รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
11 มีนาคม 2568
ข่าวเด่น
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดงาน “Asia Forward Series” ครั้งที่ 2 การบรรยายพิเศษว่าด้วยกระบวนทัศน์ต่อเอเชียในอนาคต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “From Corridors to Connectivity: Thailand’s Approach to New Security Dynamics” (จากระเบียงเศรษฐกิจสู่การเชื่อมต่อ: แนวทางของประเทศไทยต่อพลวัตความมั่นคงใหม่)
ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความยินดีที่ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน รวมถึง พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งให้เกียรติเป็นองค์ปาฐก ในโอกาสงาน Asia Forward Series ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นโดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่ง – “From Corridors to Connectivity: Thailand’s Approach to New Security Dynamics” โดยได้กล่าวแสดงความชื่นชมการริเริ่มโครงการ Asia Forward Series ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบปีที่ 40 ของสถาบันฯ ว่าสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตามพันธกิจสำคัญของการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาควิชาการและภาคส่วนต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ในฐานะนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำสังคมเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เท่าทันต่อโลก รวมทั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ส่งผลต่อทุกคนอย่างมีนัยยะสำคัญ ตลอดเส้นทางการทำงานของท่านในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง อาทิ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ท่านเล็งเห็นและตระหนักอย่างลึกซึ่งว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งด้านการทูต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ เป็นปัจจัยพื้นฐานของความมั่นคงและบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก
ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชี้ว่าศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย นั่นหมายถึงภูมิภาคนี้กำลังมีความสำคัญยิ่งต่อโลก ปัจจุบันเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คิดเป็น 59% ของประชากรโลก โดยมีจีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ตามลำดับ อีกทั้งเอเชียยังเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ด้วยนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ประเทศในเอเชียหลายแห่ง โดยเฉพาะจีนนำมาใช้ ได้ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมกันนี้ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า GDP ต่อหัวของประเทศในเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นถึง 4,338% เมื่อเทียบกับปี 2018 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2023 จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ด้วย GDP กว่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อินเดียคาดว่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับสามของโลกภายในปี 2030 ด้วย GDP ที่สูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ มองว่าความเติบโตของเอเชียนั้นมาพร้อมกับความท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความไม่มั่นคงทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งในบางพื้นที่ซึ่งข้อพิพาทด้านพรมแดนเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระดับภูมิภาคท่ามกลางแนวโน้มการดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว และมาตรการกีดกันทางการค้าของบางประเทศ นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าเอเชียจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีอย่างไร เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายฝ่ายเดียวและมาตรการกีดกันทางการค้า ตลอดจนการสร้างสมดุลระหว่างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดย ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ มองว่าแนวทางในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่สำคัญประการหนึ่งคือการเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นโอกาส เอเชียมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งที่สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี และในอีกด้านหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปคือการส่งเสริมความร่วมมือและบทบาทของภาคประชาสังคม การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างโลกที่มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้น และลดความขัดแย้ง
พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด องค์ปาฐก ได้กล่าวขอบคุณจุฬาฯ ที่จัดงานดี ๆ เช่นนี้ ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างฝ่ายความมั่นคงและภาคการศึกษา บรรยากาศในเวที Asia Forward เป็นความสวยงามและอยากให้มีเวทีเช่นนี้ต่อไป คำตอบของคำถามต่าง ๆ ในงานนี้เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นความท้าทายและเป็นทางออกด้วย การบรรยายพิเศษโดย พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มุ่งเน้นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือและความมั่นคงระดับภูมิภาคผ่านแนวคิด “The interior line of connectivity” ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน โดยมีความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ ความท้าทายด้านความมั่นคงที่เกิดจากเทคโนโลยี ความขัดแย้งในภูมิภาค รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ที่ช่วยเชื่อมโยงและประสานงานในระดับภูมิภาค
พลเอกทรงวิทย์ ได้กล่าวถึงการเผชิญหน้ากับพลวัตความมั่นคงเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดใหม่ที่เปลี่ยนจาก “เส้นทาง” ไปสู่ “การเชื่อมโยง” โดยประเทศไทยจะใช้จุดแข็งของตน ได้แก่ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลาง ความเป็นกลางทางการเมือง ความร่วมมือในระดับนานาชาติ และประวัติศาสตร์ของการเคารพกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงโดยมีแนวทางสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค ประกอบด้วย
1. การเชื่อมโยงผ่านกองกำลังป้องกันประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการ “เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง” ผ่านความร่วมมือทางทหาร เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ซึ่งส่งเสริมการฝึกซ้อมและการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านความมั่นคง, การฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในการฝึกทางทหารที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีการเชิญผู้แทนด้านการเมือง สื่อมวลชน นักธุรกิจสายเทคโนโลยี และนักศึกษาในแขนงวิชาที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรก คณะกรรมการชายแดน ที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาชายแดน นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม 2568 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโด-แปซิฟิก” และ “การสัมมนาสงครามไม่ปกติอินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ 2” ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และกระชับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์
2. การเชื่อมโยงผ่านความพยายามของรัฐบาลทั้งหมด ประเทศไทยยึดแนวทาง #TeamThailand โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ การอพยพพลเมืองไทยจากฉนวนกาซา ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานด้านความมั่นคง และประเทศพันธมิตร, การรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย ที่ใช้เครือข่ายความร่วมมือทั้งทางการและไม่เป็นทางการเพื่ออำนวยความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
3. การเชื่อมโยงผ่านกรอบพหุภาคีที่มีอยู่ ซึ่งอาเซียนเป็นกลไกสำคัญของความมั่นคงระดับภูมิภาค และประเทศไทยยังคงสนับสนุน “ศูนย์กลางความมั่นคงที่ยั่งยืน” ผ่านกรอบความร่วมมือของอาเซียน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม
จะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยเป็นผู้เชื่อมโยงแห่งภูมิภาค?
แนวคิด “The interior line of connectivity” นั้น ไม่เพียงช่วยให้ประเทศไทยรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง แต่ยังช่วยสร้างบทบาทของไทยในฐานะผู้เอื้ออำนวยและตัวเร่งปฏิกิริยาของความร่วมมือระดับภูมิภาค พลเอกทรงวิทย์ได้กล่าวปิดท้ายว่า “If you want to go fast, go alone, if you want to go far, go together”
หลังจากจบการบรรยาย มีการจัดเวทีเสวนา ระหว่าง อาจารย์ ตัวแทนนิสิตนักศึกษา และภาคประชาชนในเรื่อง “ความมั่นคงของมนุษย์แบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน” โดยมีการพูดถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกที่กระทบต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ และโอกาสในการมีส่วนร่วมในสังคม และการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายรัฐจากภาคประชาชน รวมถึงข้อสังเกตและคำแนะนำในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่ขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางสังคม
งาน Asia Forward Series ครั้งที่ 2 เป็นกิจกรรมที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จัดขึ้นต่อเนื่องจากงาน Asia Forward Series ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “Thailand-Australia: Opportunities and Challenges in a Volatile World” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะ แลกเปลี่ยนข้อมูล และความรู้ในมิติต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอนาคตของภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งนำเสนอบทบาทและความสำคัญของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ในฐานะแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านเอเชีย โดยมี รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวปิดงาน
ในงานมีการเสวนาเรื่อง “Human Security: The Role of Public Participation in National and Community Resilience” โดยมีคำกล่าวพิเศษสำหรับการเสวนาโดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยการย้ายถิ่น สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับพื้นที่เมืองชายแดน หน่วย บพท. พิชญา โมลเลอร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาเมือง ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย และนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอบทบาทของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประเทศชาติ
รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เปิดเผยว่า งาน Asia Forward Series ที่สถาบันเอเชียศึกษาจัดขึ้นแสดงให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันเอเชียศึกษาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่สำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบทางสังคม โดยมีการบรรยายจากผู้มีบทบาทหลักในการจัดการปัญหาของประเทศ รวมทั้งเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนิสิตจุฬาฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบ่มเพาะผู้นำแห่งอนาคต โดยหวังว่านิสิตจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมต่อไป
รศ.ดร.ภาวิกา กล่าวว่า สถาบันฯ มีแผนจะจัดงาน Asia Forward Series อย่างต่อเนื่อง ซึ่งงาน Asia Forward แต่ละครั้งจะเน้นประเด็นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทุกหัวข้อได้รับการเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับบริบทของเอเชียและประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเชิงนโยบาย ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมโยงและต่อยอดให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
พิธีปิดโครงการพัฒนาวิชาการศิลปะไทย ประจำปี 2568 พัฒนาศักยภาพและเผยแพร่ผลงานนิสิตและคณาจารย์ด้านดนตรีไทย
เอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐเม็กซิโกประจำประเทศไทยเยือนจุฬาฯ สนใจขยายความร่วมมือ กระชับความสัมพันธ์อันดี
จุฬาฯ และ Institute of Science Tokyo หารือความร่วมมือด้านการวิจัยในอนาคต
เชิญร่วมงานเสวนา “Zero Carbon Journey: ความท้าทายของอุตสาหกรรมไทยในบริบทโลกไร้คาร์บอน”
จุฬาฯ จัดงาน “Songkran X Pride Festival 2025” สาดความสุขฉลองเทศกาลสงกรานต์ผสานงาน Pride
จุฬาฯ ผนึก สมช. และกองทัพเรือ ลงนามความร่วมมือจัดตั้ง “องค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย”
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้