ข่าวสารจุฬาฯ

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ค้นพบหลักฐานใหม่ในถ้ำกระบี่ บ่งชี้การกระจายตัวของ “ไฮยีนา” ทางภาคใต้ของไทยเมื่อสองแสนปีก่อน

            อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับชมรมคนรักถ้ำกระบี่ สำรวจพบไฮยีนาและซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ในถ้ำที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหลักฐานใหม่ที่ชี้ชัดว่าไฮยีนาในประเทศไทยมีการกระจายตัวจนถึงภาคใต้ของไทย ชี้การค้นพบครั้งนี้เป็นประโยชน์ในการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสรรพสัตว์เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์
อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา

            รศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักบรรพชีวินวิทยาผู้บุกเบิกการศึกษาซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ในถ้ำทางภาคใต้ เผยถึงจุดเริ่มต้นในการสำรวจซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ในถ้ำที่จังหวัดกระบี่ว่าเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 จากการที่ชาวบ้านแจ้งว่ามีการพบกระดูกแรดฝังอยู่ในผนังถ้ำยายรวก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ จึงได้รับการประสานงานจากกรมทรัพยากรธรณีในการลงพื้นที่สำรวจถ้ำดังกล่าวร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งพบว่านอกจากกระดูกแรดแล้ว ในถ้ำยังขุดพบไฮยีนาลายจุดซึ่งเป็นสัตว์ในยุคน้ำแข็ง หรือเมื่อประมาณ 200,000 ถึง 80,000 ปีก่อน ปัจจุบันมีอยู่เฉพาะในทวีปแอฟริกา นับเป็นหลักฐานใหม่ในการพบไฮยีนาที่มีการกระจายตัวถึงภาคใต้ของประเทศไทย จากหลักฐานเดิมที่เคยมีบันทึกว่าพบซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีนาที่จังหวัดชัยภูมิ

ซากฟันของไฮยีนา

            การสำรวจซากดึกดำบรรพ์ในถ้ำทางภาคใต้ในครั้งนี้ รศ.ดร.กันตภณ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานกองทุน ววน. (Fundamental Fund) จากจุฬาฯ ทุนพัฒนาอัจฉริยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์จากกรมทรัพยากรธรณี โดยร่วมมือกับชมรมคนรักถ้ำกระบี่ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ และขออนุญาตกรมป่าไม้ในการสำรวจถ้ำ สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำยายรวกมีทั้งไฮยีนาลายจุด กวางป่า เม่นใหญ่แผงคอยาว จากการส่งผงเคลือบฟันของไฮยีนาและสัตว์อื่น ๆ ไปตรวจวิเคราะห์หาสัดส่วนคาร์บอนไอโซโทปในประเทศเยอรมนีพบว่าไฮยีนาน่าจะกินกวางเป็นอาหาร และอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้าผลลัพธ์เบื้องต้นจากการหาอายุของฟันสัตว์ในถ้ำยายรวกโดยตรงด้วยวิธีด้วยการสั่นพ้องของสปินอิเล็กตรอน (ESR) ควบคู่กับวิธีอนุกรมยูเรเนียม (U-series) ในประเทศสเปน พบว่าไฮยีนาที่เจอมีอายุประมาณ 2 แสนปี

            รศ.ดร.กันตภณ กล่าวต่อไปว่า หลักฐานการค้นพบไฮยีนาที่ถ้ำกระดูก อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยการแจ้งพบจากชาวบ้านในพื้นที่และทีมนักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีได้เข้าไปสำรวจเบื้องต้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 นั้นช่วยยืนยันการมีอยู่ของไฮยีนาลายจุดทางภาคใต้ของไทย นอกจากนั้นจากการแจ้งพบครั้งล่าสุดของทีมชมรมคนรักถ้ำกระบี่ที่ถ้ำเขาโต๊ะหลวง อ.เมือง ต.ช่องพลี จ.กระบี่ ผลการตรวจสอบเบื้องต้นได้พบซากฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์จำนวนมากในผนังถ้ำ ได้แก่ ไฮยีนาลายจุด อุรังอุตัง แรดชวา กวางป่า เม่น หมูป่า วัว การค้นพบสัตว์โบราณในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าที่จังหวัดกระบี่ในอดีตเคยมีไฮยีนาอาศัยร่วมกับอุรังอุตังซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปแล้ว การค้นพบไฮยีนาลายจุดในพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าสัตว์ชนิดนี้เคยกระจายตัวลงมาทางตอนใต้สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            รศ.ดร.กันตภณ ได้เล่าย้อนไปยังยุคน้ำแข็งว่าในเวลานั้นระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบัน พื้นที่อ่าวไทยจึงโผล่กลายเป็นพื้นดิน บริเวณจังหวัดกระบี่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ไฮยีนาสูญพันธุ์อาจจะเนื่องมาจากการที่ทุ่งหญ้าสะวันนาหายไป สัตว์ที่ปรับตัวได้จะเข้าไปอาศัยในป่า เช่น กวางป่า กระทิง วัวแดง  ต่อมาเมื่อประมาณ 1 หมื่นปีที่แล้ว อากาศร้อนขึ้น ทำให้ป่าฝนเข้ามาแทนที่ เมื่อมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยและรุกรานพื้นที่อาศัยเดิมของสัตว์ป่า สัตว์ต่าง ๆ จึงถูกไล่ให้ไปอยู่ในบริเวณที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าหลงเหลืออยู่ เช่น บริเวณเขตอุทยาน การค้นพบสัตว์ในยุคน้ำแข็งที่ถ้ำในจังหวัดกระบี่ทำให้เรารู้ว่าสัตว์เหล่านี้เคยใช้ชีวิตอาศัยอยู่อย่างไร และมีการปรับตัวในการใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นอาศัยที่ไม่เหมือนเดิมจากการที่มนุษย์เข้ามามีอิทธิพล  ดังนั้นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลคือคำตอบที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูถิ่นอาศัยของสัตว์ในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสัตว์เหล่านั้น

            โดยงานวิจัยล่าสุดของ รศ.ดร.กันตภณ ร่วมกับนักวิจัยจากเยอรมนี ได้ทำการวิเคราะห์สัดส่วนธาตุคาร์บอนไอโซโทปในเคลือบฟันของสัตว์ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เช่น กวางป่า ละองละมั่ง เก้ง เนื้อทราย กระทิง วัวแดง และควายป่า และเปรียบเทียบกับค่าไอโซโทปของสัตว์ป่าเหล่านี้กับฟอสซิลของพวกมันในยุคน้ำแข็งที่เคยมีการค้นพบมาก่อนหน้า ผลการศึกษาทำให้ทราบว่าประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกรุกรานในปัจจุบันมีการปรับตัวมาอย่างไรตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและการรุกรานของมนุษย์อาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้ลดลง จึงนำไปสู่การนำเสนอวิธีการฟื้นฟูถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของประชากรสัตว์ป่าที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

            “การค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ในถ้ำทางภาคใต้จนนำไปสู่การหาหลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับฟอสซิล เป็นความท้าทายของนักบรรพชีวินวิทยาซึ่งเกิดจากการออกเดินทางไปสำรวจในพื้นที่ ทำให้รู้ว่าหน้าที่ของนักบรรพชีวินวิทยาคืออะไร และการค้นพบนี้มีประโยชน์กับโลกอย่างไร การศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตผ่านซากดึกดำบรรพ์ ช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกในระยะยาว และสามารถเรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างเข้าใจ” รศ.ดร.กันตภณ กล่าวทิ้งท้าย

เอกสารอ้างอิง

Shaikh, S., Bocherens, H., and Suraprasit, K. (2025). Stable isotope ecology of Quaternary cervid and bovid species in Southeast Asia with implications for wildlife conservation. Scientific Reports, 15: 3939.

Suraprasit, K., Jongautchariyakul, S., Yamee, C., Pothichaiya, C., and Bocherens, H. (2019). New fossil and isotope evidence for the Pleistocene zoogeographic transition and hypothesized savanna corridor in peninsular Thailand. Quaternary Science Reviews, 221: 105861.

Suraprasit, K., Yamee, C., Chaimanee, Y., Jaeger, J.-J., and Bocherens, H. (2025). The Pleistocene grassland-dominated mammal fauna from Tham Kra Duk (Nakhon Si Thammarat, Peninsular Thailand). Historical Biology, 37(1): 7-19.

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า