ข่าวสารจุฬาฯ

แนวทางการสอนและต้นแบบบทเรียนออนไลน์รู้เท่าทันชีวิตดิจิทัล

หน่วยวิจัยฯ DIRU นิเทศ จุฬาฯ เสนอแนวทางการสอนความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้เท่าทันสื่อ เน้นความรู้ เข้าใจ วิเคราะห์ และฝึกทักษะชีวิตให้สามารถใช้สื่อดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์ เรียนรู้ผ่านประเด็นปัญหา กรณีศึกษา จากเหตุการณ์จริง และจำลองเหตุการณ์ โดยให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ วิพากษ์ เรียนรู้ และตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างปลอดภัย และได้จัดทำต้นแบบบทเรียนออนไลน์เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.thaidigitalyouth.net


รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากงานวิจัยสำรวจการใช้งานสื่อออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษาพบว่า นักเรียนใช้สื่อออนไลน์ทั้งในด้าน    การเรียน ความบันเทิง การรวมกลุ่ม และแสดงออกถึงความเป็นตัวตน โดยกิจกรรมออนไลน์ที่นักเรียนทำบ่อยๆ ได้แก่ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ หาข้อมูลประกอบการเรียน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ติดตามดาราที่ชื่นชอบ ใช้สร้างกลุ่มบนไลน์ เฟซบุ๊ก ติดตามข่าวสาร และ ใช้โพสต์รูปภาพ เรื่องราว หรือเข้ากลุ่มสนทนา หรือสมัครสมาชิกเว็บไซต์ หรือติดตามเพจต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของตนเอง ในภาพรวมเด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เข้าไปดูหรืออ่านเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงอันตราย อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างส่วนน้อย (ร้อยละ 4) ที่ระบุว่าตนเองเคยเข้าถึงเนื้อหาด้านเพศ เกมรุนแรง การพนัน และเคยแสดงออกด้วยความรุนแรงอยู่บ่อยๆ และมีจำนวนร้อยละ 23 ระบุว่าคุยกับคนแปลกหน้าบนออนไลน์บ่อยๆ ผลการวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนมีโอกาสพบเจอความเสี่ยงจากการใช้งานสื่อออนไลน์ได้ แม้ตัวเลขอาจจะดูเล็กน้อย แต่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง และเสริมสร้างให้มีความรอบรู้และรู้ทันเพื่อสามารถเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

รศ.ดร.พนม กล่าวว่า “การสอนเรื่องความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้ทันสื่อเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ช่วยลดและป้องกันความเสี่ยงอันตรายจากการใช้งานสื่อออนไลน์ สิ่งท้าทายคือ จะสอนกันอย่างไรถึงจะสร้างทักษะชีวิตให้กับนักเรียนได้จริง จึงได้มีการศึกษาถึงแนวทางการสอนเรื่องนี้ ผลวิจัยชี้แนะว่า การสอนต้องเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนที่มุ่งสร้างความคิดเชิงวิเคราะห์ ฝึกทักษะและพฤติกรรมที่นักเรียนสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และสอนให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ได้ ไม่ควรเน้นท่องจำ ในด้านเนื้อหาการสอนจะต้องเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงหรือเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน  ของนักเรียน โดยต้องเข้าใจด้วยว่าเหตุการณ์ที่นักเรียนแต่ละวัยพบเจอนั้นไม่เหมือนกันทุกเรื่อง นักเรียน ม.ต้น และ ม.ปลาย มีการใช้สื่อออนไลน์แตกต่างกันตามช่วงวัยและประสบการณ์  ดังนั้นเนื้อหาการสอนควร แตกต่างกันตามเหตุการณ์ในแต่ละช่วงวัยของผู้เรียน สำหรับการออกแบบกิจกรรมการสอนควรใช้แนวทาง การเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้ด้วยการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Approach) ร่วมกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ตนเอง (Constructivist Approach) โดยสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลาย ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านการตั้งคำถาม ประเด็นปัญหา (Problem-based Learning) ใช้กรณีศึกษา (Case Study) จากเหตุการณ์จริง และจำลองเหตุการณ์ โดยให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ วิพากษ์ เรียนรู้ และตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างอย่างปลอดภัยและใช้ประโยชน์ได้ และยังสามารถใช้การเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (Project-based Learning)  และออกแบบกิจการการเรียนรู้ที่สนุก มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ผลการวิจัยยังบ่งชี้ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ครูมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในความสำเร็จของการเรียนรู้ บทบาทของครู ซึ่งงานวิจัยชี้แนะว่า ครูสามารถเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็นโค้ช หรือผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน โดยครูจะกระตุ้นการเรียนรู้ กำกับการเรียนรู้ ให้คำแนะนำวิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างปลอดภัย ชวนผู้เรียนคิด วิเคราะห์ เพิ่มเติมมุมมองและประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน”


ส่วนหนึ่งของแนวทางการสอนดังกล่าวได้นำมาพัฒนาเป็นต้นแบบบทเรียนออนไลน์ ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองบนเว็บไซต์ และครูสามารถใช้ประกอบการเรียนในห้องเรียนได้ รศ.ดร.พนม  ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “เราได้เผยแพร่ต้นแบบบทเรียนออนไลน์จากผลการวิจัย ทางเว็บไซต์ www.thaidigitalyouth.net  ครูสามารถใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน โดยไม่จำเป็นต้องบรรยายเนื้อหา แต่มอบหมายให้นักเรียนเข้าไปเรียนด้วยตนเองจากต้นแบบบทเรียนบนเว็บไซต์ก่อนถึงคาบเรียน แล้วใช้เวลาในคาบเรียนแลกเปลี่ยนความเห็น อภิปราย ชวนคิดวิเคราะห์และให้คำแนะนำ ตามแนวทางการสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) นอกจากนี้ผู้ปกครองสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนเสริมการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลานของตนเองได้ ต้นแบบบทเรียนที่เผยแพร่มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การใช้ชีวิตอย่างไรในโลกความจริงและโลกเสมือนออนไลน์  2.เรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและอันตรายบนออนไลน์  3.เพิ่มทักษะการใช้สื่อออนไลน์ให้ประโยชน์ ต่อตนเองและสังคม และ 4.เสริมสร้างสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลบนออนไลน์ ท้ายบทเรียนยังมีคำถามเพื่อทดสอบผู้เรียนอีกด้วย และบนเว็บไซต์ยังมีเอกสารบทเรียนที่ครูและผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไปปรับใช้สอนได้”


งานวิจัยได้เสนออีกว่า โครงสร้างเนื้อหาสำหรับสอนให้นักเรียนมัธยมมีความรอบรู้ทางดิจิทัลและรู้ทันเท่าสื่อประกอบด้วย 5 กลุ่มสาระ และในแต่ละกลุ่มสาระมีวิธีการสอน ดังต่อไปนี้

สาระที่ 1 : การเข้าถึง การใช้งาน และการอ่านสื่อดิจิทัล โดยวิธีการสอนเน้นการอภิปรายระหว่างครูกับนักเรียนโดยใช้กรณีศึกษา

สาระที่ 2 : ความรู้พื้นฐานสู่การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ด้านองค์กรสื่อดิจิทัล กฎหมาย การแยกแยะประเภทเนื้อหา พฤติกรรมการเสพติดสื่อดิจิทัล โอกาสที่นำไปสู่ความเสี่ยงอันตราย โดยวิธีการสอนเน้นการคิด ประเมิน และวิพากษ์ความถูกต้อง ใช้เหตุการณ์ที่ใกล้ชิดกับนักเรียนมาวิเคราะห์ โดยมีครูเป็นผู้ช่วยในการเรียนรู้ ให้คำแนะนำ หรือโค้ช (Coach)

สาระที่ 3 : รู้เท่าทันชีวิตดิจิทัล และใช้อย่างปลอดภัย ได้ประโยชน์ เน้นการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning) การสอนแบบประเด็นศึกษา (Issue-based Learning)

สาระที่ 4 : สร้างสรรค์สื่อดิจิทัลเพื่อชีวิตและสังคมที่ดี เป็นการออกแบบ ผลิตสร้างสรรค์สื่อดิจิทัล รวมทั้งเทคนิควิธีการแทรกแซงของธุรกิจและเจ้าของสื่อในขั้นตอนการผลิต ใช้วิธีการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning)

สาระที่ 5 : เรียนรู้อยู่เสมอเพื่อการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นการคาดการณ์ การเปลี่ยนแปลงสื่อดิจิทัลในอนาคต และการเตรียมตนเองให้พร้อมเพื่อดำเนินชีวิตอย่างรู้ทันสื่อดิจิทัล ใช้วิธีการสอนแบบการสืบค้นข้อมูล การวาดภาพ บทบาทสมมติ

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ  DIRU ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยในสังกัด คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ ได้รับการสนับสนุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งสร้างงานวิจัยและเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยสู่สังคมเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา การเรียนการสอนและการวิจัยด้านการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ส่งเสริมศักยภาพคนไทยที่รอบรู้ทางดิจิทัลและรู้ทันสื่อ รองรับสังคมยุคดิจิทัลในปัจจุบันและอนาคต

 

สามารถดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัยและต้นแบบบทเรียนได้ที่ www.thaidigitalyouth.net

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า