จุฬาฯ ร่วมกับ BGI ร่วมมือวิจัย CHANGS วิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวมของประชากรสูงวัยในประเทศไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ BGI (Beijing Genomics Institute) ร่วมมือในโครงการวิจัย CHANGS (Comprehensive Health Analysis for AgiNG Study) เพื่อการวิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวมของประชากรสูงวัยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ณ ห้อง 302 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้รับมอบอำนาจจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.หวัง เจียน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน BGI Group เป็นผู้แทนลงนามความร่วมมือในครั้งนี้
ความร่วมมือในโครงการ CHANGS มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สุขภาพของประชากรสูงวัยในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ (omics technology) และปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ผล (AI based bioinformatics) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับผิดชอบในการรวบรวมตัวอย่างจากอาสาสมัครและข้อมูลทางคลินิก ส่วน BGI จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล



โครงการ CHANGS จะเป็นโครงการวิจัยที่สำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจกระบวนการชราภาพของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ของโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรสูงวัย เพิ่มศักยภาพ ในการดูแลตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรงและมีความสุข คาดว่าวิธีการวินิจฉัยและการรักษาที่ได้จะเกิดประโยชน์แก่ผู้สูงอายุและสังคมทั่วโลกต่อไป
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ BGI ยังได้ร่วมมือกันในโครงการ “Chula-BGI Joint Talent Training Program” เพื่อพัฒนานักศึกษาและบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากร สำหรับงานวิจัยด้านนี้ต่อไป โดยมี ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าโครงการผู้สูงวัยสุขภาพดีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ดร.มิเกล เอสเตบัน หัวหน้าโครงการจาก BGI ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ BGI เป็นบริษัทเอกชนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการตรวจพันธุกรรมและสารต่าง ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดของโรค รวมถึงมีผลงานความก้าวหน้าทางด้านงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก และเป็นสถาบันที่ไม่ได้เน้นในการผลิตเพื่อแสวงหากำไร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนิสิตนักศึกษากับ BGI รวมถึงมีแผนในโครงการวิจัยร่วมกันในอนาคต เรื่องผู้สูงอายุมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเข้าใจกลไกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความชราและความเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องที่กำลังหาคำตอบ โครงการความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันโดยนำจุดเด่นของทั้งสององค์กรคือเทคโนโลยีของ BGI ร่วมกับการติดตามในกลุ่มผู้สูงอายุสุขภาพดีในประเทศไทยโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อศึกษาในเชิงลึกลงไปในระดับโมเลกุลให้เห็นถึงสาเหตุและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ตอบคำถามที่สำคัญในเรื่องการชราภาพได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติให้มากที่สุด นอกจากนี้ จุฬาฯ และ BGI ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอีกด้วย
“การเข้าใจกลไกการชราภาพว่ามีต้นเหตุจากอะไร ความสามารถในการป้องกันหรือยับยั้งกลไกเหล่านั้น จะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับ BGI จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในศาสตร์เหล่านี้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในอนาคต” รศ.นพ.ฉันชายกล่าวในที่สุด


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย