ไวรัสตับอักเสบ บี ได้มีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและอัตราการครอบคลุมสูงในทารกแรกเกิด ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ทำให้อุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBsAg) ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี การติดเชื้อจะพบได้ในส่วนใหญ่ผู้ที่มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป และเมื่อคำนวณภาพรวมของการติดเชื้อทั้งประเทศ อัตราการติดเชื้อจะอยู่ที่ 1.68%  นับว่าการติดเชื้อลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2004 (4.0%) และ 2014 (3.48%) ข้อมูลการศึกษายังสนับสนุนด้วยการตรวจพบ anti-HBc ในกลุ่มประชากรที่อายุน้อย พบได้น้อยมาก และประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน anti-HBs ถึงแม้ว่าภูมิต้านทานจะลดลงตามกาลเวลา แต่ก็ยังสามารถในการป้องกันการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากมารดาสู่ทารกให้เป็นศูนย์ ได้เป็นผลสำเร็จ เพราะการตรวจพบการติดเชื้อ HBsAg ในเด็กที่น้อยกว่า 5 ปี น้อยกว่า 0.1% ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวเลขรายงานให้โครงการอนามัยโลกถึงผลสำเร็จดังกล่าว และนับจากนี้ประเทศไทยก็จะมีแนวโน้มการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดีลดลงอย่างมาก เชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

              ไวรัสตับอักเสบ ซี จากการศึกษาพบว่ามีการลดลงอย่างมาก ตั้งแต่ปีค.ศ. 2004 ประชากรไทยมีอัตราการตรวจพบไวรัสตับอักเสบ ซี (anti-HCV) ร้อยละ 2.15 และลดลงเหลือ 0.94% ในปี 2014 และในปี 2024 การตรวจพบ anti-HCV เหลือเพียง 0.56 หรือประมาณประชากร 363,475 คน แสดงให้เห็นว่าการลดลงของไวรัสตับอักเสบ ซี ได้ลดลงด้วยการพัฒนาด้านระบบสาธารณสุข และการให้ความรู้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี โดยเฉพาะการใช้ของมีคมร่วมกัน การตรวจกรองในผู้บริจาคโลหิต และในปัจจุบันผู้ที่ตรวจพบไวรัสตับอักเสบ ซี จะเข้าสู่กระบวนการรักษาซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำให้มีความมั่นใจว่า ไวรัสตับอักเสบ ซี จะเหลือน้อยที่สุด หรือใกล้หมดไปภายในปี 2030                จากข้อมูลดังกล่าวทั้งหมด จะเป็นข้อมูลการอ้างอิงระดับชาติที่กระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้วางแผน และนโยบายในการขจัดไวรัสตับอักเสบ รวมทั้งเป็นข้อมูลแสดงถึงความสำเร็จของประเทศไทย ให้นานาชาติ และองค์การอนามัยโลก เห็นการประสบความสำเร็จของประเทศไทยในการขจัดไวรัสตับอักเสบ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยนี้ยังสร้างบุคลากรให้มีความสามารถในการศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยาได้เป็นจำนวนมาก และยังได้เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 3 เรื่องทั้งไวรัสตับอักเสบ เอ บี และซี

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า