ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ ร่วมกับ 6 ชุมชนบางขุนเทียน จัด “เทศกาลฟาร์มทะเลกรุงเทพ” ต้นแบบกิจกรรมพัฒนาชุมชน สู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

“บางขุนเทียน” เป็นเขตเดียวของกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ติดทะเล ชื่อเสียงของพื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแหล่งรวมร้านอาหารอร่อย บรรยากาศดีที่เรียงรายตลอดสองข้างทาง อย่างไรก็ตาม บางขุนเทียนยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฟาร์มทะเล และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งมีความโดดเด่นไม่แพ้ที่ไหน 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับชุมชนประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางขุนเทียน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เทศกาลฟาร์มทะเลกรุงเทพ” เมื่อวันที่ 4 – 6 เมษายน 2568 ณ บริเวณสะพานรักษ์ทะเล คลองพิทยาลงกรณ์  ซึ่งเป็นต้นแบบในการนำผลการวิจัยด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาพื้นที่จริงและการเรียนรู้ของนิสิตผ่าน Living Lab เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างความเข้าใจอันลึกซึ้งในภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันของนักวิจัย นิสิต และชุมชน

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบความร่วมมือ “Learning City” และ “Livable City” (เมืองน่าอยู่) โดยมีหน่วยงานร่วมจัดงาน ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน ที่ร่วมสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้และการลงพื้นที่จริง

รศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เทศกาลฟาร์มทะเลกรุงเทพ” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นด้วยแนวคิดการจัดงานที่ต้องการให้ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างแท้จริง โดยเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากฟาร์มทะเล เช่น หอยแครง กุ้ง ปลา มาเป็นเมนูอาหารสร้างสรรค์ พร้อมเชิญเชฟและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชื่อดังมาร่วมคิดค้นเมนูร่วมกับชุมชน เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างศาสตร์สมัยใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างลงตัว 

เทศกาล “ฟาร์มทะเลกรุงเทพ” ที่บางขุนเทียนซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีส่วนร่วมในงานนี้ในหลายบทบาท โดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาผังเมือง การออกแบบนิเทศศิลป์ และสถาปัตยกรรมไทย ร่วมกับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยนักวิจัย คิดและออกแบบกิจกรรมร่วมกับ 6 ชุมชนบางขุนเทียน  โดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกแบบเทศกาล ออกแบบศาลาท่าน้ำเพื่อรองรับการท่องเที่ยว รวมทั้งออกแบบวางแผนการท่องเที่ยวชุมชนโดยกระบวนการทั้งหมดถูกออกแบบให้เป็น “Living Lab” หรือห้องเรียนมีชีวิตที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้จากของจริงทั้งในเชิงวิชาการและปฏิบัติการ

รศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่าเบื้องหลังความสำเร็จของงานเกิดจากการวางแผนเตรียมงานเป็นอย่างดี ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่การทำความเข้าใจพื้นที่ การกำหนดโจทย์ร่วมกับชุมชน การเตรียมกิจกรรม และการจัดงานเทศกาล โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้คือชุมชนเริ่มมีความเข้าใจและเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวโดยไม่ละเลยสิ่งแวดล้อม

เทศกาลนี้ช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ของชุมชนหันกลับมาสนใจฟาร์มทะเลของครอบครัว พร้อมร่วมกันคิดค้นวิธีใหม่ ๆ ในการแปรรูปสินค้าและบริการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะจากอาหารทะเล และการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งเป็นโอกาสที่นิสิตได้นำองค์ความรู้จากห้องเรียนมาใช้จริงในงานครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ผ่าน Living Lab ถือเป็น Best Practice ที่สะท้อนถึงการผสานงานวิจัยและการเรียนการสอน โดยนิสิตได้เรียนรู้ทั้งด้านการสื่อสาร การประเมินผลกระทบทางสังคม และการวางแผนโครงการอย่างครบวงจร ซึ่งช่วยเสริมสร้างทั้งทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต

“เราไม่ได้มองว่าเทศกาลคือผลลัพธ์ แต่กิจกรรมนี้คือเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชน Living Lab คือห้องเรียนที่มีชีวิตที่นิสิตได้เรียนรู้จากโจทย์จริง และชุมชนได้พัฒนาไปพร้อมกับการเรียนรู้ของนิสิต การสอนตามตำราอาจหาที่ไหนก็ได้ แต่การแก้ปัญหาจริงกับชุมชนคือหัวใจของการศึกษายุคใหม่” รศ.ดร.ปริญญ์ กล่าว 

แม้จะเป็นปีแรกของการจัดงาน แต่ผลตอบรับจากชุมชนและผู้เข้าร่วมเทศกาล “ฟาร์มทะเลกรุงเทพ” เป็นไปในทางบวก ชาวบ้านแสดงความสนใจที่จะจัดงานต่อเนื่องในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถจัดกิจกรรมได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการกำลังพัฒนาแนวทางการสร้างแพลตฟอร์มกลาง เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตและนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้นในอนาคต

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า