ข่าวสารจุฬาฯ

“LawLAB” จุฬาฯ แพลตฟอร์มใหม่การเรียนกฎหมายจากประสบการณ์จริง

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ริเริ่ม “LawLAB” นวัตกรรมห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย แพลตฟอร์มใหม่การเรียนกฎหมายจากประสบการณ์จริง โดยได้จัดงานเปิดตัว “LawLAB” เมื่อวันพุธที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า “LawLAB” เป็นโครงการที่นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกับสำนักงานทนายความ เพื่อตอบโจทย์และให้ความรู้ด้านกฎหมายสำหรับบริษัท Startup ปกติมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีโครงการที่เรียกว่า Mentoring Program ที่ให้น้องๆ นิสิตได้เจอกับรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ในขณะเดียวกันก็จะมีกิจกรรมฝึกงาน จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะสามารถผสมผสานสองโครงการนี้เข้าด้วยกัน เกิดเป็นโครงการ LawLAB ทำให้นิสิตได้รับแรงบันดาลใจพร้อมๆ กับการเรียนรู้ในเรื่องของการปฏิบัติงานในวิชาชีพไปพร้อมๆ กัน

อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าการจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของนิสิตนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนในรูปของการจัดโครงการ LawLAB ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการเรียนกฎหมาย เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเรียนเชิงปฏิบัติการภายในคณะนิติศาสตร์ และเป็นนวัตกรรมในด้านการเรียนการสอนอย่างแท้จริง

อ.ดร.ภูมิศิริ ดำรงวุฒิ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ดูแลโครงการฯ ให้ข้อมูลว่าโครงการนี้ทำให้นิสิตมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้หลักๆ ถึง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะที่เป็น Softskill การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม และการเข้าใจปัญหาด้านกฎหมาย จนได้ทางเลือกในการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริงกับ Startup ซึ่งตนรู้สึกภูมิใจมาก

คุณชวลรรค ศิวยาธร อาราเนตา ทนายความที่ปรึกษาจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ธนาธิป แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด กล่าวว่า ตนในฐานะนิสิตเก่า ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร นิสิตของคณะ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยติดอาวุธให้นิสิตเมื่อจบออกไปแล้วสามารถสร้างอาชีพและช่วยเหลือสังคมได้ เป็นการบูรณาการอย่างครบถ้วน ดึงศักยภาพของนิสิตออกมา และสามารถตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง

คุณนภัทร ตติยารัตน์ ตัวแทน Startup แพลตฟอร์ม “แสนดี” เผยถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ว่า รู้สึกขอบคุณอาจารย์และน้องๆ นิสิต รวมถึงพี่ๆ ทีมที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าเกินความคาดหมายมากๆ ข้อกังวลทางกฎหมายทุกอย่างได้รับการแก้ไขในที่สุด

ด้านความเห็นของนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ LawLAB กันตา สุเมธโชติเมธา นิสิตชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า “LawLAB เป็นโครงการที่ดีมาก เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้การทำงาน ทั้งการใช้กฎหมาย การวิจัย การติดต่อกับ Startup ซึ่งเปรียบเสมือนการทำงานกับลูกความจริงๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นสุดท้าย โดยตนทำงานร่วมกับบริษัทแสนดีซึ่งเป็นธุรกิจ Donation Platform ก่อนการทำงานจริงทางคณะฯ ได้จัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Startup แก่นิสิตด้วย”

ภัทรานิษฐ์ พรหมอารักษ์นิสิตชั้นปี 4 เผยว่า “รู้สึกดีใจและมองว่าเป็นโอกาสพิเศษมากๆ ที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการ ส่วนตัวได้เรียนรู้หลายอย่างมาก เพราะปกติแล้วตนได้เรียนเฉพาะตัวกฎหมาย แต่ยังไม่เคยได้นำไปปรับใช้ในด้านธุรกิจจริงๆ หรือทราบว่าความรู้ทางด้านกฎหมายสามารถช่วยให้ธุรกิจ Startup เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ต่อตัวเองอย่างมาก”

พสิน ฉันทชัยวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 2 กล่าวว่า “LawLAB ทำให้นิสิตได้เห็นภาพที่แท้จริงของกฎหมายในแง่ธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการเรียนในห้องเรียนอาจจะยังไม่เห็นภาพของงานที่นิสิตจะเข้าไปทำงานจริงๆ ว่านิสิตควรที่จะมีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 โครงการนี้ช่วยให้นิสิตมีมุมมองต่อธุรกิจและสังคมกว้างขวางขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้รับจริงๆ”

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ริเริ่มโครงการห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย (LawLAB) ขึ้น เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้ปัญหากฎหมายและการทำงานด้านกฎหมาย โดยเน้นกฎหมายที่กำลังเข้ามามีความสำคัญกับเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต LawLAB จึงเป็นแพลทฟอร์มการเรียนกฎหมายรูปแบบใหม่ของนิสิตจากการปฏิบัติจริงร่วมกับนักกฎหมายมืออาชีพ คณาจารย์ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ เป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

          ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการก่อตั้ง LawLAB  คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้นำร่องโครงการ LawLAB โดยเปิดเป็น LawLAB for Startup หรือห้องปฏิบัติการกฎหมายสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) เป็นห้องปฏิบัติการแรก ซึ่งกระบวนการการทำงานเริ่มจากนิสิตเข้ารับการอบรมความรู้เบื้องต้นในประเด็นกฎหมายสำหรับภาคธุรกิจ หลังจากนั้นนิสิตต้องทำงานร่วมกับ Startups แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสกัดประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่ภาคธุรกิจประสบอยู่มาวิเคราะห์ ค้นคว้า และหาคำตอบภายใต้การให้คำปรึกษาของโค้ชซึ่งเป็นทนายความผู้มีประสบการณ์ที่ทำงานในบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย แล้วนำเสนอแก่บริษัท Startups โครงการนำร่องในรุ่นแรกนี้มีนิสิตเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ทีม ประกอบด้วย นิสิต 19 คน ทนายความจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายจำนวน 10 แห่ง และ Startup อีกจำนวน 10 แห่ง  ซึ่งดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย เช่น แพลตฟอร์มการบริจาค ศูนย์แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิตอล แพลตฟอร์มมวยไทย หรือแอปพลิเคชั่นการเรียนภาษาโดยภาพเสมือนจริง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ

สำหรับในปีการศึกษา 2563 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้เปิดตัว LawLAB ในรูปแบบแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ได้มีแค่ LawLAB for Startups เท่านั้น โดยจะมีห้องปฏิบัติการหลายๆ ห้อง เพื่อให้นิสิตได้ทำงานในหัวข้อที่หลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทั้งนี้แต่ละห้องปฏิบัติการจะมีวิธีการและขั้นตอนการดำเนินงานแตกต่างกัน แต่ทุกห้องปฏิบัติการมุ่งให้นิสิตมีโอกาสทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนจริงๆ เพื่อเรียนรู้ปัญหา วิเคราะห์ ศึกษาค้นคว้า และหาทางแก้ไข โดยมีนักกฎหมายมืออาชีพ และคณาจารย์ ให้คำปรึกษาแนะนำและกำกับอย่างใกล้ชิด ผลงานที่นิสิตสร้างขึ้นจากการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน เป็นการนำความรู้ทางด้านกฎหมายไปใช้ประโยชน์จริง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า