ข่าวสารจุฬาฯ

ชีวเคมีรวมใจต้านภัย COVID-19 ผลิตเจล-สเปรย์แอลกอฮอล์ และโครงการพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 รู้ผลรวดเร็ว

ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ face shield จัดหาหน้ากากอนามัย PPE และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อบริจาคให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่มีความต้องการ พร้อมพัฒนาชุดตรวจโรค COVID-19  ในรูปแบบ LAMP Test ที่สามารถรู้ผลได้จากการเปลี่ยนสีเพื่อเป็นทางเลือกในการตรวจคัดกรองโรคในอนาคต

รศ.ดร.ธีรพงศ์ บัวบูชา หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย  รศ.ดร.กุลยา สมบูรณ์วิวัฒน์ รศ.ดร.เกื้อการุณย์ ครูส่ง และ ดร.กิตติคุณ วังกานนท์ เป็นตัวแทนทีมจิตอาสา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ และ face Shield รวมถึงการจัดหาหน้ากากอนามัย PPE และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความต้องการ โดยเจลแอลกอฮอล์และสเปรย์แอลกอฮอล์เป็นสูตรถนอมมือ มีปริมาณแอลกอฮอล์ 75% มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ วิตามินอี และสารให้ความชุ่มชื้นที่ไม่ทำให้ผิวแห้งเสีย โดยทางทีมจิตอาสาได้รับบริจาคทุนทรัพย์จากคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตเก่าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป  เพื่อจัดหาสารเคมี และวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ และ Face Shield นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนแอลกอฮอล์ และวัสดุที่ใช้ทำ Face Shield ส่วนหนึ่ง และภาควิชาฯ ยังเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมรวมหน้ากากอนามัย PPE และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลที่มีความต้องการ

“จุดเริ่มต้นของการผลิตเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์เริ่มจากการผลิตเพื่อให้นิสิตและบุคลากรในภาควิชาชีวเคมีใช้กันเองในช่วงที่มีการสอบกลางภาค ต่อมาเมื่อมีการระบาดของ COVID-19 จึงได้มีการผลิตจำนวนมากขึ้นเพื่อบริจาคให้โรงพยาบาล มูลนิธิและหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความต้องการ ทีมงานจิตอาสาที่ผลิตทั้งหมดเป็นอาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตที่อยู่ละแวกใกล้เคียงซึ่งผู้ปกครองอนุญาตให้มาร่วมกิจกรรมนี้ โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการของภาควิชาชีวเคมีในการผลิต เพื่อส่งทางไปรษณีย์ให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีความต้องการ ปัจจุบัน ภาควิชาฯ ได้ส่งเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ไปให้โรงพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ แล้วกว่า 55 แห่ง บางครั้งเมื่อทางโรงพยาบาลได้รับเจลแอลกอฮอล์ที่เราส่งไปให้ก็จะโทรมาขอบคุณหรือถ่ายรูปส่งมาให้ดู ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ นอกจากเจลแอลกอฮอล์แล้วเราก็อยากทำอะไรให้มากขึ้นไปกว่านั้น” รศ.ดร.เกื้อการุณย์ กล่าว

นอกจากจิตอาสาในการผลิตเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์และจัดทำ Face Shield ซึ่งคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ฝึกทำกันเองแล้ว ภาควิชาชีวเคมียังได้เริ่มทำโครงการพัฒนาชุดตรวจโรค COVID-19 โดยนำสารคัดหลั่งของผู้ป่วยมาทดสอบในน้ำยาที่ภาควิชาฯ ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็สามารถรู้ผลได้จากการสังเกตสีที่เปลี่ยนไปบนอุปกรณ์เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อและทำการตรวจสอบซ้ำในขั้นตอนต่อไป

“ชุดตรวจ COVID-19 ด้วยเทคนิควิธี RT-LAMP (เทคนิคการตรวจโดยอาศัยการเพิ่มขยายจำนวนของสารพันธุกรรมของไวรัสโดยการทำปฏิกิริยาที่อุณหภูมิคงที่) ที่มีความไวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการตรวจด้วยเทคนิค RT-PCR แต่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสามารถรู้ผลได้ภายใน 1 ชั่วโมง และ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าด้วย” รศ.ดร.กุลยา

“ชุดตรวจเบื้องต้น COVID-19 ที่ภาควิชาฯ กำลังพัฒนาขึ้นเป็นชุดตรวจสารพันธุกรรมว่าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่หรือไม่ หลายหน่วยงานมีการจัดทำชุดตรวจเชื้อ COVID-19 ในหลายรูปแบบ จุดแข็งของภาควิชาชีวเคมีคือเรามีความเชี่ยวชาญในการผลิตเอนไซม์ซึ่งเป็นงานด้านชีวเคมีโดยตรง จึงสามารถผลิตเอนไซม์ที่เป็นส่วนประกอบของชุดตรวจได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ชุดตรวจนี้จะทำให้การตรวจคัดกรองโรคทำได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น นอกจากจะใช้ตรวจเชื้อ COVID-19 ซึ่งน่าจะอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควรแล้ว เรายังสามารถนำผลผลิตเอนไซม์ที่พัฒนาครั้งนี้ไปใช้ในพัฒนาชุดตรวจคัดกรองโรคอื่น ๆ ด้วยเทคนิค LAMP นี้ได้อีกด้วย” ดร.กิตติคุณ กล่าวเสริม

“ตอนนี้ใครหรือหน่วยงานไหนคิดค้นอะไรได้ก่อนก็นำออกไปช่วยคุณหมอก่อน เพราะการแพร่ระบาดของโรครอไม่ได้ ชุดตรวจ COVID-19 ที่เราพัฒนาขึ้นถือว่าเป็นแผนสำรองในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างการคิดค้นวัคซีนต้านโรคนี้ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน” ดร.กิตติคุณ กล่าว

“นอกจากชุดตรวจเบื้องต้น COVID-19 ที่ภาควิชาชีวเคมีกำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา   3 – 4 เดือนจึงจะสำเร็จ ทางภาควิชาฯ ยังได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการผลิตเอนไซม์สำหรับการพัฒนาชุดทดสอบ COVID-19 ในรูปแบบ RPA-CRISPR สำหรับใช้ตรวจวิเคราะห์โรค COVID-19 อีกทางหนึ่งด้วย” รศ.ดร.กุลยา กล่าว

สำหรับผู้สนใจร่วมสนับสนุนการจัดทำเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์  Face Shield และจัดหาหน้ากากอนามัย ชุด PPE เพื่อบริจาคให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งสมทบทุนวิจัยชีวเคมีรวมใจต้านภัย COVID-19 สามารถติดต่อได้ที่อีเมล biochemscicu@gmail.com หรือคุณศิริพร ที่โทร. 0-2218-5416-17, 09-7026-1717 หรือ https://www.facebook.com/BCSCCU

 

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า