รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
7 พฤษภาคม 2564
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข่าวเด่น
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง ข้อปฏิบัติในการสอบของนิสิตพ.ศ. ๒๕๖๔
————————
โดยที่เป็นการสมควรให้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อปฏิบัติในการสอบของนิสิต เพื่อกำหนดข้อปฏิบัติและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการสอบของนิสิตในรูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๔ แห่งข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย การสอบของนิสิต พ.ศ. ๒๕๖๔ จึงให้มีประกาศไว้ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ข้อปฏิบัติในการสอบของนิสิต พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“นิสิต” หมายความว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“การสอบ” หมายความว่า การทำข้อสอบในห้องสอบ การนำข้อสอบไปทำนอกห้องสอบ การสอบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอย่างอื่นตามที่ผู้สอนกำหนด เพื่อวัดและประเมินผลการศึกษา
“ส่วนงาน” หมายความว่า ส่วนงานหรือหน่วยงานที่มีการจัดการเรียนการสอนนิสิต
“ผู้ควบคุมการสอบ” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากส่วนงานให้เป็นผู้ควบคุมการสอบ
ข้อ ๔ ให้นิสิตเข้าสอบตามวัน เวลา สถานที่ และตามรูปแบบหรือวิธีการที่ผู้สอน ส่วนงานหรือมหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๕ กรณีสอบในห้องสอบ ให้นิสิตแสดงบัตรประจำตัวนิสิต หรือเอกสารอื่นใดของนิสิตที่ทางราชการออกให้ซึ่งระบุเลขประจำตัวประชาชน ทั้งนี้ ให้ผู้ควบคุมการสอบตรวจสอบตัวตนของนิสิตทุกครั้งที่เข้าสอบ
นิสิตชาวต่างประเทศอาจใช้หนังสือเดินทางแสดงแก่ผู้ควบคุมการสอบตามวรรคหนึ่งก็ได้
กรณีสอบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้นิสิตแสดงตนก่อนเข้าสอบตามรูปแบบหรือวิธีการที่ผู้สอน ส่วนงานหรือมหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ ๖ ในการสอบในห้องสอบ ให้นิสิตปฏิบัติดังนี้
(๑) นิสิตต้องแต่งกายเข้าสอบด้วยชุดเครื่องแบบปกติหรือชุดสุภาพ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศว่าด้วยการแต่งกายของนิสิตที่ใช้บังคับอยู่ ณ ขณะนั้น
(๒) นิสิตต้องเข้าห้องสอบเมื่อมีสัญญาณเข้าห้องสอบหรือตามเวลาที่ผู้ควบคุมการสอบกำหนด
(ก) กรณีมาถึงห้องสอบสายเกินกว่าสิบห้านาทีแต่ไม่เกินสามสิบนาทีนับแต่เวลาเริ่มต้น การสอบ นิสิตจะเข้าห้องสอบได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ โดยนิสิตไม่ได้รับการขยายเวลาสอบ
(ข) กรณีมาถึงห้องสอบสายเกินกว่าสามสิบนาทีนับแต่เวลาเริ่มต้นการสอบ นิสิตจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบ นิสิตต้องรีบไปรายงานตัวต่อประธานกรรมการสอบประจำปีการศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลประกอบการมาสายเป็นลายลักษณ์อักษร
(๓) เมื่อเข้าห้องสอบเรียบร้อยแล้ว ให้นิสิตเขียนชื่อ นามสกุล และรหัสประจำตัวนิสิตลงบนสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบให้ครบถ้วนและชัดเจนก่อนเริ่มทำการสอบ ผู้ควบคุมการสอบอาจให้นิสิตระบุข้อความอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วยก็ได้
(๔) ระหว่างการสอบ นิสิตต้องทำข้อสอบด้วยตนเอง และห้ามมิให้รับความช่วยเหลือเพื่อให้ได้มา ซึ่งคำตอบในทุกรูปแบบจากผู้อื่น ห้ามมิให้ผู้อื่นทำข้อสอบให้ ห้ามมิให้ช่วยเหลือผู้เข้าสอบอื่นด้วยวิธีการใด ๆ ห้ามมิให้ติดต่อกับผู้อื่นยกเว้นผู้ควบคุมการสอบ และห้ามมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนผู้อื่นระหว่างการสอบ
(๕) นิสิตต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ระบุไว้ในข้อสอบ และเมื่อส่งสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบแล้ว นิสิตจะขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อความใด ๆ ในสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบอีกมิได้
(๖) กรณีขอสมุดคำตอบ กระดาษคำตอบ หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการสอบเพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย เกี่ยวกับการสอบ ให้นิสิตติดต่อกับผู้ควบคุมการสอบเท่านั้น
(๗) ห้ามมิให้นิสิตนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อสอบ สมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบออกจากห้องสอบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ
(๘) นิสิตออกจากห้องสอบได้ก็ต่อเมื่อเวลาสอบผ่านไปแล้วสี่สิบห้านาทีนับแต่เวลาเริ่มต้นการสอบ และผู้ควบคุมการสอบเก็บสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบเรียบร้อยแล้ว
(๙) กรณีออกจากห้องสอบเป็นการชั่วคราว นิสิตต้องได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ส่วนงานกำหนดหรืออยู่ในดุลพินิจของผู้ควบคุมการสอบ
(๑๐) กรณีประสงค์จะส่งสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบก่อนหมดเวลาสอบ ให้นิสิตยกมือขึ้นและรอจนกว่าผู้ควบคุมการสอบเก็บสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบเรียบร้อยแล้ว จึงออกจากห้องสอบได้
(๑๑) เมื่อหมดเวลาสอบ ห้ามมิให้นิสิตทำข้อสอบต่อไปอีก ให้วางสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบไว้บนโต๊ะสอบ และรอจนกว่าผู้ควบคุมการสอบเก็บสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบเรียบร้อยแล้ว จึงออกจากห้องสอบได้ กรณีมีสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบที่ได้รับเพิ่มเติม ให้สอดไว้ในสมุดคำตอบเล่มแรกหรือกระดาษคำตอบชุดแรก
(๑๒) เมื่อส่งสมุดคำตอบหรือกระดาษคำตอบแก่ผู้ควบคุมการสอบแล้ว นิสิตต้องรีบออกไปจากบริเวณห้องสอบ และไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการสอบ
ข้อ ๗ ในการสอบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้นิสิตปฏิบัติดังนี้
(๑) นิสิตต้องแสดงตนเพื่อเข้าสู่โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันตามวัน เวลาและช่องทางที่ผู้สอน ส่วนงานหรือมหาวิทยาลัยกำหนด
(ก) กรณีเข้าสอบสายเกินกว่าสิบห้านาทีแต่ไม่เกินสามสิบนาทีนับแต่เวลาเริ่มต้นการสอบ นิสิตจะเข้าสอบได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ โดยนิสิตไม่ได้รับการขยายเวลาสอบ
(ข) กรณีเข้าสอบสายเกินกว่าสามสิบนาทีนับแต่เวลาเริ่มต้นการสอบ นิสิตจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ และถือว่าขาดสอบ นิสิตต้องรีบแจ้งไปยังประธานกรรมการสอบประจำปีการศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลประกอบการเข้าสอบสายทันทีที่สามารถกระทำได้
(๒) ระหว่างการสอบ นิสิตต้องทำข้อสอบด้วยตนเอง และห้ามมิให้รับความช่วยเหลือเพื่อให้ได้มา ซึ่งคำตอบในทุกรูปแบบจากผู้อื่น ห้ามมิให้ผู้อื่นทำข้อสอบให้ ห้ามมิให้ช่วยเหลือผู้เข้าสอบคนอื่นด้วยวิธีการใด ๆ ห้ามมิให้ติดต่อกับผู้อื่นยกเว้นผู้ควบคุมการสอบ และห้ามมิให้กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนผู้อื่นระหว่างการสอบ
(๓) นิสิตต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ระบุไว้ในข้อสอบ และเมื่อส่งคำตอบแล้ว นิสิตจะขอแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงคำตอบอีกมิได้
(๔) ห้ามมิให้เผยแพร่หรือส่งต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อสอบ คำตอบ หรือแนวคำตอบโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ
(๕) นิสิตจะออกจากโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่ใช้ในการสอบได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมการสอบ
(๖) กรณีออกจากการสอบเนื่องจากโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่ใช้ในการสอบ เครื่องมือ สัญญาณ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ขัดข้องกท็กทรอนิก ให้นิสิตรีบแจ้งผู้ควบคุมการสอบทันทีที่สามารถกระทำได้
ข้อ ๘ กรณีที่นำข้อสอบไปทำนอกห้องสอบหรือสอบโดยวิธีการอย่างอื่นตามที่ผู้สอนกำหนด ให้นิสิตปฏิบัติตามคำสั่งของผู้สอนโดยเคร่งครัด
ข้อ ๙ การสอบของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษานอกจากการสอบตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการสอบในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่ใช้บังคับอยู่ ณ ขณะนั้น
ข้อ ๑๐ นิสิตที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามความในข้อ ๔ หรือข้อ ๕ ไม่มีสิทธิ์เข้าสอบ
ข้อ ๑๑ นิสิตที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามความในข้อ ๖ ข้อ ๗ หรือข้อ ๘ อาจถูกดำเนินการตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศมหาวิทยาลัย ประกาศส่วนงาน แนวปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานกำหนด หรือตามที่ผู้สอนพิจารณาเห็นสมควร ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องเหมาะสมและได้สัดส่วนกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามความในข้อนั้น ๆ
ข้อ ๑๒ ให้หัวหน้าส่วนงานดำเนินการและวินิจฉัยสั่งการให้เป็นไปตามประกาศนี้
ในกรณีที่เห็นสมควร หัวหน้าส่วนงานอาจกำหนดรายละเอียดหรือแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในประกาศนี้
ข้อ ๑๓ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ในกรณีที่ต้องมีการตีความหรือมีปัญหาข้อขัดข้องในการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยหรือสั่งการได้ตามสมควร
ประกาศ ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)
อธิการบดี
นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Spark the Local 2024 by PTT
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ต้อนรับผู้แทนจาก Indiana University สหรัฐอเมริกา เจรจาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ
ศศินทร์จัด Open House แนะนำหลักสูตรต่างๆ วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567
30 พ.ย. 67 เวลา 10.00 น.
ศศินทร์ จุฬาฯ
เชิญฟังการบรรยาย Chula Lunch Talk หัวข้อ “Smart VET-Learning: นวัตกรรม AR สู่การศึกษาสัตวแพทย์ยุคดิจิทัล”
ครุศาสตร์ จุฬาฯ เชิญร่วมสองกิจกรรมโครงการ “เล่นเพลินสำหรับเด็กปฐมวัย” “นิทานฟังเพลิน” และ “Happy Play Day”
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปอมท.” ประจำปี 2567
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้