ข่าวสารจุฬาฯ

“Hear to Heal” คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ให้คำปรึกษาทางออนไลน์ คลายปัญหาสุขภาพจิตฝ่าวิกฤตโควิด-19

ปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนักทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเรามีเพื่อนคิด เพื่อนคุยที่ช่วยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับหลายๆ คนที่กำลังขาดที่พึ่งทางใจ

            ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เปิดเผยว่าศูนย์สุขภาวะทางจิตให้บริการคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปผ่านทางออนไลน์ ผ่านทางเพจ Hear to Heal  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เพื่อขยายระบบการให้บริการวิชาการเชิงจิตวิทยาให้เข้าถึงประชาชนทั่วไปได้มากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

            “คณะจิตวิทยามีความพร้อมในการให้บริการ มีนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มากประสบการณ์และความชำนาญในด้านต่างๆ เทียบได้กับมาตรฐานระดับนานาชาติ มีทีมสนับสนุน (supervision) ซึ่งรวบรวมปัญหาของผู้ที่เข้ามารับคำปรึกษาว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาทำเป็นข้อมูลสนับสนุนในการให้ความรู้และให้ข้อมูลเชิงป้องกัน ยิ่งมีผู้เข้ามารับบริการมากเท่าใดก็ยิ่งช่วยพัฒนาระบบและช่วยส่งเสริมคุณภาพจิตของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังรับปรึกษาปัญหาในระดับลึกกับผู้เชี่ยวชาญในระดับเฉพาะเจาะจงอีกด้วย” ผศ.ดร.ณัฐสุดากล่าว

ขั้นตอนการขอรับคำปรึกษากับ Hear to Heal เพียงสแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนทาง line จะมีเจ้าหน้าที่ซักถามประเด็นปัญหาและนัดหมาย หรืออีกวิธีหนึ่งสามารถติดต่อผ่านทางFacebook: Hear to Heal แล้วสแกน QR Code ก็สามารถเข้ามารับบริการได้เช่นกัน ในอนาคตจะมีช่องทางใหม่ ในการให้บริการผ่านทางเว็บไซต์อีกด้วย

หลังจากเปิดให้บริการมาเป็นเวลา 1 เดือน มีผู้มารับบริการ 30 – 50 คนต่อวัน ช่วงเวลาที่มีผู้มาใช้บริการมากที่สุดจะเป็นช่วงเย็น กลุ่มที่มารับบริการจะเป็นนิสิต นักศึกษา คนวัยทำงาน ส่วนใหญ่จะมาขอคำปรึกษาปัญหาทางจิตใจ ความไม่สบายใจ และปัญหาซึมเศร้า

ทั้งนี้ในช่วงที่จุฬาฯ เปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม คณะจิตวิทยาได้ให้บริการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแก่ผู้ป่วยผ่านทางออนไลน์ สำหรับนิสิตจุฬาฯ พูดคุยกับนักจิตวิทยาผ่านทาง Mild Talk โทร. 085-042-2626 และบุคลากรจุฬาฯ ผ่านสายด่วนเยียวยาจิตใจ Chula Care Hotline โทร.098-401-9161

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ฝากคำแนะนำในการลดความเครียด ความวิตกกังวลจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า “สถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ดูเหมือนจะหนักหนาในความรู้สึกของทุกคน ทำให้เกิดความเครียดความรู้สึกอ่อนล้า หมดความหวังกำลังใจ อยากให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะเช่นนี้มีกำลังใจที่จะสู้ แม้จะยังกลับมาอยู่ที่เดิมไม่ได้ ก็อยากให้มองว่าสิ่งที่เราได้ทำเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย ควรปลอบโยนตัวเอง  รวมถึงคนรอบข้าง อย่ามองแต่สิ่งที่หายไปซึ่งจะยิ่งทำให้หดหู่ ลองหายใจลึกๆ กลับมามองสิ่งดีๆ ที่ยังอยู่ในปัจจุบันจะทำให้มีกำลังใจมากขึ้น อย่างน้อยสิ่งที่เรายังมีอยู่ก็คือความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ขอให้ทุกคนอดทนและสู้ต่อไปด้วยกันก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี”

“ขอเชิญชวนผู้ที่ประสบปัญหาทางด้านจิตใจมาพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นกับ Hear to Heal บริการนี้่เหมือนเครื่องช่วยพยุงจิตใจ เป็นเพื่อนช่วยคุย ช่วยคิด ช่วยประคองให้เราผ่านภาวะพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ ควรหันมาดูแลตัวเอง หาแนวทางในการจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพใจ ดีกว่าที่ปล่อยให้เกิดความไม่สบายใจ คับอกคับใจ จนกระทั่งเกิดปัญหาทางจิตใจแล้วถึงมาแก้ไข ควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวในที่สุด

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า