ข่าวสารจุฬาฯ

พิธีเปิดโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาค 500 บาท ผลิตวัคซีนโควิด-19 จากใบพืช

เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมจุฬาฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับบริจาคทุนวิจัย 500 บาท จากคนไทย 1 ล้านคน เร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 จากใบพืชเพื่อเตรียมทดสอบในมนุษย์ได้ทันภายในเดือนมิถุนายน 2563  พร้อมเปิดตัว “ทีมไทยแลนด์” ร่วมพัฒนาวัคซีนสานฝันคนไทยมีวัคซีนใช้เองจากฝีมือคนไทย 100% คาดพร้อมใช้ปลายปี 2564

ในโอกาสนี้มีพิธีลงนามความร่วมมือวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซียป้องกันโรคจากไวรัสโควิด-19 ระหว่างองค์การเภสัชกรรม โดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง และบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด โดยนายมารุต บูรณะเศรษฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  เพื่อการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศใช้เองได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.มณฑิรา นพรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นสักขีพยาน   

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า “การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับคนไทยทั้งประเทศราว 66.5 ล้านคน นับเป็นเรื่องท้าทายแต่ก็จำเป็น ไม่ว่าจะต้องติดต่อขอจองซื้อจากต่างประเทศ สั่งซื้อนำเข้ามา หรือหากสามารถผลิตวัคซีนได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแล้ว ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการควบคู่กันไป ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จองซื้อและซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ไว้แล้ว จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับคนไทย 13 ล้านคน และยังได้สนับสนุน วางแผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากแหล่งอื่น โดยให้ความสำคัญสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตได้เองจากนักวิจัยไทยจากสถาบันต่าง ๆ ภายในประเทศที่ได้ผนึกกำลังกันเป็น “ทีมไทยแลนด์” ถือเป็นความหวัง เป็นความภูมิใจ และเป็นขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทยที่เราจะผลิตวัคซีนได้เองตั้งแต่ต้นน้ำเพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้การสนับสนุนทุกสรรพกำลังอย่างเต็มความสามารถผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยนี้สำเร็จลุล่วงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ประเทศของเราข้ามผ่านสถานการณ์อันเลวร้ายกลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว”

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมกล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาลัยได้ขานรับนโยบายของกระทรวงฯ อย่างรวดเร็วด้วยการตั้ง บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท Holding Company ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพจุฬาฯ จากการบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub)  มีผลงานนวัตกรรมเชิงประจักษ์ ช่วยชาติ ช่วยคนไทยออกมามากมายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะนวัตกรรมจากงานวิจัยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ และพร้อมก้าวไปอีกขั้นเพื่อผลิตวัคซีนนี้ได้เองภายในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” เพื่อดูแลพี่น้องคนไทยและประเทศไทยให้กลับมาหยัดยืนได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง ซึ่งความสำเร็จของการค้นคว้า วิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างความหวังให้กับคนไทยทั้งชาติสามารถก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปได้ในเร็ววัน ยังเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการพัฒนายาและวัคซีนให้กับประเทศไทย ต่อยอดเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย และจะสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศไทยได้อีกมาก”

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “การจัดตั้งบริษัท Holding Company ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่จุฬาฯ ขานรับและได้ดำเนินการภายใต้ชื่อ บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด และมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จึงรองรับและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และภาคีเครือข่าย “ทีมไทยแลนด์” ที่ร่วมลงนามประกาศความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประกอบด้วย องค์การเภสัชกรรม และ บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างก้าวกระโดดและทันต่อความต้องการของประเทศและคนไทย ผ่านโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” สนับสนุนนักวิจัยไทยค้นคว้าวัคซีนโควิด-19 ที่เราจะเริ่มเชื้อเชิญคนไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในทีมไทยแลนด์ไปด้วยกันกับเราด้วยการบริจาคเงินคนละ 500 บาท ให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อนำมาเป็นทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทยโดยคนไทยต่อไป โดยจะเริ่มบริจาคพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา0 9.00 น. เป็นต้นไป”

การบริจาคในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอตอบแทนน้ำใจผู้บริจาค โดยผู้บริจาคทุกท่านจะได้รับสิทธิส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยประเภทบุคคลสำหรับกรมธรรม์ฉบับใหม่จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ และในกรณีผลิตวัคซีนสำเร็จและพร้อมให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริจาคจะมีสิทธิจองซื้อวัคซีนได้ก่อนบุคคลทั่วไป แต่จะได้สิทธิหลังจากการให้ การจำหน่าย หรือการใช้วัคซีนให้แก่บุคคลอื่นใดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือรัฐบาลกำหนด

ขั้นตอนและช่องทางการรับบริจาควัคซีนเพื่อคนไทย

1. สแกน QR CODE เพื่อลงทะเบียนและรับสิทธิในการบริจาคที่ www.CUEnterprise.co.th ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 9.00 น.

2. สามารถเลือกช่องทางการบริจาคได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

2.1 ใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารใดก็ได้แสกน QR CODE เพื่อบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เมื่อเสร็จสิ้นการทำรายการจะได้รับ Bill Payment เป็นหลักฐาน

2.2 ทำรายการที่หน้าเคาเตอร์ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงยื่นบัตรประชาชนและแจ้งว่าบริจาคให้โครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” จะได้ Pay-in Slip เป็นหลักฐาน 

โดยรับบริจาคท่านละ 500 บาท จำนวน 1 ล้านสิทธิ (จำกัด 1 คนต่อ 1 สิทธิ)

โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยขอตอบแทนน้ำใจผู้บริจาคดังนี้

1. สิทธิส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยประเภทบุคคล เช่น สุขภาพ รถยนต์ อัคคีภัย ฯลฯ สำหรับกรมธรรม์ฉบับใหม่จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนลด 12% – 23%**  

2.   ในกรณีผลิตวัคซีนสำเร็จและพร้อมให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริจาคจะมีสิทธิจองซื้อวัคซีนได้ก่อนบุคคลทั่วไป แต่จะได้สิทธิ “หลังจาก” การให้ การจำหน่าย หรือการใช้วัคซีนให้แก่บุคคลอื่นใด ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือรัฐบาลกำหนด (หากมี)*** 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  โทร. 0-2576-5500

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า