ข่าวสารจุฬาฯ

นวัตกรรม “CUD Thermal Scan” ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ระบบสแกนคนเข้าออกโรงเรียนอัจฉริยะ สร้างความมั่นใจปลอดภัยจากโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ทุกคนยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของภาครัฐโดยไม่ควรละเลย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านมาตรการความปลอดภัยระดับสูงเพื่อรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ของนักเรียน โดยได้นำนวัตกรรมทันสมัยCUD Thermal Scan” ระบบสแกนคนเข้าออกโรงเรียนอัจฉริยะ เข้ามาติดตั้งที่ประตูอัตโนมัติบริเวณทางเข้าออกทุกประตูของโรงเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยภายในโรงเรียนได้อย่างสมบูรณ์ ตรวจสอบได้

ระบบสแกนคนเข้าออกโรงเรียนอัจฉริยะ “CUD Thermal Scan” เป็นระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยด้วยการสแกนใบหน้าและสแกนอุณหภูมิร่างกายของทุกคนที่เข้ามาในโรงเรียน ได้แก่ นักเรียน ผู้ปกครองที่มารับนักเรียนกลับบ้าน รวมถึงคณาจารย์และบุคลากร นวัตกรรมนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ซึ่งปัจจุบันมี คุณกิตติ อภิชนบัญชา เป็นนายกสมาคมฯ ซึ่งได้นำมาติดตั้งที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมจำนวน 12 เครื่อง

 คุณสมบัติของเครื่องสแกนใบหน้า ใช้เวลาในการประมวลผลอย่างรวดเร็ว  เครื่องสแกนจะวัดอุณหภูมิร่างกายเฉพาะขาเข้า ในการสแกนใบหน้า ระบบจะวัดองศาของตา จมูกและคิ้ว เป็นหลักในการให้ผ่านเข้าไปในโรงเรียน หากอุณหภูมิสูงกว่าที่โรงเรียนกำหนด (37.5 องศาเซลเซียส) หรือไม่สวมหน้ากากอนามัย ประตูกั้นจะไม่เปิดให้เข้าหรือออกจากโรงเรียน  เครื่องสแกนใบหน้าได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าจะสแกนเฉพาะใบหน้าจริงเท่านั้น ผู้ที่นำภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวมาสแกนที่เครื่อง จะไม่สามารถปลดล็อกระบบประตูกั้นอัตโนมัติได้ รวมถึงการแยกใบหน้านักเรียนที่เป็นแฝดได้ด้วย โดยขาเข้าโรงเรียน นักเรียนจะยืนห่างจากเครื่องสแกน 30 – 50 เซนติเมตร เพื่อให้ประชิดหน้าจอเนื่องจากจะต้องสแกนอุณหภูมิร่างกาย ส่วนขาออกอยู่ที่ประมาณ 3 – 5 เมตร เมื่อผ่านการสแกนแล้ว ประตูจะค่อยๆ เปิดและปิด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนผู้ใช้งาน

            ขั้นตอนการสแกนคนเข้าออกโรงเรียนด้วย “CUD Thermal Scan” กรณีนักเรียนกลับบ้านได้เอง นักเรียนสามารถสแกนใบหน้าแล้วเดินออกจากโรงเรียนได้ตามปกติ กรณีผู้ปกครองรับนักเรียนกลับบ้าน นักเรียนและผู้ปกครองที่มีข้อมูลอยู่ในระบบจะต้องมาที่เครื่องสแกนใบหน้าพร้อมกัน  เริ่มจากให้นักเรียนสแกนใบหน้า ตามด้วยผู้ปกครองเพื่อให้ประตูเปิดออก นักเรียนจึงจะสามารถออกนอกโรงเรียนได้  ส่วนผู้ปกครองถ้าจะออกนอกโรงเรียนด้วยก็จะต้องสแกนใบหน้าอีกครั้ง ไม่สามารถออกพร้อมกันสองคนได้ สำหรับบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาติดต่องานในโรงเรียน  จะต้องผ่านการลงทะเบียนในระบบล่วงหน้า  ซึ่งระบบลงทะเบียนนี้สามารถใช้งานผ่านสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และต้องแนบภาพใบหน้าของตนเองแบบถ่ายสด และกรอกข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน เมื่อผ่านการอนุมัติของโรงเรียนว่าไม่เป็นบุคคลอันตราย จึงจะสามารถสแกนใบหน้าเพื่อเข้ามาภายในโรงเรียนได้

“เครื่อง Thermal Scan ที่เราใช้แตกต่างจากทั่วไปที่วัดอุณหภูมิได้อย่างเดียว การปิดเปิดประตู อาจจะต้องใช้คีย์การ์ดเปิดอีกที แต่ของเราเป็นระบบไร้การสัมผัส (touchless) ซึ่งสามารถแสดงชื่อและข้อมูลของคนที่เข้า-ออก และบันทึกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของโรงเรียน  หากไม่มีอยู่ในฐานข้อมูล เครื่อง Thermal Scan ก็จะไม่อนุญาตให้เข้า เป็นการคัดกรองคนที่จะเข้ามาในโรงเรียนแบบ 100% เราถือเป็นโรงเรียนแรกในประเทศที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยในเรื่องของการสแกนเพื่อป้องกันโคโรน่าไวรัสเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับนักเรียนและบุคลากรได้ด้วย” คุณกิตติ กล่าว

ผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม เปิดเผยว่านวัตกรรม CUD Thermal Scan” ระบบสแกนคนเข้าออกโรงเรียนอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในมาตรการของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีมาตรการอื่นๆ อาทิ จำกัดจำนวนผู้ปกครองเข้ามารับ – ส่ง นักเรียนภายในโรงเรียน นักเรียน 1 คน / ผู้ปกครอง 1 ท่าน ทุกคนที่เข้ามาในโรงเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัย ให้บุคลากรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานและล้างมือบ่อยครั้ง ทำความสะอาดจุดสัมผัสสาธารณะด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ติดตามและรายงานสาเหตุการลาหยุดของนักเรียนรายวัน สังเกตอาการป่วยของนักเรียนขณะอยู่โรงเรียน ถ้ามีอาการจะให้ผู้ปกครองมารับทันที จัดระยะห่างการปฏิสัมพันธ์ กำหนดให้ห้องเรียนมีการจัดโต๊ะนั่งแบบรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร โดยคำนวณพื้นที่ภายในห้องเรียนต่อจำนวนนักเรียน เน้นให้จัดการเรียนการสอนภายในห้องเรียน เป็นต้น

“โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม มีแผนมาตรการคัดกรองเพื่อป้องกันสำหรับนักเรียน เราได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ปกครองฯ และบริษัทเอกชนในการเสริมมาตรการของเรา โดยได้นำเทคโนโลยีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผสมผสานกับเครื่องตรวจวัดใบหน้า AI อัจฉริยะ สำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง หรือผู้ที่ลงทะเบียนเข้าออกภายในโรงเรียนเพื่อทำเป็นสถิติด้านสุขภาพและความปลอดภัยขั้นสูง โดยเราเริ่มไปทีละขั้นและทดลองกับนักเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเครื่องให้รับรองความต้องการในแต่ละด้าน มีการปรับพัฒนาระบบทางกายภาพให้รับรองสรีระของเด็กแต่ละวัย โดยสามารถใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ” ผศ.ทินกร กล่าว

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนมีความห่วงใยในเรื่องของความเครียดและผลกระทบทางด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ซึ่งต้องปฏิบัติตนตามมาตรการการป้องกันฯ และต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา จึงได้คิดริเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เรียกว่า “กิจกรรมดอกไม้บาน” สำหรับนักเรียน ทุกระดับชั้น ช่วงเปลี่ยนคาบเรียน ครั้งละประมาณ 5 นาที เพื่อให้เด็กๆ ได้ถอดหน้ากากอนามัยเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ และยืดเส้นยืดสายในพื้นที่เปิด มีอากาศถ่ายเท โดยยังคงรักษาระยะห่างในการปฏิสัมพันธ์เช่นเดิม ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักเรียนเป็นอย่างดี

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า