ข่าวสารจุฬาฯ

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา
สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ฉบับที่ ๒)

—————————————

            ตามที่ได้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ นั้น

           เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ในเขตที่ตั้งของมหาวิทยาลัยได้คลี่คลายลงตามลำดับแล้ว เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ ในสถานการณ์ดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเรียนรู้ของนิสิตในยุคปกติใหม่ และคงไว้ซึ่งมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรกำหนดแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ฉบับที่ ๒) ไว้ดังต่อไปนี้

            ข้อ ๑ ด้านการเรียนการสอน

                        (๑) รายวิชาภาคทฤษฎีหรือสัมมนา ให้ผู้สอนเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยให้มีทั้งรูปแบบที่นิสิตสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) ร่วมกับรูปแบบที่นิสิตทั้งชั้นเรียนได้มีโอกาสอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกัน (Synchronous Learning) ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชา

                            (ก) กรณี Asynchronous ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิตไว้อย่างชัดเจน

                            (ข) กรณี Synchronous ไม่ควรเป็นการสอนจากอาจารย์เพียงทางเดียว แต่ควรเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์ เช่น การอภิปราย การแก้โจทย์ปัญหา การเรียนรู้แบบ Problem-based Learning

                        (๒) รายวิชาภาคปฏิบัติ ให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยเน้นการนำระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System) เช่น MyCourseville Blackboard หรือ Google Classroom มาใช้ในการบริหารจัดการรายวิชา ร่วมกับการฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง ทั้งนี้ให้ผู้สอนพิจารณาสัดส่วนความจำเป็นและเกิดความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน

                             รายวิชาภาคปฏิบัติหมายความรวมถึงรายวิชาที่ต้องมีกิจกรรมการเรียนแบบทักษะปฏิบัติประเภทเดี่ยวหรือกลุ่ม (เช่น วิชา Studio, Skill, Perform, Ensemble) รายวิชาทางคลินิก หรือรายวิชาที่มีลักษณะการเรียนการสอนในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

                        (๓) กรณีการจัดการอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกันผ่านระบบเสมือนจริง (Virtual Learning) เช่น Zoom MSTeam หรือ Google Meet ให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติของรายวิชา หากมีความจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนนอกเวลาปกติ ให้ผู้สอนตกลงวัน เวลาในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมร่วมกับนิสิต

            ข้อ ๒ ด้านการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศ ของแต่ละหลักสูตร

                        (๑) ส่วนงานสามารถพิจารณาให้มีรายวิชาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของ            แต่ละหลักสูตรได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้

                        (๒) ส่วนงานสามารถพิจารณายกเลิกรายวิชาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรที่มิได้กำหนดไว้ใน มคอ. ๑ ได้ แต่ให้มีการเรียนการสอนหรือกิจกรรมรูปแบบอื่นทดแทน เพื่อให้ผลลัพธ์ในการจัดการเรียนการสอนและสมรรถนะเป็นไปตามเป้าประสงค์ของหลักสูตรอย่างครบถ้วน

                        (๓) ส่วนงานสามารถพิจารณาปรับระยะเวลาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรได้โดยดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

                                    (ก) ลดระยะเวลาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานให้กระชับและสั้นลง ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์

                                    (ข) แยกหรือกระจายการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานออกไปเป็นหลายระยะตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ให้กระทบกระเทือนหรือมีความสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของนิสิตที่ฝึกงาน

                                    (ค) สลับการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงาน กับรายวิชาปกติในแผนการจัดการศึกษาเดิมที่ออกแบบและระบุไว้ใน มคอ. ๒

                        (๔) ส่วนงานสามารถพิจารณาปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรได้ตามความเหมาะสม โดยประสานกับสถานประกอบการหรือองค์กรวิชาชีพเพื่อการส่งนิสิตเข้าฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงาน

            การยกเลิก การปรับระยะเวลา และการปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของ   แต่ละหลักสูตร ต้องดำเนินการไม่ให้กระทบต่อเกณฑ์มาตรฐานหรือข้อกำหนดของแต่ละสภาวิชาชีพ

            สำหรับกิจกรรมหรือโครงการด้านวิชาการใด ๆ ที่มีนิสิตหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีนิสิตหรือบุคลากรจากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

            ข้อ ๓ ด้านการวัดและประเมินผล

      ส่วนงานสามารถพิจารณาจัดให้มีการสอบหรือการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรภายใต้สังกัดได้ โดยให้พิจารณาถึงความจำเป็น จำนวนผู้สอบต่อห้องสอบรวมทั้งความพร้อมและความสามารถในการจัดการรูปแบบที่ยืดหยุ่น

            ข้อ ๔ กรณีมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ โดยใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัย ส่วนงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้ โดยอย่างน้อยต้องมีมาตรการดังต่อไปนี้

                        (๑) ให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและแสดงตนตามที่กำหนดก่อนเข้าใช้สถานที่หรืออาคารเรียน

                        (๒) ให้ผู้เรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มีกิจกรรมการเรียนการสอน

                        (๓) ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม

                        (๔) ให้มีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคและความสะอาดอย่างเพียงพอ

                        (๕) ให้มีการทำความสะอาดสถานที่จัดการเรียนการสอนและอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นระยะ

                        ผู้สอนสามารถถอดหน้ากากอนามัยขณะสอนได้ แต่ส่วนงานต้องจัดให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกัน เช่น ไมโครโฟน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเรียนการสอน

            ข้อ ๕ ให้ส่วนงานกำหนดผู้รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ โดยให้รวมถึงกิจกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนการสอน เช่น การปฐมนิเทศนิสิต การสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน และให้จัดระบบทางกายภาพและด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประกาศหรือคำสั่งของราชการและมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด

            ข้อ ๖ หัวหน้าส่วนงานสามารถดำเนินการใด ๆ วินิจฉัยสั่งการตามที่เห็นสมควรรวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้

            ข้อ ๗ กรณีที่มีปัญหาหรือเกิดข้อขัดข้องในการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายวินิจฉัยสั่งการ

            หากสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงเป็นประการใด มหาวิทยาลัยจะประกาศให้ทราบโดยเร็ว

ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

(ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)

อธิการบดี

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า