รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
28 ธันวาคม 2563
ข่าวเด่น
ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและมหานครเชียงใหม่มาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ปัญหามลพิษฝุ่นนี้อยู่กับคนไทยมาไม่น้อยกว่า 20 ปีก่อนหน้านี้ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “จะแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล ต้องทำแบบนี้เท่านั้น” มีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ดังนี้
ปัจจุบันภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เช่น จะห้ามรถบรรทุกเข้าเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งจะใช้ระบบวันคู่วันคี่ให้รถส่วนบุคคลวิ่ง จะเปลี่ยนน้ำมันเป็นมาตรฐานใหม่ที่ลดมลพิษอากาศได้ จะห้ามเผาป่าและซากพืชเกษตร จะเข้มงวดกับโรงงาน จะเปลี่ยนรถของรัฐเป็นรถไฟฟ้า ฯลฯ มาตรการเหล่านี้แม้เรายังทำกันได้ไม่ดีนักแต่ก็ต้องเร่งทำและช่วยกันทำ แต่มาตรการบางอย่างที่พิจารณาทางเทคนิคแล้วทำไปก็ไม่ช่วยลดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ได้มากนัก เช่น การล้างถนน การติดเครื่องกรองฝุ่นในพื้นที่เปิดสาธารณะ การฉีดละอองน้ำบนยอดตึก การใช้โดรนบินขึ้นไปฉีดน้ำลงมา การใช้เครื่องฉีดพ่นน้ำจากพื้นขึ้นสู่อากาศ ก็ไม่ควรเสียเวลาไปทำ สู้เอาเวลา งบประมาณ รวมทั้งคนไปทำอย่างอื่นที่แก้และลดปัญหาได้จริงจะดีกว่า มีข้อสังเกตว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นี้ มักเป็นมาตรการในทางเทคนิควิศวกรรมเท่านั้น ในขณะที่ยังมีมิติอื่นอีกมากมายที่ต้องคิดพิจารณาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ แบบบูรณาการให้ครบทุกประเด็น การแก้ปัญหาจึงจะรอบคอบและเป็นไปได้จริง ซึ่งอยากจะขอนำเสนอให้พิจารณาการแก้ปัญหาแบบองค์รวม ประกอบไปด้วย 1) ผู้ได้รับผลกระทบ 2) ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา 3) ผู้แก้ปัญหา 4) ผู้ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง 5) ผู้สร้างมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ 6) ผู้ศึกษาวิจัยหาสาเหตุและมาตรการแก้ไขป้องกัน7) ผู้กำหนดนโยบาย และ 8) ภาคประชาชน
ผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
ผู้ได้รับผลกระทบมีอยู่หลายภาคส่วนตั้งแต่ สิ่งแวดล้อมเลวลง (ดูประกอบกับตัวเลขในภาพ) อากาศเป็นพิษ หายใจไม่สะดวก หายใจเข้าไปแล้วก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ จนถึงโรคหัวใจ ซึ่งมีผลเสียต่อ สุขภาพที่รัฐต้องเสียค่ารักษาพยาบาลคนจำนวนมากเป็นเงินมหาศาลในแต่ละปี รวมทั้งหากมองในมุมที่ประชากรของประเทศจะเป็นพลเมืองที่เจ็บออดๆ แอดๆ ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิผลและเต็มประสิทธิภาพ ก็จะมีผลต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ ทำให้ GDP (หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ลดลง นอกจากนี้หากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานอากาศสะอาดอยู่บ่อยๆ ก็จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในลำดับต้นๆของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อได้ข้อมูลเชิงลบที่หาได้ง่ายมากในอินเทอร์เน็ตก็คงลังเลที่จะมาเมืองไทยและเลือกไปเยือนประเทศอื่นที่คุณภาพอากาศดีกว่าไทย นอกจากนี้เรื่องการกีฬาก็จะได้รับผลกระทบทางลบด้วยเข่นกัน การฝึกซ้อมของนักกีฬาไทยจะทำได้ไม่เต็มที่ สมรรถภาพปอดของนักกีฬาจะลดลง เมื่อไปแข่งในระดับนานาชาติก็จะสู้ต่างชาติไม่ได้และไม่สามารถนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของคนต่างชาติที่มีต่อไทย ทั้งนี้ข้อคิดหรือข้อสรุปเช่นว่านี้มาจากฐานคิดที่ว่าประเทศที่เด่นทางกีฬาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแทบทั้งสิ้น
และเมื่อผลเสียมีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สุดท้ายปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็จะนำไปสู่สภาพการณ์ที่เคยมีคนถากถางสังคมไทยว่าเป็น สังคมแห่ง “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลยไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด ดังนั้น เราจึงไม่มีทางเลือกเป็นอื่นได้ นอกจากต้องมาร่วมใจกันหาวิธีการลดหรือแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาฝุ่น PM2.5
ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้ผ่านสื่อมามากแล้ว ว่าต้นกำเนิดของฝุ่น PM2.5 มาจากแหล่งใหญ่ๆ 3 ส่วน คือ การคมนาคมขนส่ง การเผาซากพืช เผาป่า และโรงงานอุตสาหกรรม โดยอาจมีแหล่งย่อยอื่นๆอยู่บ้าง เช่น การพัดพามาจากต่างพื้นที่ (เช่น จากปริมณฑลเข้ากรุงเทพฯ จากอินโดนีเซียเข้าภาคใต้ จากกัมพูชาเข้าภาคตะวันออก) และจากการผลิตในภาคพลังงาน
ผู้แก้ปัญหาทางตรงก็คือผู้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา
เมื่อเรารู้แล้วว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ใด วิธีที่ดีที่สุดคือตรงเข้าไปแก้ปัญหาที่จุดนั้น ซึ่งมาตรการต่างๆที่คิดและนำเสนอกันขึ้นมาเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ก็ได้มีการนำไปจัดทำเป็นแผนทั้งในระยะเร่งด่วนช่วงวิกฤติ ระยะกลางและระยะยาว โดยมุ่งหวังที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้สนใจอาจหาข้อมูลรายละเอียดของแผนต่างๆได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงทางเทคนิคซึ่งไม่เพียงพอ จะต้องพิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย
ผู้ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง
หากไม่นับองค์กรบริหารระดับนโยบายชาติ เช่น คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว หน่วยงานที่อยู่กับพื้นที่และใกล้ชิดกับปัญหาที่สุดก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา หน่วยงานเหล่านี้จะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงาน และนำมาตรการต่างๆ มาบังคับให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ของตัวเอง โดยเจ้าพนักงานของ อปท.จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปัญหา สาเหตุของปัญหา วิธีการแก้ไข มาตรการที่จำเป็นต้องทำ สิ่งใดที่จะต้องทำก่อนหลัง สิ่งใดที่ทำแล้วได้ผลก็เร่งทำ อะไรที่ทำแล้วไม่ได้ผล ก็อย่าไปเสียเวลาทำ โดยต้องเชื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (ที่โกหกไม่ได้เฉกเช่นในกรณีการระบาดของโควิด-19)จากฝ่ายวิชาการป็นหลักการพื้นฐาน ทั้งนี้จะต้องทำงานควบคู่ไปกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องจราจร และการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ซึ่งต้องยอมรับว่างานในส่วนนี้เรายังทำได้ไม่ดีนัก โดยอาจต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งแรงกดดันทางสังคม (กิจกรรมนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มาตรการต่างๆ ถูกนำไปใช้จริงได้อย่างทันท่วงทีที่สุดในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน)ตลอดจนคำพิพากษาของศาลมาช่วยผลักดันให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นจริงและทันกาล
ผู้สร้างมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ/ เพิ่มต้นทุน
ยังมีอีกสองมาตรการที่น่าจะนำมาใช้ในการจัดการกับฝุ่น PM2.5 คือมาตรการด้านการคลังและการพาณิชย์ (ทั้งนี้มิได้หมายเฉพาะแต่งานในสองกระทรวงนี้เท่านั้น) เช่น การลดภาษีสำหรับการนำเข้าอุปกรณ์ที่จำเป็นในการลดฝุ่นที่ประเทศไทยยังทำเองไม่ได้ การส่งเสริมและสนับสนุนด้านภาษีหรือแรงจูงใจอื่นๆ ให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่และ/หรือยานพาหนะไฟฟ้า(ทั้งในระบบ รถ ราง เรือ)ได้อย่างรวดเร็วและทำได้ในราคาที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ การสนับสนุนภาคประชาชนผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชาวบ้าน สามารถผลิตและซ่อมได้เองในราคาเยา การทำให้สินค้าที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น (เช่น อ้อยที่ได้มาจากการเผาไร่) เป็นต้น
มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่เรียกว่าพลังอ่อน หรือ soft power ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก โดยภาครัฐต้องคิดในรูปแบบทฤษฎี “ขาดทุนคือกำไร” คือต้องยอมเสียรายได้ในส่วนนี้บ้างเพื่อที่จะไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคมในอนาคต
ผู้ศึกษาวิจัยและหาข้อเสนอแนะสำหรับปัญหา PM2.5
สิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นล้วนเกี่ยวพันกันและกัน แต่การเกี่ยวพันกันที่ว่ามันซับซ้อนเกินกว่าที่จะมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งมองได้อย่างครบรอบด้าน จึงควรมีหน่วยงานวิชาการที่รวมเอานักคิด นักเทคโนโลยี นักสังคม นักเศรษฐศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักสาธารณสุข นักปกครอง ฯลฯมาช่วยกันระดมสมอง และสังเคราะห์จัดทำเป็นภาพรวมของโจทย์วิจัยภาพใหญ่ โดยเอาประเด็นต่างๆ มาบูรณาการและคิดไปพร้อมกัน มิใช่เพียงศึกษาหามาตรการทางวิศวกรรมมาแก้ปัญหาดังที่ทำกันมาแต่เดิม จากนั้นจึงแบ่งย่อยออกเป็นโครงการที่เล็กลงให้นักวิจัยจากต่างมหาวิทยาลัย ต่างสถาบัน ต่างหน่วยงาน ไปทำการวิจัยจนได้ข้อมูลมากพอที่จะนำมาสรุปรวม รวมทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นภาพใหญ่ เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบาย แผน แผนงาน และมาตรการ รวมทั้งมาตรฐาน ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ อปท.นำไปถือปฏิบัติต่อไป
นอกจากนี้ควรมีการจัดหลักสูตรการศึกษาที่สอนให้ทั้งระดับนักเรียนและนักศึกษา เข้าใจในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นการเชื่อมโยงมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างการยอมรับของสาธารณะให้มีมากขึ้นโดยเฉพาะกับคนรุ่นต่อไปในอนาคตของประเทศ
ผู้กำหนดนโยบายด้านฝุ่น PM2.5
จากข้อสรุปที่ได้มาจากการศึกษาวิจัยและสังเคราะห์เป็นข้อเสนอแนะที่ได้กล่าวมานี้ ต่อไปเป็นหน้าที่ของภาคนโยบายซึ่งหมายถึงตั้งแต่ระดับบน เช่น คณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปจนถึงระดับกลาง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องนำข้อเสนอเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติและระดับปฏิบัติการ ตลอดจนต้องออกเป็นแผนและข้อกำหนด รวมทั้งมีการติดตามแผนเหล่านั้นอย่างเข้มงวด โดยต้องย้ำหลักคิด “ขาดทุนคือกำไร” มาเป็นฐานในการกำหนดนโยบายเหล่านี้
ภาคประชาชน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการทำงานอย่างมอง 360 องศาในรูปแบบ“บนลงล่าง” ใช้ผู้รู้และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ มาช่วยกันกำหนดแผนงานที่จะให้หน่วยปฏิบัตินำไปปฏิบัติ แต่แค่นั้นคงได้ผลเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งต้องมาจากพวกเรากันเองที่จะต้องร่วมมือกันช่วยลดปัญหานี้ในลักษณะการมีส่วนร่วมแบบ“ล่างขึ้นบน” ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันทางสังคมให้เกิดการงดการเผา โรงงานต้องเข้มงวดกับตัวเอง ในการไม่ปล่อยสารมลพิษอากาศออกมา หรือประชาชนก็ต้องหัดใช้การเดินทางทางเลือก เช่น ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ใช้การเดินหรือจักรยานเป็นพาหนะในการเชื่อมต่อกับระบบรถ ราง เรือ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อใครที่ไหน แต่เป็นการทำเพื่อตัวเราเอง เพื่อลูกหลานอันเป็นที่รักของเรา และเพื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภัย PM2.5 ซึ่งเราในที่นี้คือจตุภาคีหรือข้าราชการ นักวิชาการ ผู้ประกอบการเอกชนและประชาชนนั่นเอง
จุฬาฯ จัดงาน “สยามานุสสติ ผสาน…ปณิธาน” การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมโดยนิสิตจุฬาฯ
นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Spark the Local 2024 by PTT
บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เปิดอบรมหลักสูตร “เครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อม”
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ต้อนรับผู้แทนจาก Indiana University สหรัฐอเมริกา เจรจาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ
ศศินทร์จัด Open House แนะนำหลักสูตรต่างๆ วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567
30 พ.ย. 67 เวลา 10.00 น.
ศศินทร์ จุฬาฯ
เชิญฟังการบรรยาย Chula Lunch Talk หัวข้อ “Smart VET-Learning: นวัตกรรม AR สู่การศึกษาสัตวแพทย์ยุคดิจิทัล”
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้