ข่าวสารจุฬาฯ

บทปาฐกถาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส และ คำกล่าวต้อนรับในโอกาสเสด็จเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระสมณดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส

ในการพบปะผู้นำศาสนาคริสต์ต่างนิกาย และผู้นำศาสนาต่างๆ

ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร

วันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๑๙

พระคาร์ดินัล, บิชอป, ผู้นำศาสนาต่างๆ ท่านนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนประชาคมมหาวิทยาลัย และมิตรสหายที่รักทุกท่าน

ขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น  ขอขอบคุณบิชอปยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์และศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ สำหรับคำกล่าวต้อนรับ ขอขอบคุณสำหรับคำเชิญให้มาเยี่ยมเยือน ณ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ มาเยี่ยมเยือนคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงท่านผู้ทรงเกียรติ  ขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ให้ข้าพเจ้าได้พบกับผู้นำคริสตชนนิกายต่างๆ และผู้นำศาสนาสำคัญอื่นๆ ที่ให้เกียรติมาพบปะกันในวันนี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน ณ สถานที่นี้ และขอแสดงความชื่นชมมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาที่ทุกท่านร่วมสืบทอดและได้สัมผัส

เมื่อ 122 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ.1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระนามของพระองค์เป็นที่มาของชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงโรม และพระองค์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีประมุขของรัฐที่ไม่ใช่คริสตศาสนิกชนเยือนนครรัฐวาติกัน การระลึกถึงวาระที่สำคัญดังกล่าวรวมถึงทั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีคุณูปการอย่างเหลือล้นรวมถึงการเลิกทาสทำให้เราได้ย้อนคิด และกระตุ้นให้เรามุ่งมั่นดำเนินการตามแนวทางของการสานเสวนาและการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และสิ่งนี้ควรดำเนินการต่อไปอย่างจริงจังด้วยสำนึกแห่งภราดรภาพอันจะช่วยยุติภาวะการเป็นทาสที่ยังคงมีอยู่มากมายหลายรูปแบบในยุคปัจจุบัน เช่นที่พบอยู่ในกรณีปัญหาการค้ามนุษย์

ความจำเป็นในการยอมรับและเห็นคุณค่าของกันและกัน รวมถึงความร่วมมือระหว่างศาสนาต่างๆ เป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อมนุษยชาติในปัจจุบัน โลกทุกวันนี้เผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนเช่นโลกาภิวัตน์   ทางเศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบที่รุนแรงต่อการพัฒนาของสังคมท้องถิ่น ความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วซึ่งดูเหมือนจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นนั้นมาพร้อมกับความขัดแย้งทางสังคมที่แก้ปัญหาไม่ตก  รวมทั้งปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน   ผู้ลี้ภัย ความหิวโหย สงคราม รวมถึงภาวะเสื่อมโทรม ที่กำลังทำลายโลกที่เป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราทุกคน    ภาวะการณ์เหล่านี้กระตุ้นเตือนเราว่าไม่มีภูมิภาคหรือภาคส่วนใดของมนุษยชาติที่จะคิดหรือดำเนินไปได้โดยไม่ข้องเกี่ยว  หรือไม่ได้รับผลกระทบจากภูมิภาคหรือภาคส่วนอื่น  ในขณะเดียวกันภาวะการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องลองค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างประวัติศาสตร์ปัจจุบันโดยไม่จำเป็นต้องตำหนิหรือกล่าวโทษใคร   วิธีคิดแบบแยกส่วนเป็นเอกเทศที่ไม่ใช่องค์รวมในการมองภาพเวลา  พื้นที่ หรือมิติอื่นซึ่งเคยนำมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้นั้นล้าสมัยไปแล้ว   ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องกล้าจินตนาการถึงวิธีคิดใหม่ที่ต้องการหันหน้าเข้าหากัน และการสานเสวนาหารือกันควรเป็นแนวทางที่ควรเดิน การทำงานร่วมกันควรเป็นแนวทางปฏิบัติ และการทำความรู้จักซึ่งกันและกันเป็นวิธีการและหลักเกณฑ์ โดยเสนอกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจกันระหว่างผู้คนและปกปักษ์รักษาสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าในด้านนี้ สถาบันศาสนารวมถึงสถาบันการศึกษาทุกระดับ มหาวิทยาลัยสามารถมีส่วนร่วมและช่วยได้โดยไม่ต้องละทิ้งพันธกิจหลัก และความเชี่ยวชาญเฉพาะตนไป ทุกสิ่งที่เราทำเพื่อการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการรับประกันสิทธิในอนาคตของอนุชนรุ่นหลัง ทั้งยังเป็นการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพ นี่เป็นวิธีเดียวที่เราจะเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาเป็นผู้สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ยุคสมัยนี้ เราต้องสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งที่ยึดหลักการให้เกียรติและการเคารพศักดิ์ศรีของบุคคลในการส่งเสริมมนุษยนิยมแบบบูรณาการ (humanismo integral) ที่เห็นความสำคัญและสามารถเรียกร้องให้ปกป้องแผ่นดินโลกซึ่งเป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราทุกคนในการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบโดยรักษาความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต    ศาสนาสำคัญๆ ของโลกของเราเป็นหลักฐานแสดงถึงมรดกทางจิตวิญญาณอันสูงส่งกว่าสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา ที่มีร่วมกันในหลายลัทธิความเชื่อ ซึ่งสามารถเป็นหลักที่มั่นคงในเรื่องนี้ได้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้หากเรากล้าทดลองโดยปราศจากความกลัวที่จะมาพบปะกัน

พวกเราทุกคนได้รับกระแสเรียก ไม่ใช่เพียงให้สนใจเสียงร้องของคนยากจนที่อยู่รอบตัวเรา เช่น คนที่อยู่ชายขอบสังคม  คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง กลุ่มชนชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา แต่ยังมีเสียงเรียกโดยไม่ต้องกลัวที่จะสร้างพื้นที่สำหรับการพบปะกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งก็มีการริเริ่มดำเนินการกันมาบ้างแล้ว ในขณะเดียวกัน ยังมีการขอให้เรายอมรับความจำเป็นในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพสิทธิด้านมโนสำนึกและเสรีภาพทางศาสนาและสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยความมั่นใจว่า “ไม่ใช่ทุกอย่างจะเสียหายไปทั้งหมด เพราะมนุษย์ซึ่งอาจตกต่ำได้ถึงขีดสุด ก็สามารถพัฒนาตนเอง กลับสู่หนทางที่ถูกต้องและเจริญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  และต้องเอาชนะอุปสรรคทางจิตใจและสังคมทั้งปวงที่อยู่รอบด้านได้” (พระสมณสาส์นเวียนชื่อ Laudato Si’, ข้อ 205)

ในผืนแผ่นดินไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความงดงามทางธรรมชาติ ข้าพเจ้าอยากจะเน้นลักษณะเด่น ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าสำคัญยิ่ง และเป็นหนึ่งในความอุดมสมบูรณ์ที่มีศักยภาพในการ “ส่งออก” และแบ่งปันให้ภูมิภาคอื่นๆซึ่งเป็นครอบครัวมนุษยชาติของเราได้   พวกท่านชาวไทยให้ความสำคัญและดูแลผู้สูงอายุ ให้เกียรติและเคารพยกย่องผู้สูงวัย  ซึ่งทำให้ท่านเป็นรากแก้วเพื่อให้ชนชาติของท่านไม่เหี่ยวเฉาไปกับสโลแกนบางคำที่จะทำให้จิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ว่างเปล่าหรือเสื่อมถอยลง นอกจากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในการลดทอนคุณค่าแห่งค่านิยมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอันงดงาม โดยการยัดเยียดรูปแบบที่เหมือนกันเพียงแบบเดียว เรายัง “เห็นแนวโน้มที่จะทำให้คนหนุ่มสาว มีลักษณะคล้ายกัน” เพื่อสลายความแตกต่างที่แปรไปตามถิ่นกำเนิดของแต่ละคน ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตตามสั่ง ซึ่งผลิตออกมาเหมือนๆ กันในปริมาณมาก ซึ่งเป็นการทำลายทางวัฒนธรรมที่ร้ายแรงพอๆ กับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต” (พระสมณสาส์นเตือนใจชื่อ Christus vivit, ข้อ 186) ขอให้ท่านทำให้คนหนุ่มสาวได้ค้นพบวัฒนธรรมของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ การช่วยให้คนหนุ่มสาวค้นพบคุณค่าอันไม่มีวันเสื่อมสลายของอดีต ได้ค้นพบรากเหง้าของตัวเองโดยการสำนึกอย่างกตัญญู อันเป็นการแสดงออกอย่างแท้จริงถึงความรักที่มีต่อเขาในระหว่างที่เฝ้าดูการเติบโตและการตัดสินใจของเขาเหล่านั้น (เทียบ พระสมณสาส์นเตือนใจ Christus vivit, ข้อ 187)

มุมมองทั้งหมดนี้จำเป็นที่จะต้องมีบทบาทของสถาบันการศึกษาเช่นมหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย การมีองค์ความรู้จะช่วยเปิดหนทางใหม่ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคน เสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติสุข และ การอนุรักษ์ทรัพยากรที่ให้ชีวิตแก่แผ่นดินของเรา ข้าพเจ้าขอขอบคุณครูอาจารย์และนักวิชาการของประเทศนี้เป็นพิเศษที่ทำงานเพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันและอนาคตมีทักษะ และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีภูมิปัญญาที่มีรากฐานมาแต่โบราณกาลซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถมีส่วนในการเสริมสร้างประโยชน์ส่วนรวมแก่สังคม

พี่น้องที่รักทุกท่าน เราทุกคนล้วนเป็นสมาชิกครอบครัวมนุษยชาติ ขอเชิญชวนทุกคนไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือสถานภาพใดๆร่วมกันสร้างสรรค์และดำเนินการโดยตรงในการสร้างวัฒนธรรมโดยมีค่านิยมร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ข้าพเจ้าขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับคำเชื้อเชิญ และขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจเข้ามาร่วมงานนี้   ข้าพเจ้าขอภาวนา และขออวยพรสำหรับความพยายามของทุกท่านที่มุ่งช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองและมีสันติสุข ขอพระเจ้าอำนวยพรแด่ทุกท่านที่มาชุมนุมกันในวันนี้ แด่ครอบครัวของท่านทุกคน และแด่บุคคลที่ท่านกระทำสิ่งต่างๆเพื่อเขา และขอให้ท่านสวดอธิษฐานและอวยพรให้ข้าพเจ้าด้วย

ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

คำกล่าวต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส

โดย ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๑๙

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บรรดาชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จมาเยี่ยมคณาจารย์ นิสิต และผู้คนทั้งหลายในสังคมของพวกเรา แม้ว่าพระองค์จะทรงมีพันธกิจมากมาย

วิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประสงค์ในการจัดให้มีการศึกษาขั้นสูงสำหรับนักศึกษาทุกชั้นวรรณะโดยไม่คำนึงถึงเพศ สถานะทางสังคม เชื้อชาติ หรือภูมิหลังทางเศรษฐกิจ หรือความเชื่อทางศาสนา นับเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโอกาสที่พระองค์เสด็จมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  หลังจากการเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ ๒ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ซึ่งนับเป็นระยะเวลาเกือบ ๔ ทศวรรษที่แล้ว

วันนี้เราพร้อมใจกันมา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อเรียนรู้และรับประโยชน์จากพระปรีชาญาณและพระเมตตาของพระองค์ต่อผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสทั่วโลก นับเป็นความห่วงใยอันล้ำลึกของพระองค์ รวมถึงการเอาพระทัยใส่ดูแล ปกป้อง คุ้มครองธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของพวกเรา รวมถึงการประกอบพันธกิจอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ในการเสวนาระหว่างผู้ศรัทธาต่างความเชื่ออันมีความหมายสำคัญยิ่ง รวมถึงการสร้างสันติสุขระหว่างศาสนา ประเทศชาติ และวัฒนธรรม

สันตบิดร ขอต้อนรับพระองค์สู่มหาวิทยาลัยของพวกเรา

Welcome address

by Professor Dr. Bundhit Eua-arporn

President of Chulalongkorn University

22 Nov 2019

Your Holiness Pope Francis –

Chulalongkorn University, Thailand’s first university, established in 1917 and named after His Majesty King Chulalongkorn, is deeply grateful that Your Holiness has graciously added to an already full schedule this gathering of our academic community, and a host of other sectors across Thai society. 

King Chulalongkorn’s vision was to provide higher education for students from all walks of life regardless of their gender, social status, ethnic or economic background, or religious faith, and it is our university’s immense honor that on the occasion of Your Holiness’ official visit to Thailand, nearly four decades after the visit of His Holiness Pope John Paul in 1984, we are gathered here to learn and benefit from Your Holiness’ wisdom, compassion for the poor and disadvantaged peoples all over the world, your deep concern for the care and protection of our natural environment, and your enduring work for meaningful interfaith dialogue and peace-building amongst religions, countries, and cultures.  Your Holiness, welcome to our university.

คำกล่าวต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส

โดย บิชอป ยอแซฟ ชูศักดิ์  สิริสุทธิ์

วันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๑๙

ข้าแต่พระสันตบิดรที่เคารพรักยิ่ง

ข้าพระพุทธเจ้า บิชอป ยอแซฟ ชูศักดิ์  สิริสุทธิ์ ประมุขแห่งเขตศาสนปกครองนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาและคริสตศาสนจักรสัมพันธ์  รู้สึกปลาบปลื้ม ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่วันนี้ได้มีโอกาสถวายการต้อนรับพระองค์ท่าน พร้อมกับผู้นำศาสนาสำคัญที่ชาวไทยนับถือ กล่าวคือ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์  บรรดาพี่น้องคริสตชนโปรเตสแตนท์ รวมทั้งนักวิชาการชั้นนำของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้เป็นเจ้าภาพสถานที่ประชุมและได้เชิญชวนคณาจารย์ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศมาร่วมชุมนุมกัน ณ ที่นี้ ประมาณ ๑,๕๐๐ คน เพื่อร่วมถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นและมิตรไมตรีแด่พระองค์ท่าน และที่สำคัญคือ รับฟังพระดำรัสสอนของพระองค์

บัดนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้รับฟังการปราศรัยของพระองค์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของพระองค์ ล้วนมีประโยชน์ ซึ่งมิใช่แต่เฉพาะคริสตชนคาทอลิกเท่านั้น แต่สำหรับมนุษยชาติทั้งโลกด้วย ขอพระองค์ทรงพระกรุณามอบพระปรีชาญาณของพระองค์แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในโอกาสนี้ด้วยเถิด

ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่งในองค์พระคริสตเจ้า

Welcome Address

by Bishop Chusak Sirisut

at Chulalongkorn University

22 November 2019

Most Holy Father, 

I, Bishop Joseph Chusak Sirisut, ordinary of the Nakhonratchasima diocese and president of the Catholic Episcopal Commission for the Interreligious Dialogue and Ecumenism, together with leaders of traditional religions adhered by the citizens of Thailand, namely: Buddhism, Islam, Brahms-Hinduism and Sikhism, our brothers Christian different denominations in this country including prominent academics in Thailand particularly educational personnel of Chulalongkorn University who host this meeting and inviting professors and university students from all over the country to join this meeting,  feel most pleased today to welcome Your Holiness and listen to your address. We are gathering here around 1500 persons.

It is now most auspicious that we will listen to the address of Your Holiness which is evident that your wise advice will be most useful not only for the Catholics but also for all humanity.  Give us your wisdom on this occasion, Please, Your Holiness.

With most respect and love in Christ

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า