ข่าวสารจุฬาฯ

8 วิธี…ช่วยพนักงานเตรียมพร้อมหลังจบ WORK FROM HOME

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ พนักงานในหลายบริษัทและองค์กรเริ่มเตรียมตัวเพื่อจะกลับมาทำงานตามปกติหลังจากต้องทำงานที่บ้านมานานนับเดือน ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำ 8 วิธีที่องค์กรหรือหัวหน้างานจะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงาน หลังจบ Work from Home โดย อ.ดร.พนิตา เสือวรรณศรี  ประธานสาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ข้อแนะนำวิธีปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยให้หัวหน้างานคิดพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือพนักงานของตนให้กลับมาทำงานได้อย่างราบรื่น

1. เปลี่ยนความกังวลต่อไวรัสเป็นแรงผลักดันให้ยังคงดูแลตัวเองต่อไป

ความกลัวและความกังวลยังมีอยู่หลังกลับมาทำงานเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่ดีที่ยังมีความกังวลนั้นอยู่ เนื่องจากการกลับไปทำงานตามปกติ ไม่ได้แปลว่าไวรัสหายไป ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แต่ละคนยังคงระมัดระวัง ป้องกันตนเองอยู่ หัวหน้างานพึงหาทางช่วยพนักงานเปลี่ยนความกังวลเป็นแรงผลักดันที่จะยังคงดูแลตนเอง พนักงานจะรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ปล่อยให้ความกังวลหยุดกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน

2. อย่าเหมารวมว่าพนักงานทุกคนไม่อยากกลับมาทำงาน

เพราะหากคิดเช่นนี้ เราจะมีความรู้สึกว่าไม่มีใครอยากกลับมาทำงานที่ทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะไม่ทันได้คิดว่ามีหลายคนที่ไม่ชอบทำงานที่บ้าน การไปทำงานที่ทำงานเป็นช่วงเวลาที่ได้ออกจากบ้าน ได้มีเวลาส่วนตัว มีสมาธิ การไปเจอเพื่อนที่ทำงานเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาหยุดคิดเกี่ยวกับปัญหาทางบ้าน และช่วงเวลาที่ได้เดินทางไป-กลับจากที่ทำงานคือช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตนเอง 

3. ให้เวลาในการค่อย ๆ ปรับตัว

ถึงแม้ว่าพนักงานบางคนอาจจะอยากกลับมาทำงานในที่ทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการเวลาปรับตัว การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหากเป็นการค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยเอื้อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตัวพนักงานเองหรือคนในบ้านสามารถเรียนรู้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้โดยไม่กระทบมากนัก ดังนั้นหากเป็นไปได้ อาจจะให้พนักงานเริ่มสลับกันมาทำงานที่ทำงานบ้างบางวัน และทำงานที่บ้านบ้างบางวัน หรือกลับมาทำงานครึ่งวันที่ทำงาน ครึ่งวันที่บ้าน ทีมที่ทำงานร่วมกันอาจลองหากลวิธีที่น่าจะเอื้อให้การเปลี่ยนแปลงนี้ค่อยๆ เกิดขึ้น

4. ให้ความสำคัญกับการกลับมาสร้างความสัมพันธ์ในทีม

การที่พนักงานในทีมใช้เวลาทำงานจากบ้านเต็มเวลาในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์หรือความสนิทที่เคยมีอาจเจือจางไป กลายเป็นความสัมพันธ์ที่คุยกันเรื่องงานเท่านั้น ดังนั้นการกลับเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบเห็นหน้ากันอีกครั้ง จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เสมือนกับการเริ่มทำความรู้จักหรือสร้างความสัมพันธ์กันใหม่อีกครั้ง หัวหน้าทีมจำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่อาจห่างเหินกันไป และให้เวลาหรือหากิจกรรมที่จะกลับมาสร้างสัมพันธ์กับพนักงานด้วยกันในทีมหลังกลับมาทำงานร่วมกัน

5. สอบถามพนักงานว่ามีความต้องการอะไรบ้างในการกลับเข้ามาทำงาน

เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นหัวหน้างานไม่อาจเหมารวมได้ว่าพนักงานแต่ละคนมีความรู้สึกและความต้องการอย่างไร ดังนั้นหัวหน้างานจึงควระสอบถามพนักงานในทีมของตนเองว่าหากเรากำลังจะเริ่มกลับเข้ามาทำงานเต็มเวลา พนักงานแต่ละคนมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อจะเอื้อให้พนักงานสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อย่างราบรื่นและเหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด

6. คอยถามและติดตามความเป็นอยู่พนักงานหลังกลับมาทำงานเป็นระยะๆ

ในบางครั้งปัญหาในการปรับตัวอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีหลังพนักงานกลับเข้ามาทำงานในที่ทำงาน แต่อาจเริ่มเกิดความรู้สึกต่าง ๆ หรือรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการกลับเข้ามาทำงานในระยะเวลาหนึ่ง เช่น เริ่มสังเกตถึงว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเปลี่ยนแปลงไป หรือเริ่มเกิดความกังวล เป็นห่วงสมาชิกในบ้านที่ยังปรับตัวไม่ได้กับการที่เราต้องกลับออกมาทำงานนอกบ้าน ดังนั้นหัวหน้างานพึงสังเกตและคอยสอบถามความเป็นอยู่และความต้องการของพนักงานเป็นระยะ ๆ ในช่วง 1 – 3 เดือนหลังพนักงานกลับเข้ามาทำงาน

7. เข้าใจว่าปัญหาการปรับตัวอาจมาจากสมาชิกในบ้านของพนักงานได้ด้วย

อย่าลืมว่าคนที่ปรับตัวไม่ใช่พนักงานคนเดียว เพราะสมาชิกในบ้านก็ต้องปรับตัวกลับเข้ากับสภาพที่พนักงานไม่อยู่บ้านเช่นกัน สมาชิกในบ้านอาจจะเกิดความเหงา ความน้อยใจ หรือหงุดหงิดต่อการต้องกลับมารับภาระต่าง ๆ เช่น หากพนักงานมีเด็ก ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านที่ต้องมีคนดูแล ตอนเราทำงานที่บ้าน สมาชิกคนอื่นในบ้านอาจได้หยุดพักและมีเวลาให้ตนเองเพิ่มขึ้น แต่พอเรากลับออกมาทำงานนอกบ้าน พวกเขาอาจรู้สึกว่าตนเองต้องกลับมารับภาระแบบเดิม ดังนั้นหัวหน้างานสามารถแสดงความห่วงใยและอาจให้คำแนะนำแก่พนักงานในการแสดงความใส่ใจ สอบถามความต้องการและความเป็นอยู่ของคนในบ้านเป็นระยะๆ หลังกลับมาทำงานเต็มเวลา จะช่วยให้สมาชิกในบ้านไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และพนักงานก็จะได้รู้ว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้บ้าง

8. อย่าอายหรือกลัวที่จะหาความช่วยเหลือหากเกิดปัญหา

ไม่ว่าผู้ที่มีปัญหาในการปรับตัวคือตัวพนักงานเองหรือสมาชิกในบ้าน หากพบว่าภายหลังจากที่กลับมาทำงานแล้ว พนักงานหรือคนรอบตัวเกิดความรู้สึกไม่ดี เศร้า รู้สึกผิด หงุดหงิดขึ้นมา หัวหน้างานสามารถช่วยให้พนักงานลองสังเกตความรู้สึกเหล่านี้ว่าเกิดจากอะไร และจะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร หากไม่สามารถจัดการได้ อย่ากังวลที่จะปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน ปัญหาด้านการปรับตัวเป็นเรื่องธรรมดามากที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน การได้เล่าเพื่อหาทางแก้ไขจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้

ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ Facebook :ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness)

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า