ข่าวสารจุฬาฯ

“ไฮโดรแอลกอฮอล์เจล” เจลแอลกอฮอล์ล้างมือสูตรธรรมชาติ ผลงานวิจัยจากอาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์ถือเป็น “New Normal” อันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจและมีไว้ใช้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เจลแอลกอฮอล์มีหลายสูตร หลายยี่ห้อ ปัจจุบันมีการใส่สารบำรุงผิวและเพิ่มกลิ่นให้น่าใช้มากยิ่งขึ้น

 

กว่าจะเป็นเจลล้างมือที่เราใช้กันต้องผ่านกระบวนการผลิตที่มีส่วนผสมของสารต่างๆ ที่ใครหลายคนอาจไม่รู้ แต่สำหรับ อ.ดร.ธีรพงศ์ ยะทา จากหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาองค์ประกอบของเจลล้างมือแอลกอฮอล์ พบว่าสารก่อเนื้อเจลที่นิยมใช้มากที่สุด คือ คาร์โบพอล (Carbopol) เป็นโพลีเมอร์สังเคราะห์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการทำให้เกิดเนื้อเจลแอลกอฮอล์ แต่มีข้อควรคำนึงในการทำเจลแอลกอฮอล์ด้วยโพลีเมอร์ชนิดนี้คือ การใช้สารไตรเอทาโนลามีน (triethanolamine) ในการทำปฏิกิริยาสร้างเนื้อเจล ซึ่งหลายประเทศทางยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรป European commission  จัดให้สารกลุ่มนี้เป็นสารต้องห้ามในการผลิตเครื่องสำอาง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง และมีการศึกษาพบว่าสามารถทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางชนิดและก่อตัวจนเกิดเป็นสารกลุ่มไนโตรซามีน (nitrosamines) ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แต่ในประเทศไทยสารนี้ยังคงได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องมีการจำกัดปริมาณการใช้หรือความเข้มข้นในผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเป็นที่มาของงานวิจัยไฮโดรแอลกอฮอล์เจล” เจลแอลกอฮอล์ล้างมือสูตรธรรมชาติที่ อ.ดร.ธีรพงศ์ ได้ศึกษาวิจัย

จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เจลแอลกอฮอล์ขาดตลาดอย่างหนัก หลายหน่วยงานภายในจุฬาฯ พยายามผลิตเจลแอลกอฮอล์เพื่อแจกจ่ายให้กับนิสิต เจ้าหน้าที่ และบุคลากรไว้ใช้ในขณะที่ยังเดินทางมาทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย ทำให้ อ.ดร.ธีรพงศ์ พยายามคิดหาวิธีในการผลิตโพลิเมอร์ทดแทนจากธรรมชาติที่มีราคาถูก สามารถขึ้นรูปเจลร่วมกับแอลกอฮอล์ได้ และที่สำคัญไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ในระยะยาว

“เราใช้พอลิเมอร์ “แซนแทนกัม” (Xanthan gum) เป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่หาซื้อได้ทั่วไป และใช้ในการประกอบอาหารได้ ซึ่งมีราคาถูกกว่าคาร์โบพอล แต่ปัญหาในการใช้แซนแทนกัมคือการทำให้สารมีประสิทธิภาพโอบอุ้มแอลกอฮอล์เป็นไปได้ยาก ผมจึงนำเทคนิคจากองค์ความรู้เดิมมาปรับองค์ประกอบและกรรมวิธีการผลิต จนสามารถรับแอลกอฮอล์ได้สูงสุดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถคงสภาพเนื้อเจลได้แม้เก็บเป็นเวลา 1-2 ปี” อ.ดร.ธีรพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ อ.ดร.ธีรพงศ์ยังเติมอนุภาคนาโนเข้าไป สำหรับคนที่ใช้เจลแอลกอฮอล์ผสมน้ำมันหอมระเหยแล้วไม่ติดทน เป็นเพราะน้ำมันหอมระเหยจะระเหยไปพร้อมกับแอลกอฮอล์ การวิจัยครั้งนี้ได้นำน้ำมันหอมระเหยมาใส่ในเทคโนโลยีระดับนาโนให้กักเก็บและห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหยไว้ หลังจากแอลกอฮอล์ระเหย กลิ่นหอมก็ยังคงติดมือนานขึ้น ระยะเวลาในการปลดปล่อยกลิ่นก็ยาวนานขึ้น น้ำมันหอมระเหยนาโนนี้มีการใช้พืชสมุนไพรไทยที่มีกลิ่นหอม เช่น ตะไคร้หอม มะกรูด ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสมุนไพรที่มีผลในการฆ่าเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดในอนาคต

อ.ดร.ธีรพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเจลแอลกอฮอล์แล้ว แซนแทนกัมพอลิเมอร์ยังสามารถต่อยอดมาสู่เจลกึ่งสเปรย์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ดี “ก่อนหน้านี้ผมได้ผสมวิตามินอีหรือสารสกัดที่ให้ความชุ่มชื้นให้กับผิว เช่น ใบบัวบก หรือสารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้น แต่พบว่าแซนแทนกัมสามารถให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้ดีจนรู้สึกได้ว่าใช้แล้วมือนุ่ม ไม่แสบผิว นอกจากนี้สเปรย์แอลกอฮอล์ที่ใช้กันทั่วไปค่อนข้างระเหยเร็ว ระยะเวลาในการสัมผัสเชื้อโรคเร็วเกินไปทำให้ฆ่าเชื้อได้ไม่ดีเท่ากับเจล แต่สำหรับบางคนที่สะดวกแบบสเปรย์มากกว่า ผมจึงทำสเปรย์ในรูปแบบของเจลที่เรียกว่า “สเปรย์เจล” โดยเพิ่มระยะเวลาในการสัมผัสกับเชื้อโรคได้เหมือนกับเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสูตรที่มาจากพอลิเมอร์ธรรมชาติตัวนี้ด้วยเช่นกัน”

จุดบังเอิญเล็กๆ ก่อเกิดเป็นนวัตกรรมต่อยอดชิ้นใหม่ จาก ‘วิกฤต’ สู่ ‘โอกาส’ ทำให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ผลิตโดยอาจารย์นักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ท่านนี้เป็นนวัตกรรมนาโนจากสมุนไพรธรรมชาติ ที่นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแล้ว ยังต่อยอดไปถึงการผลิตเวชภัณฑ์ยาในสัตว์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อีกด้วย

“สารไตรเอทาโนลามีนใช้ระยะเวลายาวนานจึงก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าต่อไปยังมีการใช้เจลแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือป้องกันตนเองจากเชื้อโรคในระยะยาว เราก็ควรมองหาทางเลือกใหม่ที่มีความปลอดภัย ผลงานวิจัยนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคในอนาคต” อ.ดร.ธีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า