ข่าวสารจุฬาฯ

อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจพบร่องรอย “เมืองโบราณอีกเมือง ตั้งซ้อนทับ เมืองเก่านครราชสีมา”

“อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจพบร่องรอยแนวคันดิน บ่งชี้ว่าอาจจะมีอีกชุมชนโบราณขนาดใหญ่ เคยอยู่อาศัยมาก่อน และซ้อนทับกับ เมืองเก่านครราชสีมา”


         สืบเนื่องจาก โครงการวิจัย “การสังเคราะห์ภูมิสารสนเทศและสถิติของ คูเมืองโบราณ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบร่องรอยการเคยมีอยู่ของแนวคันดินโบราณในพื้นที่ เมืองเก่านครราชสีมา อ. เมือง จ. นครราชสีมา ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของชุมชนโบราณ ก่อนที่จะมีการสร้างแนว คูเมืองเก่านครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2231)

ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้

         การค้นพบนี้เกิดจากการสำรวจและแปลความหมายภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2497 โดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่ง ศ.ดร. สันติ พบว่าในทางภูมิศาสตร์ พื้นที่โดยรอบเมืองเก่านครราชสีมา เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงของ คลองตะคองเก่า ที่ไหลมาจากลำตะคองทางทิศตะวันตก ผ่านทางตอนเหนือของแนวคูเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปัจจุบันอย่างหนาแน่น

         แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2497 ศ.ดร. สันติ พบแนวคล้ายคันดินที่ทอดยาวเป็นเส้นตรงอย่างต่อเนื่อง ทางตอนเหนือ ตะวันตกและทางตะวันออกของคลองตะคองเก่า จึงแปลความว่า อาจจะเป็นขอบเขตของอีกชุมชนโบราณ ทางตอนเหนือของพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา ซึ่งมีคูเมืองล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมอย่างชัดเจน

ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2497 พื้นที่โดยรอบเมืองเก่านครราชสีมา
(ที่มา : กรมแผนที่ทหาร)

         ถึงแม้ว่าสภาพปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบเมืองเก่านครราชสีมา จะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกิจกรรมการอยู่อาศัยของชุมชนเมืองในปัจจุบัน แต่จากการแปลความ แนวที่คาดว่าเป็นแนวคันดินโบราณ พิจารณาร่วมกับพฤติกรรมการไหลของคลองตะคองเก่า พบว่าไม่เป็นไปตามธรรมชาติของกระบวนการทางน้ำปกติทั่วไป ซึ่งมีตัวบ่งชี้ความผิดปกติทางภูมิศาสตร์อยู่ 2 ประเด็น คือ

         1. ในฤดูน้ำหลาก เมื่อมวลน้ำจากลำตะคองเก่าไหลหลากจากทิศตะวันตก เข้ามาปะทะแนวคันดินทางทิศตะวันตก (ปัจจุบันคือ แนวถนนซอยประปา) มวลน้ำจะถูกกั้นด้วยคันดิน ทำให้น้ำเอ่อนองอยู่บริเวณนอกคันดิน ซึ่งในเวลาต่อมา ผลจากการที่มวลน้ำทั้งหมดต้องทยอยไหลเข้าช่องแคบ ๆ ตามร่องน้ำที่แนวคันดินเปิดระบายไว้ พื้นที่ร่องน้ำนอกคันดินจึงถูกกัดกร่อนสูง ตะกอนถูกพัดพาไปตามร่องน้ำมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ จนกลายเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และพัฒนาเป็นบึงหรือหนองน้ำในเวลาต่อมา อยู่หน้าแนวคันดิน (ปัจจุบันคือ อ่างอัษฎางค์)

         2. มวลน้ำจำนวนมากที่ขังอยู่นอกคันดิน จะถูกคันดินบังคับให้ไหลผ่านเข้ามาหลังแนวคันดิน ด้วยความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลำตะคองเก่าเมื่อเข้ามาภายในพื้นที่หลังแนวคันดิน (พื้นที่ชุมชนโบราณ) จะถูกกัดก่อนในแนวราบอย่างรุนแรงเช่นกัน ทำให้ธารน้ำมีความคดโค้งมากกว่าปกติ (กวัดแกว่งมากกว่าธารน้ำทั่วไป) ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากมวลน้ำจำนวนมากที่ควรไหลหลากทั่วทั้งพื้นที่เท่า ๆ กัน ถูกรวมไว้นอกคันดินและถูกบีบถูกรีด ให้ฉีดเข้ามาตามร่องลำตะคองเก่าเพียงอย่างเดียว

         พฤติกรรมความผิดปกติของธารน้ำเมื่อถูกกั้นด้วยคันดิน สามารถพบเห็นได้ในหลายพื้นที่ของชุมชนโบราณในภาคอีสานของไทย เช่น ชุมชนโบราณโคกขามและโคกสูง จ. บุรีรัมย์ ชุมชนโบราณโพธิ์ศรี จ. สกลนคร และเมืองโบราณพลับพลา รวมไปถึงแนวคันดินทางตอนเหนือของตัวเมืองเก่านครราชสีมา ที่สำรวจพบในครั้งนี้

         จากหลักฐานความผิดปกติของพฤติกรรมธารน้ำทั้ง 2 ประเด็น จึงแปลความได้ว่า แนวกรอบสี่เหลี่ยมที่เห็นได้จากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2497 เป็นแนวคันดิน ที่แสดงขอบเขตการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณในอดีต เช่นเดียวกับที่พบเห็นในพื้นที่อื่น ๆ ดังที่กล่าวไปในข้างต้น

ตัวอย่างชุมชนโบราณที่กำหนดขอบเขต
โดยแนวคันดินรูปร่าง 4 เหลี่ยม

         จากการรังวัดแนวคันดิน พบว่าแนวคันดินดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยคันดินที่เห็นได้ชัดเจนด้านทิศเหนือยาว 2 กิโลเมตร ส่วนคันดินทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ในเบื้องต้นไม่สามารถประเมินความยาวได้ เนื่องจากแนวคันดินเดิม ต่อเนื่องล้อไปกับแนวคูเมืองนครราชสีมา

         อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์พฤติกรรมและรูปแบบการสร้างคันดิน ที่มีธารน้ำไหลผ่านพื้นที่ชุมชน ชุมชุนโบราณหลายแห่งที่กล่าวมาในข้างต้น นิยมให้ธารน้ำไหลผ่าผ่านกลางพื้นที่ชุมชน (ดูรูปประกอบ) ซึ่งเมื่อตรวจวัดระยะห่างจากแนวคันดินด้านทิศเหนือถึงคลองตะคองเก่า พบว่ามีความยาว 850 เมตร ซึ่งหากขยายพื้นที่จากคลองตะคองเก่า ต่อลงมาทางด้านใต้อีก 850 เมตร พบว่าตรงกับ แนวโครงสร้างที่ถูกใช้งานในปัจจุบันคือ ถนนจอมพล ถนนสายหลักที่ตัดผ่านกลางเมืองเก่านครราชสีมา ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ถนนจอมพล อาจจะเป็นขอบเขตทางทิศใต้ของชุมชนโบราณ และอนุมานในเบื้องต้นว่า ชุมชนนี้ตั้งขึ้นมาก่อนเมืองเก่านครราชสีมา โดยคาดว่า “คันดินเดิมทางด้านใต้ อาจถูกปรับเปลี่ยนการใช้งาน จากแนวคันดินที่ทำหน้าที่แสดงขอบเขตชุมชนเดิม ถูกปรับเปลี่ยนเป็น ถนนสายหลักกลางเมือง ของเมืองเก่านครราชสีมา” ศ.ดร. สันติ ตั้งข้อสังเกต

         ซึ่งจากสมมุติฐานตั้งต้นที่ว่า ขอบเขตทางทิศใต้คือถนนจอมพล จะประเมินได้ว่า ชุมชนโบราณนี้มีรูปร่างใกล้เคียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ช่วยสนับสนุนในอีกแง่มุมว่า แนวคันดินนี้ไม่ใช่ บาราย (Baray) หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่นิยมสร้างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในอัตตราส่วน กว้าง : ยาว มักมีสัดส่วน 1 : 2 แทบทั้งสิ้น

         นอกจากนี้ จากการตรวจวัดขนาดพื้นที่ กว้าง 2 กิโลเมตร x ยาว 1.7 กิโลเมตร คำนวณได้ว่าชุมชนนี้ มีพื้นที่ 3.4 ตารางกิโลเมตร หรือ เทียบเท่ากับ 2,125 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ใหญ่กว่าเมืองเก่านครราชสีมาถึง 2 เท่า และใหญ่กว่าชุมชนโบราณอื่น ๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น

(ก) กรอบพื้นที่ชุมชนโบราณที่ประเมินจากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2497
(ข) สภาพบ้านเมืองในปัจจุบันของชุมชนในพื้นที่โดยรอบเมืองเก่านครราชสีมา
(ค) สภาพปัจจุบันของ อ่างอัษฎางค์ ที่แปลความว่าเกิดจากการเอ่อนองของมวลน้ำหลากในอดีต

         จากการค้นพบดังกล่าว ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ ให้ความเห็นว่า เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นจากข้อมูล โทรสัมผัส (remote sensing) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อพิสูจน์ทราบความถูกต้องจากการแปลความนี้ อย่างไรก็ตาม หวังว่าผลการแปลความนี้จะช่วยเป็นแนวทางตั้งต้นในการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีในพื้นที่ และเป็นข้อมูลจุดประกายให้พี่น้องชาว จ. นครราชสีมา มีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมา ที่ยิ่งใหญ่และยาวนานในท้องถิ่นของตน

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า