ข่าวสารจุฬาฯ

เวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 22 นักวิชาการจุฬาฯ วิเคราะห์ปัญหาและเสนอมาตรการ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างไรให้ยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 22 เรื่อง “ฝุ่น PM2.5: แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และหาทางออกของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งนำเสนอมาตรการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน โดยมี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนา ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ


รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศสะอาด การจัดการคุณภาพอากาศอย่างยั่งยืนต้องคำนึงถึงมิติของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาตามบริบทของพื้นที่อย่างรอบด้าน ต้องทำความเข้าใจว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบกับทุกคนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยต้องกำหนดวัตถุประสงค์หรือตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกันนั่นคือ “อากาศสะอาด” ที่สำคัญคือ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ปัญหาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและยึดโยงกับบริบทของชุมชนในแต่ละพื้นที่


รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสาเหตุที่แท้จริงของ PM 2.5 ว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นพอๆ กับขนาดที่เล็กมากของ PM2.5 นั่นคือความรุนแรงจากโครงสร้างทางสังคมที่ขัดขวางไม่ให้ประชาชนได้รับสิ่งที่จำเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง หากยังคงใช้วิธีการแก้ปัญหาบนวิธีคิดแบบเดิมๆ PM 2.5 เป็นภาพสะท้อนเรื่องหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งห่างไกลจากแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปตรวจสอบถึงต้นทางของปัญหา กฎหมายอากาศสะอาดสูตร reform plus เป็นความพยายามของเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ในการหาทางแก้ปัญหา PM2.5 เชิงโครงสร้าง ปัจจุบันเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยกำลังดำเนินการเชิงกระบวนการ bottom-up เพื่อให้ภาคประชาสังคมตระหนักรู้ เข้าใจ และร่วมกันออกแบบโครงสร้างที่พึงประสงค์ ผู้สนใจติดตามได้ที่ ThailandCAN.org


รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีสาเหตุจากการขนส่ง และเสนอวิธีการแก้ปัญหา ข้อเสนอแนะในการลดฝุ่นและมลพิษจากภาคการขนส่ง ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานรถใหม่และน้ำมันเชื้อเพลิงควบคู่กันไป ส่วนมาตรการที่เป็นไปได้ในการบริหารรถเก่า ได้แก่ การเข้มงวดการตรวจสภาพรถประจำทุกปี ปรับเพิ่มอัตราภาษีประจำปีเมื่อรถมีอายุเกิน 7 หรือ 10 ปี จำกัดอายุการใช้งานรถในเขตเมืองไม่ให้มีอายุเกิน 10 ปี ตลอดจนส่งเสริมให้ลดการใช้รถส่วนบุคคล โดยการยกระดับรถขนส่งมวลชนและปรับปรุงการให้บริการ ทดแทนรถเก่าด้วยรถใหม่ที่มีคุณภาพสูง ส่งเสริมโครงข่ายรถเมล์ให้สามารถทำหน้าที่เป็นระบบป้อนให้ระบบรถไฟฟ้าที่กำลังทยอยเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญควรกำหนดค่าเป้าหมายและแผนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายในเวลาที่กำหนด


ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ นำเสนอมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 การแก้ไขที่ต้นเหตุคือการลดการเกิดฝุ่น ต้องเร่งดำเนินการในระดับนโยบายในการควบคุม ติดตาม และปรับปรุงแก้ไข ส่วนในระดับบุคคลจะต้องร่วมมือกันในการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น ติดตามคุณภาพอากาศเสมอ เพื่อประเมินความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารเมื่อคุณภาพอากาศไม่ดี ถ้าจำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกบ้านก็ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยต้องสวมอย่างถูกวิธี ในอาคารต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ส่วนเครื่องฟอกอากาศที่มีความสามารถในการกรองหรือจับฝุ่นเหมาะกับการใช้ในพื้นที่ปิดเท่านั้น


ในส่วนของ รศ.ร.ต.อ.หญิง ภญ.ดร.สุชาดา สุขหร่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงการผนึกกำลังในการวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีสหสาขาเพื่อลดปัญหาและควบคุมผลกระทบทางสุขภาพอันเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยทีมวิจัยได้คิดค้นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมลดฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในอาคารแบบรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และราคาถูก และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปริมาณการรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนพัฒนาต้นแบบหน้ากากที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นในการกรองฝุ่นและเชื้อก่อโรคหลายชนิด คิดค้นชุดล้างตาและล้างจมูกที่ใช้งานง่ายและปลอดภัย ทั้งนี้จะสามารถจะใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมบางชนิดได้ในเร็วๆ นี้ ในกรณีวิจัยเชิงรับ ทีมวิจัยได้ศึกษาบทบาทของตัวยาจากธรรมชาติในการลดอันตรายเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กได้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อเจือจางการเกิดพิษต่ออวัยวะต่างๆ และปรับภูมิคุ้มกันหรือช่วยลดการเกิดภูมิแพ้ โดยมีการทดสอบในโมเดลต่างๆ


วิทยากรท่านสุดท้าย ผศ.ดร.ศรัณย์ เตชะเสน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ นำเสนอมาตรการเฝ้าระวังควบคุมและลดผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จุฬาฯ” โดยจัดระบบการเฝ้าระวังและสื่อสารถึงประชาคมด้วยข้อมูลจากแหล่งเดียวที่เชื่อถือได้ การสร้างความตระหนัก ลดความตระหนกแก่ประชาคมจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป โดยจุฬาฯ ได้เพิ่มจุดตรวจวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงระบบออนไลน์ ขยายการตรวจวัดให้ครอบคลุมสารมลพิษอากาศอื่นๆ ปรับปรุงระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัย เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงสะอาด ตรวจสอบควันดำรถยนต์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพของเครื่องปรับอากาศ พิจารณาปรับเปลี่ยนเวลาเข้าเรียนและเวลาทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ตั้งกลุ่มวิจัยด้านมลพิษทางอากาศ รณรงค์ลดปริมาณและผลกระทบจากฝุ่นละอองตั้งแต่ต้นกำเนิดถึงปลายทาง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า