ข่าวสารจุฬาฯ

สสส. ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ รณรงค์ World Kidney Day สร้างการรับรู้ เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต

             คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นจาก 9.8 แสนคน เป็น 1.13 ล้านคน เหตุบริโภคเค็ม ใช้ยาไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็น สสส. สานพลังจุฬาฯ สร้างการรับรู้ควบคู่การดูแล เร่งสื่อสารการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต

              เนื่องในวันไตโลก ปี 2568  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าว “World Kidney Day ถ้ารักไต อย่าให้ไตวาย” ภายใต้โครงการการสื่อสารเรื่องการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ยาและส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ยาที่ถูกต้อง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 ที่โรงแรมทริปเปิ้ล วาย

              ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันไตโลก จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นจาก 980,000 คน ในปี 2565 เป็น 1,130,000 คน ในปี 2567 และสถานการณ์โรคไตเรื้อรังปี 2534 – 2564 มีการสูญเสียปีสุขภาวะหรือความสูญเสียด้านสุขภาพเร็วขึ้น 3.14 เท่า รองลงมาคือมะเร็ง 2 เท่า หลอดเลือดหัวใจ 1.8 เท่า สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะอาหารรสเค็ม และการบริโภคยาที่ไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็น การเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ ขณะที่ข้อมูลการสำรวจความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในบุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชน ใน 13 เขตสุขภาพ ปี 2567 ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนมีระดับความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 64.9%

              “สสส. มุ่งส่งเสริมมาตรการเพื่อป้องกันประเด็นที่เกี่ยวกับโรคไต โดยมีแผนอาหารลดเค็ม ลดโรคขับเคลื่อนนโยบายลดโซเดียมให้คนไทยลดบริโภคเค็ม แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบยา ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมงานวิชาการ งานวิจัย และสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้ยาอันตราย รวมถึงการสื่อสารรณรงค์ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ป้องกันการถูกหลอกลวงเรื่องการใช้ยา ซึ่งการพัฒนาการสื่อสารเรื่องการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงโรคไต เพื่อให้คนตระหนักและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาในชีวิตประจำวัน เพราะกลุ่มยาแก้อักเสบ หรือ NSAIDs ยาชุด ยาสมุนไพรบางชนิด อาจมีฤทธิ์หรือคุณสมบัติบางอย่างทำให้ไตทำงานได้ลดลง ซึ่งหากประชาชนทั่วไปหาซื้อและนำมาใช้ด้วยตนเอง โดยขาดความรู้หรือความระมัดระวัง และไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก็จะส่งผลเสียต่อไตได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

              อ.ดร.วรรษยุต คงจันทร์ รองคณบดีด้านบริการวิชาการและเชื่อมโยงสังคม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผลการวิจัยพฤติกรรม ทัศนคติ และการเปิดรับสื่อเกี่ยวกับการบริโภคยากลุ่ม NSAIDs สมุนไพร และอาหารเสริมของกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และผู้ใช้แรงงาน รุ่นอายุ 44-59 ปี หรือ Generation X กลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และใช้ยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำ มักซื้อยาจากร้านขายยาเองเพื่อประหยัดเวลารวมถึงการใช้สมุนไพรเสริม มีพฤติกรรมการใช้ยาชุดตั้งแต่วัยรุ่น แม้จะตระหนักถึงความเสี่ยง กลุ่มพนักงานออฟฟิศมีโรคประจำตัวคล้ายกับกลุ่มแรงงาน แต่ไปพบแพทย์และใช้ยาตามแพทย์สั่งมากกว่า ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากกว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงาน และไม่ใช้ยาชุดเนื่องจากเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพมากกว่า ส่วนการเปิดรับสื่อทั้งสองกลุ่มเน้นรับข้อมูลผ่านสื่อบุคคล เช่น ครอบครัวหรือเพื่อนใกล้ชิด

                  ผศ.ดร.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ หัวหน้าภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงผลการวิจัยกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และผู้ใช้แรงงาน รุ่นอายุ 28-43 ปี หรือ Generation Y กลุ่มผู้ใช้แรงงานเริ่มมีโรคประจำตัว เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ ทำให้ใช้ยากลุ่ม NSAIDs เป็นประจำ และใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรตามคำแนะนำจากคนใกล้ชิด กลุ่มพนักงานออฟฟิศมีการดูแลสุขภาพมากขึ้น ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยการปรึกษาแพทย์ ด้านทัศนคติเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสองกลุ่มมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ยาและสมุนไพรที่มีผลต่อไต แต่ยังใช้ยาและอาหารเสริมตามคำแนะนำจากแพทย์หรือหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ส่วนการเปิดรับสื่อกลุ่มนี้นิยมสื่อออนไลน์ เช่น TikTok, Facebook โดยเฉพาะวีดิทัศน์สั้นจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Influencer สายสุขภาพ

                  ผศ.ดร.ธีรดา กล่าวถึงผลการวิจัยในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 19-27 ปี หรือ Generation Z กลุ่มผู้ใช้แรงงานยังไม่ค่อยมีโรคประจำตัว เน้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกี่ยวกับผิวพรรณและรูปร่าง โดยได้รับข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือคำแนะนำจากเพื่อน กลุ่มพนักงานออฟฟิศคล้ายกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่จะไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหนักขึ้น ด้านทัศนคติเกี่ยวกับสุขภาพ ครอบครัวและคนใกล้ชิดมีผลต่อการตัดสินใจ โดยกลุ่มนี้มีความระมัดระวังในการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ส่วนการเปิดรับสื่อจะเน้นการรับสื่อออนไลน์ เช่น TikTok โดยเชื่อถือข้อมูลจากแพทย์หรือ Influencer ที่มีความน่าเชื่อถือในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพ จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างการตระหนักรู้พร้อมกับการส่งเสริมความรู้ ให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกรุ่นเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมสุขภาวะคนในประเทศให้มีสุขภาพที่ดี และลดค่าใช้จ่ายของประเทศ หากประชาชนทั่วไปต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สายด่วน 1556

              นอกจากนี้ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ยังได้ร่วมแบ่งบันความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของภาวะผู้ป่วยโรคไต และสาเหตุหลักของโรคไตในปัจจุบัน รวมถึง ผลกระทบของการใช้ยาโดยไม่ปรึกษาเภสัชกร พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการจ่ายยาให้ปลอดภัยต่อไต ทั้งนี้ยังมีการแบ่งบันประสบการณ์ตรงจากคุณคริสโตเฟอร์ ไรท์ ครูสอนภาษาอังกฤษรายการ Click ช่อง Mahidol Channel นักพูด และวิทยากรชื่อดัง ได้เล่าประสบการณ์ตรงจากใจผู้บริโภคและคุณพ่อที่ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ยาให้กับลูกชายที่มีปัญหาจากโรคไต

              ช่องทางการติดตาม

Facebook Page: กินยาสมเหตุ หายโรคสมผล ทุกคนสมใจ

TikTok: @pillproperly

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า