ข่าวสารจุฬาฯ

SDGs สัญญาแห่งการพัฒนา แบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของจุฬาฯ

เรื่องโดย ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นและถูกใช้เป็นฐานการกำหนดนโยบายของประเทศและองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขานรับแนวคิดของสหประชาชาตินี้ โดยเริ่มดำเนินการ เว็บไซต์ www.sustainability.chula.ac.th ซึ่งเวบไซต์นี้ ถือเป็นหมุดหมายแรกที่ในการจัดระเบียบและประมวลต้นทุนงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาฯ ที่ประชาคมจุฬาฯ สามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ 

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล กล่าวว่า จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีต้นทุนดีเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งปริมาณและคุณภาพ การทำงานของประชาคมจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ บุคลากร หรือนิสิตต่างเกี่ยวพันกับ SDGs ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เพราะ ด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทำให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเรียนการสอน, การวิจัยนวัตกรรม, นโยบายและการปฏิบัติในขอบเขตของมหาวิทยาลัย และการสร้างความเชื่อมโยงและความผูกพัน ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และโลก 

“เมื่อจุฬาฯ กำหนดให้ SDGs เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยนั้นตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่เพียงยกระดับการบริหารงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่กรอบแนวคิด SDGs ยังทำให้จุฬาฯ คิดได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่มองไกลถึงคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ชุมชนโดยรอม รวมไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย”  ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว 

การพัฒนาจุฬาฯ อย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากงานด้านการพัฒนาปรับปรุงระบบกายภาพของประชาคมจุฬาฯ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University) โดยเน้นเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเมื่อ 1-2 ปีมานี้ มหาวิทยาลัยได้ขยายขอบเขตการทำงานหลายงานหลายด้านมากยิ่งขึ้น  เช่น ระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัยด้วยพลังงานสะอาดโดยส่งเสริมการใช้รถ Pop รถ Ha:mo รถ Muvmi ที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และการเข้าร่วมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University Network: SUN) เป็นต้น 

ศ.ดร.พิรงรอง เล่าถึงความโดดเด่นของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของจุฬาฯ ว่า “ถ้ามองในแง่ผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ และอ้างอิง (Citation) ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จากฐานข้อมูล Elsevier ก็ถือว่า จุฬาฯ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในงานวิจัยที่สอดคล้องกับ 

  • SDG เป้าหมายที่ 3 ด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Good Health and Well Being) กล่าวคือ ภายในห้าปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับสากลนี้ จำนวน 3,136 ชิ้น 
  • SDG เป้าหมายที่ 7  เรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 – 2561 จุฬาฯ ผลงานตีพิมพ์ที่ถูกอ้างอิงในระดับสากลจำนวน 395 ชิ้น และ
  • SDG เป้าหมายที่ 13 เรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ก็เป็นอีกหัวเรื่องที่จุฬาฯ ค่อนข้างโดดเด่น 

นอกจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงแล้ว จุฬาฯ ยังมีบุคลากรที่ได้ลงมือทำงานจนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย อาทิ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การสหประชาชาติเพื่อมหาสมุทรและองค์กร AFMA – FAO Annex แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้เป็นทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Sustainable Ocean Ambassador: SOA) ในฐานะที่เป็นผู้ทุ่มเทและมีความโดดเด่นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ รวมถึงงานวิจัยด้านขยะทะเล และไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร

จุฬาฯ ไม่ได้มีดีแค่งานวิจัยเท่านั้น ในแง่การทำงานในเชิงนโยบายด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับ SDG เป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities มหาวิทยาลัยได้มอบของขวัญอุทยานจุฬาฯ 100 ปีเพื่อเป็นปอดกลางกรุงแก่ชุมชน อีกทั้งยังปลูกจิตสำนึกด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน หรือ SDG เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production ให้เกิดขึ้นในหัวใจของประชาคมจุฬาฯ ทุกคน ผ่านโครงการ Zero Waste ซึ่งผลการรณรงค์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยลดการเกิดขยะไปแล้วกว่า 100 ตัน

นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังได้ร่วมรณรงค์ให้สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ตามแนวทาง SDG เป้าหมายที่ 16: Peace and Justice Strong Institutions ผ่านการจัดงานแสดงปาฐกถาพิเศษ โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ในหัวข้อ “Building Bridges for Peace and Understanding” ที่จุฬาฯ ในปีที่ผ่านมา

สุดท้ายนี้ อาจารย์พิรงรองกล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้ว่า การทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะมีอุปสรรคสำคัญ คือ ความไม่รู้” บางคนไม่รู้ว่า SDGs คืออะไร และ ความไม่ตระหนักในหน้าที่” เพราะ ทุกคนต่างคิดว่า ตนเองมีภาระความรับผิดชอบในชีวิตประจำวันมากพอแล้ว จนไม่ตระหนักว่า เราทุกคนต่างก็มีหน้าที่ “ความรับผิดชอบ” ในการสร้างความยั่งยืนให้โลกด้วย  

“หลักการสำคัญของ SDGs คือ การทำงานโดยคิดถึงมนุษยชาติ ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่ง “ใคร” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่ คนชายขอบเท่านั้น แต่หมายถึง คนรุ่นหลังของเราด้วย อย่าให้พวกเขาต้องมารับผลกระทบจากการกระทำของคนรุ่นเรา” ศ.ดร.พิรงรอง ทิ้งท้าย 

สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนทางสังคมกับจุฬา สามารถเข้ามาศึกษาผลงาน SDGs ได้ที่เว็บไซต์ www.sustainability.chula.ac.th ซึ่งออกแบบมาให้ผู้ชมสามารถดูได้ใน 3 รูปแบบ  คือ         

1. มิติบทบาทหลักของมหาวิทยาลัยในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน 

2. มิติ SDGs ต่างๆ 

3. มิติกรณีศึกษา (Case study)

ซึ่งในทุกผลงานที่บรรจุอยู่ในเว็บไซต์นี้ล้วนเป็นผลงานที่มหาวิทยาลัยได้สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาทางสังคมอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมแล้วจริงๆ เป็นผลงานเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย วิจัย นวัตกรรม การเรียนการสอน การสร้างความเชื่อมโยงกับสังคมต่างๆ เพื่อต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ ที่จะเชื่อมโยงขยายผลไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้

SDGs 17 เป้าหมาย 

การพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมาส่งผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรโลกเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ระหว่างปี 2543-2558 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขึ้นใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย

ติดตามอ่านเรื่องราวที่หน้าสนใจได้อีกที่วารสาร CU Around

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า