ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ ผนึก สมช. และกองทัพเรือ ลงนามความร่วมมือจัดตั้ง “องค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองทัพเรือ (ทร.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย “การจัดตั้งและขับเคลื่อนองค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย” เพื่อวางรากฐานในการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ทางทะเลระดับประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568  ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยมี พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงาน จากนั้นผู้แทนจากทั้งสามหน่วยงาน ได้แก่ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามความร่วมมือร่วมกัน

ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้ง “องค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย” ให้เป็นศูนย์กลางการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการให้คำปรึกษาเชิงนโยบายด้านทะเลของประเทศ รวมถึงเป็นคลังสมองทางทะเล (Maritime Think Tank) ที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคีจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ทางทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 
สำหรับการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบหมายให้สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ โดยจะจัดตั้งสำนักงานกลางขององค์กรฯ ที่สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจหลักในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสังคม จุฬาฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ประเทศไทย ทะเลไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการประมง การขนส่งทางเรือ พลังงาน การท่องเที่ยว ตลอดจนระบบนิเวศทางทะเล การมีฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นระบบ ทันสมัย และสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จุฬาฯ มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายวิชาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติในด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางทะเลให้เติบโตควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล

ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ กล่าวถึงความโดดเด่นของโครงการนี้ว่าอยู่ที่การบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์ โดยเฉพาะบุคลากรของจุฬาฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านทรัพยากรทางทะเล กฎหมาย การปกครอง การบริหารจัดการ และระบบนิเวศ รวมถึงองค์ความรู้เชิงนโยบายและการวิจัยขั้นสูง การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จุฬาฯ รวบรวมพลังของนักวิชาการและบุคลากรหลากหลายภาคส่วน เพื่อร่วมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างเป็นระบบ พร้อมขยายความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและภาควิชาการ เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายระดับชาติ การจัดตั้ง “องค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทย” มีสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบงานวิชาการและการดำเนินงานร่วมกับคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ ทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายภายนอก ได้แก่ กองทัพเรือ หน่วยงานด้านการวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่เพียงมุ่งเป้าไปที่การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล แต่ยังเน้นการวางรากฐานเพื่อสร้าง “ระบบนิเวศความรู้” และกลไกนโยบายที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทะเลของประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยว่าความมั่นคงทางทะเลเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกรับรองในแผนแม่บทระดับชาติ โดย สมช. ได้จัดทำ “แผนความมั่นคงทางทะเล” เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องมือในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความมั่นคงทางทะเลเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้หลายด้าน ทั้งกฎหมายทางทะเล การจัดการทรัพยากรทางทะเล การประเมินสถานการณ์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรายังขาดแคลน นอกจากนี้ทะเลไทยยังเป็นพื้นที่สำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ จึงจำเป็นต้องศึกษาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการกำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้อย่างรัดกุมและครอบคลุม ทั้งนี้หากมีการจัดตั้งกลไกที่ครอบคลุม มีข้อมูลที่ถูกต้อง และเครื่องมือที่เหมาะสม ทั้งในเชิงเทคนิคและกฎหมาย จะทำให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้สูงสุด ซีงจะทำให้สามารถบริหารจัดการปัญหาได้อย่างรอบคอบ และขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดผลได้จริง นำไปสู่การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเต็มศักยภาพ

พล.ร.ต.จุมพล นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งและขับเคลื่อนองค์กรจัดการความรู้ทางทะเลของประเทศไทยในครั้งนี้เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่ความมั่นคงทางทะเลที่นับวันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต้องการการบูรณาการและกลไกการร่วมมือในเรื่องสมุทราภิบาล การที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจำเป็นต้องมีการจัดการองค์ความรู้ทางด้านทะเลมากขึ้น ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันหลักที่มีมิติการศึกษาทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล จึงเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หลักที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สอดคล้องกับวิทยาการการศึกษาในการจัดการผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งองค์ความรู้ในเรื่องนี้จะทำให้เกิดการแสวงหาและใช้ประโยชน์ ตลอดจนสร้างสมดุล ส่งต่อความมั่นคงยั่งยืนแก่ประชาชนชาวไทยในอนาคต

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า