ข่าวสารจุฬาฯ

เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 จุฬาฯ ระดมความรู้ข้ามศาสตร์ “ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว” ชวนคิด ชวนถาม เตรียมพร้อมรับมือและฟื้นตัวจากภัยพิบัติ

               เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กลายเป็นบททดสอบครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นตระหนกและตั้งคำถามใหญ่ถึงความพร้อมของเมืองหลวงในการรับมือกับภัยธรรมชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันวิชาการชั้นนำของประเทศ ตระหนักถึงบทบาททางวิชาการและความรู้ข้ามศาสตร์ที่สามารถนำมารับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน จึงจัดงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “จุฬาฯ ระดมคิด ฝ่าวิกฤตแผ่นดินไหว: เราจะรับมือและฟื้นตัวได้อย่างไร?” เมื่อวันอังคารที่ 1 เมษายน 2568 เวลา 10.30 – 12.30 น. ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมเชิญนักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชา ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการรับมือแผ่นดินไหวอย่างรอบด้าน ทั้งมิติของวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม กฎหมาย และการสื่อสารสาธารณะ

               

                ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เน้นย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ว่าไม่ได้เป็นการศึกษาให้ความรู้ในห้องเรียนเท่านั้นแต่เน้นการสร้างคุณภาพชีวิต นำไปใช้ได้จริง “สังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ” การเสวนา Chula the Impact ครั้งนี้นอกจากความรู้ทางด้านวิกฤตแผ่นดินไหวแล้ว จุฬาฯ ยังให้ความรู้ในการจัดการในภาวะวิกฤต หรือ Crisis Management ด้วย แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ทำให้เราตั้งรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงการปรับตัวและจัดการกับวิกฤตแผ่นดินไหวแก่ประชาชน ทุกคนมีหน้าที่ในการจัดการในเรื่องแผ่นดินไหวที่ทันท่วงที นอกจากนี้จะต้องมีการชดเชยและเยียวยา เช่น จัดหาอาหารและที่พักฉุกเฉิน สุดท้ายจะต้องมีจุดศูนย์รวมในการเผยแพร่ข่าว การเสวนาครั้งนี้จะชี้แนะวิธีที่ทำให้เราไม่ตื่นตระหนกเกินไปและสามารถจัดการวิกฤตได้ทันท่วงที

               ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงพื้นฐานของแผ่นดินไหว รวมถึง Aftershock ที่มักเกิดตามมา พร้อมอธิบายความแตกต่างระหว่าง Magnitude กับระดับความรุนแรง ตลอดจนชนิดของแผ่นดินไหวที่อาจก่อให้เกิดสึนามิ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจธรรมชาติของภัยพิบัตินี้อย่างถูกต้อง

“ในทางวิทยาศาสตร์สามารถระบุพื้นที่อ่อนไหวที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งมีหลากหลายวิธีในการประเมิน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อใด หากมีข้อมูลเชิงเวลาของแผ่นดินไหวออกมาสามารถตีความได้ว่าเป็นเท็จทันที ส่วน Aftershock เปรียบเป็นลูกของแผ่นดินไหว เราจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจาก Aftershock บ้าง แต่ไม่เป็นภัย และ Aftershock ที่ตามมาก็จะมีขนาดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราน้อยลงเรื่อย ๆ” ศ.ดร.สันติ ยังกล่าวถึงโอกาสเกิดสึนามิในไทย ว่าสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น และคลื่นที่เกิดในแหล่งน้ำปิด (เช่น สระว่ายน้ำ, คลอง) เป็นปรากฏการณ์ “Seiche” ไม่เป็นอันตรายเท่าสึนามิ

              ศ.ดร.สันติ อธิบายเพิ่มเติมว่า Earthquake Magnitude คือขนาดของแผ่นดินไหว ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากจุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหว ส่วนความรุนแรง (Intensity) คือสิ่งที่แต่ละพื้นที่รู้สึกได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะทางและสภาพพื้นดิน โดยหนึ่งแมกนิจูดอาจจะมีหลายค่าความรุนแรง หลายค่าแรงสั่นสะเทือน นักแผ่นดินไหววิทยาพยายามจะสื่อสารให้มนุษย์เข้าใจผ่านการบอกระดับ โดยระดับความรุนแรงจะมีมาตราแบ่งออกไปแตกต่างตามแต่ละภูมิภาค ทุกอย่างควรเริ่มตั้งแต่การเตรียมพร้อมรับมือก่อนมีภัย ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้ทั่วและไม่ยากเกินความเข้าใจ สิ่งสำคัญคือความสม่ำเสมอ แม้เหตุการณ์ใหญ่จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่การซ้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น ปีละครั้ง ย่อมดีกว่าการตื่นตัวเฉพาะช่วงวิกฤตเท่านั้น ความตระหนักเรื่องการซ้อมหนีภัยต้องยืนระยะให้ได้ นี่คือหัวใจสำคัญของการรับมือกับภัยธรรมชาติ

                ศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย พร้อมระบุถึงตำแหน่งของ “รอยเลื่อนมีพลัง” ที่ยังคงมีศักยภาพในการก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผนเชิงพื้นที่และโครงสร้างเมือง

“รอยเลื่อนสกายเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวในเมียนมา เป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีทั้งหมด 5 แขนง และมีค่าอุบัติซ้ำประมาณ 50, 80, 100 ครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าเกิดที่แขนงไหนของรอยเลื่อน ในอนาคตจะมีการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกแน่ ๆ ตามแนวรอยเลื่อนนี้ แต่ตรงไหนไม่สามารถบอกได้ ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 รอยเลื่อน อ้างอิงจากแผนที่รอยเลื่อนมีพลังที่จัดทำโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งสามารถระบุถึงความอันตรายต่อการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละพื้นที่ตามแนวรอยเลื่อนได้” ศ.ดร.ปัญญากล่าว

               ในด้านวิศวกรรม รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงในเขตกรุงเทพฯ พร้อมแนะแนวทางการสำรวจรอยร้าวเบื้องต้น วิธีประเมินความเสียหายของโครงสร้าง และการพิจารณาว่าอาคารยังสามารถใช้งานได้หรือไม่

รศ.ดร.ฉัตรพันธ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวในปี 2540 และขยายมาถึง กทม. ในปี 2550 โดยใช้มาตรฐาน มยผ.1302 ซึ่งอิงจากมาตรฐานสากลของสหรัฐฯ ทำให้อาคารที่สร้างหลังปี 2550 มีความมั่นใจในการต้านทานแผ่นดินไหวได้ดี ส่วนอาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2550 แม้ไม่ได้ออกแบบโดยตรงเพื่อแผ่นดินไหว แต่ก็มีความสามารถในการรับแรงด้านข้างจากลม ซึ่งช่วยให้สามารถทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 โดยเฉพาะอาคารที่มีความสำคัญต่อภาวะฉุกเฉิน ควรได้รับการประเมินเพิ่มเติม ส่วนรอยร้าวที่พบในผนังอิฐซึ่งไม่ใช่โครงสร้างหลักสามารถซ่อมแซมได้ แต่หากพบรอยร้าวที่เสาหรือคานจนเห็นเหล็กเสริมหรือเหล็กโก่งงอ ควรระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของอาคารในภาพรวม

               ทางด้านกฎหมาย รศ.ดร.อังคณาวดี ปิ่นแก้ว จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสิทธิทางกฎหมายที่ประชาชนควรทราบเมื่อทรัพย์สินเสียหายจากแผ่นดินไหว หรือหากได้รับอันตรายจากสิ่งปลูกสร้างของบุคคลอื่น โดยอธิบายช่องทางการดำเนินการทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อให้สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“เมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนถือเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ ในทางกฎหมายหากความเสียหายเกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัย เราต้องพิจารณาตามพฤติการณ์ โดยเฉพาะกรณีอสังหาริมทรัพย์ ต้องแยกเป็น 2 กรณี คือ หากอาคารปลูกสร้างเสร็จแล้วและมีผู้อยู่อาศัย เจ้าของควรตรวจสอบว่าได้ทำประกันภัยไว้หรือไม่ หรือมีการรับประกันชำรุดบกพร่องจากผู้ขายครอบคลุมหรือไม่ อีกกรณีหนึ่งคืออาคารที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ต้องดูข้อตกลงในสัญญาว่าใครต้องรับผิด หากเป็นสัญญากับหน่วยงานรัฐ ผู้รับจ้างมักต้องรับผิดแม้ในกรณีเหตุสุดวิสัย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง ทั้งนี้หลักฐานทุกอย่างควรจัดเก็บไว้ให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องสิทธิ์ตามกฎหมาย”

               ปิดท้ายงานด้วยการสื่อสารสาธารณะ โดย ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเกิดข่าวปลอม (Fake News) และความสับสนของข้อมูลที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในช่วงเหตุการณ์ พร้อมแนะนำแนวทางในการแยกแยะข้อมูลเท็จ และแหล่งข้อมูลที่ประชาชนควรเชื่อถือในภาวะวิกฤต

              

                งานเสวนานี้ไม่เพียงเป็นเวทีให้ข้อมูลแก่ประชาชน แต่ยังเป็นพื้นที่ของความร่วมมือและการตั้งคำถามเชิงรุก ว่า “เราจะอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน และฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า