รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
18 สิงหาคม 2563
ข่าวเด่น, ภาพข่าว
จากงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 24 เรื่อง “ระเบิดเบรุต จุดชนวนความปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ นักวิชาการจุฬาฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี ได้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์การระเบิดอย่างรุนแรงของคลังเก็บสารเคมีที่ท่าเรือเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งสร้างความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัวแก่สังคมเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีอันตรายอย่างถูกต้อง โดยมี ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ อธิบายถึงเหตุระเบิดของคลังเก็บสารเคมีในครั้งนี้ว่าเกิดจากสารแอมโมเนียมไนเตรตที่ถูกเก็บไว้ในคลังสินค้าจำนวนมากถึงเกือบ 3,000 ตัน ในบริเวณพื้นที่ชุมชน สารเคมีชนิดนี้มีอันตราย สามารถระเบิดได้เมื่อได้รับความร้อนหรือเมื่อผสมกับสารที่ติดไฟได้ และเป็นสารที่เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรงหลายครั้ง ในประเทศไทยมีการใช้สารนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร หรือแม้แต่ในสถานศึกษา นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอันตรายอื่นๆ ใกล้ตัวเราที่มีการใช้งานแพร่หลาย ซึ่งหากมีการจัดเก็บและใช้งานอย่างไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ ดังเช่นกรณีระเบิดของสารเร่งดอกลำไย (โพแทสเซียมคลอเรต) ซึ่งเกิดจากการนำไปผสมกับปุ๋ย
“บ่อยครั้งเราอาจมีพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยจนเคยชิน โดยอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือละเลยต่อความปลอดภัย เมื่อไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ทำให้ชะล่าใจว่าที่ทำอยู่นั้นถูกต้องแล้ว ในกรณีเหตุระเบิดของสารแอมโมเนียมไนเตรตที่เบรุตเป็นสารเคมีที่เก่าเก็บมานานถึง 6 ปี เหตุการณ์นี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีที่จะกระตุ้นให้สาธารณชนตระหนักถึงอันตรายจากการครอบครองและใช้งานสารเคมีอย่างไม่ถูกวิธี และเห็นความสำคัญของการศึกษาข้อมูลของสารเคมีจากฉลาก และการปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย เหตุการณ์เช่นนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้อีก ตราบใดที่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญและอันตรายของสารเคมี และรู้จักสื่อสารความเสี่ยงให้สาธารณชนได้รับทราบ แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกเกินความจำเป็น” ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว
รศ.สุชาตา ชินะจิตร ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ และคณะกรรมการความปลอดภัยด้านเคมี จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่าการบริหารจัดการความปลอดภัยต้องใช้ความรู้พื้นฐานเพื่อบ่งบอกได้ว่าอะไรคือปัจจัยเสี่ยง และประเมินความเสี่ยงได้ รวมทั้งต้องสื่อสารความเสี่ยงไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหตุระเบิดในครั้งนี้ชวนให้คิดว่าการจัดการสารเคมีอันตรายมีปัญหาตั้งแต่ระดับนโยบาย ในประเทศไทยก็เคยเกิดพิบัติภัยเกี่ยวกับสารเคมีหลายครั้ง แต่ละครั้งเป็นบทเรียนให้มีการจัดการที่ดีขึ้น ภาคเอกชนให้การดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น มีกลุ่ม Responsible Care® ของสภาอุตสาหกรรม ภาครัฐเองก็มี พ.ร.บ.หลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมี ความรู้เกี่ยวกับอันตราย
“อุทาหรณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีส่วนช่วยลดสถิติการเกิดอุบัติภัยสารเคมีได้โดยใช้เหตุการณ์พิบัติภัยเป็นตัวจุดประกาย นำทางไปสู่ความรู้และข้อคิดในการเฝ้าระวัง สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอด ยกระดับความรู้ของสังคมให้มีความตระหนักรู้ถึงอันตราย การป้องกันเหตุจะต้องปลูกฝังเรื่องนี้ให้อยู่ในจิตสำนึกของทุกคน”รศ.สุชาตา กล่าว
คุณเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาซเคม โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่ม Responsible Care® ประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดของสารเคมีอันตรายในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในประเทศไทย เช่น เพลิงไหม้รถขนส่งถังแก๊ส คลังสารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย เพลิงไหม้ ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารเคมีที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ ความรู้เรื่องอันตรายของสารเคมี วิธีการจัดการที่เหมาะสม และผู้ประกอบการมีความตระหนักด้านความปลอดภัยและดำเนินตามกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการควบคุมปริมาณสารเคมีและวิธีการจัดเก็บอย่างไร บรรจุภัณฑ์ที่ใช้มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งรวมถึงในมหาวิทยาลัย เช่น กรณีการจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการด้วย นอกจากนี้การป้องกันการสัมผัสสารอันตรายด้วยอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล มาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมองมิติของความเป็นอันตรายให้ครบรอบด้าน อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจากความอันตรายของสารเคมีอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งหมดด้วย
“การไม่รู้ว่าสารเคมีนั้นๆ อันตรายหรือไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ยิ่งไปกว่านั้นการที่ผู้ประกอบการหรือคนที่อยู่รอบตัวเรารู้ว่าครอบครองสารเคมีอันตรายแต่ไม่เปิดเผยข้อมูลออกมาเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุด เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เบรุต วิธีง่ายๆ ที่ควรทำก็คือ Hazard Classification หรือการจำแนกว่าอันตรายหรือไม่ จากนั้นจึงสื่อสารความอันตรายออกไปให้สาธารณชนรับรู้” คุณเฉลิมศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.ไพฑูรย์ งามมุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง อดีตหัวหน้าฝ่ายจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความรู้ในส่วนของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเกิดจากสารเคมี รังสี ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐมีแนวทางป้องกันและตอบโต้เหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การตอบโต้ และการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามหลักการสากล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุบัติภัยสารเคมี นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อปรับปรุงแผน และสร้างความความตระหนัก ใส่ใจด้านความปลอดภัย
ดร.ไพฑูรย์ เสนอว่า “อยากให้ผู้ประกอบการเฝ้าระวังโรงงานและโกดังเก็บสารเคมีซึ่งไม่มีพื้นที่ที่เป็น bubble zone หากเกิดอะไรขึ้นมาจะกระทบไปยังชุมชน เราพยายามขอข้อมูลจากผู้ประกอบการที่เป็นปัจจุบันและไม่แจ้งเท็จ เป็นการลดความเสี่ยง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียก่อนแล้วจึงมองเห็นความสำคัญ”
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จัดกิจกรรม “ใส่บาตรหนังสือ ครั้งที่ 16 : อ่านเพื่อสติ” สานต่อศรัทธาผ่านการอ่าน สร้างปัญญา เสริมสิริมงคลรับปีใหม่
นิสิต BBA จุฬาฯ เยี่ยม! ทำคะแนนสอบ TCAS Inter 2024 ได้ที่ 1 ของประเทศ
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานเสวนา “โปรตุเกส…เหตุที่รัก”
นิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสีน้ำระดับอุดมศึกษา
คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ชวนช็อป ดีมีคืน กับ Chula Dent ในโครงการ Easy E-Receipt 2.0
ขอเชิญชาวจุฬาฯ ประกวดคลิปวิดีโอสร้างสรรค์ “Chula Ethics: Our Code, Our Way: วิถีเรา ตัวตนเรา”
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้