ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งแรกในประเทศไทยเยาวชนกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขัน 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2568

              จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 (The 21st International Geography Olympiad – iGeo 2025) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเยาวชนกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์

              งานแถลงข่าวการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ.กิตติคุณ  นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) กล่าวแนะนำและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงความพร้อมของจุฬาฯ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน รศ.ผ่องศรี จั่นห้าว ประธานคณะกรรมการดำเนินการ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.ชนิตา ดวงยิหวา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าว

              การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 (The 21st International Geography Olympiad – iGeo 2025) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในปี 2568 ผู้ทรงริเริ่มภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับสากล

              ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 หรือ The 21st International Geography Olympiad เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วโลกได้แสดงความสามารถด้านภูมิศาสตร์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวิชาการและวัฒนธรรมกับเพื่อนเยาวชนจากนานาประเทศ โดยมีการจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2539 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยและเยาวชนทั่วโลกตระหนักในความสำคัญของภูมิศาสตร์ในการพัฒนาโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงและ ศักยภาพด้านวิชาการของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในระดับโรงเรียน

              ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ  กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมและโลก มุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นการแสดงศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการแข่งขันระดับนานาชาติ อาทิ หอประชุมจุฬาฯ  ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาฯ และศาลาพระเกี้ยวที่ใช้สำหรับจัดงาน Cultural Night 

              รศ.ผ่องศรี จั่นห้าว ประธานคณะกรรมการวิชาภูมิศาสตร์ มูลนิธิ สอวน.ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของของการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 2555 เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จและทรงกล่าวปาฐกถาที่งาน International Geography Conference ณ มหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิ สอวน. ศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันด้านภูมิศาสตร์ โดยมูลนิธิ สอวน. ได้ระดมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและตำราภูมิศาสตร์โอลิมปิก สำหรับอบรมครูและนักเรียน จนในปี 2558 ได้ส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก ต่อมาได้คัดเลือกผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาชาติ เมื่อปี 2560 มูลนิธิ สอวน. ได้จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกรวม 15 แห่งทั่วประเทศ (7 ศูนย์มหาวิทยาลัยและ 8 ศูนย์โรงเรียน) เพื่อเป็นสนามสอบและค่ายอบรมคัดเลือกผู้แทนไปแข่งขันในระดับนานาชาติ

              ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงให้การสนับสนุนการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียนทั่วประเทศ โดยสพฐ. และได้ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. ตั้งแต่ปี 2558 ในการคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพตั้งเป็นศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาภูมิศาสตร์ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย พร้อมทั้งดำเนินการอบรมครูภูมิศาสตร์ ตามแนวทางหลักสูตรภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการเป็นประจำทุกปี โดยเชื่อมั่นว่าการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีนี้จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจและพัฒนาตนเองในสาขาภูมิศาสตร์มากยิ่งขึ้น

              รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 ซึ่งภาควิชาภูมิศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญของคณะอักษรศาสตร์ โดยภาควิชาภูมิศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. รับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียนที่เป็นศูนย์ฯ ในการอบรมและคัดเลือกผู้แทนศูนย์ไปแข่งขันในระดับชาติ โดยนักเรียนจากศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศเพื่อไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในปี 2566 จำนวน 2 คน และปี 2567 จำนวน 1 คน จากผู้แทนประเทศไทยปีละ 4 คน ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปสู่ระดับนานาชาติ         

              สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ผศ.ดร.ชนิตา ดวงยิหวา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศเป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม 2568 ณ หอประชุมจุฬาฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 50 ประเทศ รูปแบบการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่ การสอบข้อเขียน การสอบภาคสนาม และการสอบมัลติมีเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ ได้แก่ การจัดนิทรรศการโปสเตอร์ของแต่ละประเทศ การทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานธรณีโคราชและแหล่งมรดกโลกศรีเทพ และการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่จังหวัดน่าน

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า