ข่าวสารจุฬาฯ

ถอดรหัสจุฬาฯ ผงาดมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนระดับโลก อันดับ 1 ของเอเชีย

รองอธิการบดีจุฬาฯ เผย 4 ปัจจัยสำคัญนำจุฬาฯ ผงาดเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน THE Impact Rankings ปี 2021 อันดับที่ 1 ของเอเชีย อันดับที่ 23 ของโลก เชื่อมั่นพลังคณาจารย์และนิสิตจุฬาฯ สร้างสรรค์งานวิจัยสร้างผลกระทบสูงต่อสังคมไทยและสังคมโลก

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและ
กำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาฯ

            รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE Impact Rankings ปี 2021 ซึ่งจุฬาฯ ครองอันดับที่ 1 ของเอเชีย อันดับที่ 23 ของโลก ถือเป็นอันดับที่สูงที่สุด ที่มหาวิทยาลัยไทยเคยได้รับในการจัดอันดับที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกด้านมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ผลการจัดอันดับครั้งนี้เป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนถึงคุณภาพมหาวิทยาลัยในมุมมองของนานาชาติ

            นอกเหนือจาก QS World University Rankings ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่จุฬาฯ ครองอันดับ 1 ของประเทศไทยมาโดยตลอดแล้ว กระจกอีกบานหนึ่งที่จุฬาฯ ให้ความสำคัญคือ THE Impact Rankings ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน โดยในปีนี้มีมหาวิทยาลัย 1,115 แห่งทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับ

            รศ.ดร.ณัฐชาเผยถึงความสำเร็จครั้งสำคัญของจุฬาฯ ใน THE Impact Rankings 2021 ว่าเกิดจากการเตรียมการของมหาวิทยาลัยมายาวนาน โดยสภามหาวิทยาลัยได้ให้นโยบายสนับสนุน และอธิการบดีจุฬาฯ ได้กำหนดเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในการก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย Top 3 ในอาเซียนภายในปี 2024  รวมทั้งมีการตั้ง SDG Working Team ทำการศึกษาถึงเกณฑ์การวัดผลอย่างละเอียดของ THE Impact Rankings 

            “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาชาติมีทั้งสิ้น 17 ข้อ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยครั้งนี้จุฬาฯ เลือกส่งข้อมูลเข้าจัดอันดับใน SDG 9 ข้อ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ และจุฬาฯ มีผลงานที่มีความโดดเด่นระดับโลก เมื่อคำนวณคะแนนแล้วคะแนนรวมของจุฬาฯ ในปีนี้สูงมาก ติดอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 23 ของโลกโดยคะแนนที่ดีที่สุดของจุฬาฯ คือ SDG 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG 9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) SDG 15 (ระบบนิเวศบนบก)” รศ.ดร.ณัฐชา อธิบาย

            เบื้องหลังความสำเร็จของจุฬาฯ ที่สามารถครองอันดับ 1 ในเอเชียและอันดับ 23 ของโลก   มาจาก 4 ปัจจัยหลักดังนี้

            1. การวางกลยุทธ์ (Strategy) สร้างความเข้าใจในเรื่องเกณฑ์ SDG ทั้ง 17 ข้อ วิธีวัดคุณภาพมหาวิทยาลัยของ THE Impact Rankings และกติกาการคำนวณ ซึ่งการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย THE Impact Rankings สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคือ “การเป็นผู้นำการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งดำเนินการผ่าน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญของจุฬาฯ ได้แก่ การสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Future Leaders) การสร้างผลงานวิจัย นวัตกรรมที่มีประโยชน์สูงเพื่อสังคม (Impactful Research and innovation) และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainability)

            2. การวิเคราะห์ Impact Content ได้คัดเลือกผลงานของคณาจารย์และนิสิตที่มีผลกระทบสูงในระดับโลก มีการอ้างอิงในวงวิชาการต่างชาติมาก มีการเชื่อมโยงกับสังคมและในระดับชาติ นำเสนอแก่ THE Impact Rankings

            3. การประสานพลังจุฬาฯ ในการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย อธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะ หน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผลงานวิจัย นวัตกรรมจุฬาฯ ที่โดดเด่นอย่างแท้จริง

            4. การเล่าเรื่อง (Storytelling) ผนวกเนื้อหาข้อมูลงานวิจัย นวัตกรรมจุฬาฯ เรียบเรียงเป็นเรื่องราว    ที่น่าสนใจ และสื่อสารออกไปว่างานวิจัยและนวัตกรรมนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร

            รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวว่า ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย THE Impact Rankings ทำให้รับรู้ถึงจุดแข็งของจุฬาฯ  และจุดที่ควรเพิ่มเติม สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปีหน้าจุฬาฯ ต้องทำให้ดีกว่าเดิมโดยเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยที่อันดับดีกว่าว่ามีจุดเด่นอะไร

            สิ่งที่วางแผนไว้มี 2 ส่วนคือ

            1. การเน้นเรื่องวิจัยให้มากยิ่งขึ้น จากการศึกษาเกณฑ์ THE จะพบว่า 27% ในทุกๆ เกณฑ์ของ SDG เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการวิจัย หากมีการบูรณาการนวัตกรรมงานวิจัยกับการเรียนการสอน และการบริการวิชาการช่วยเหลือสังคม มหาวิทยาลัยจะเป็นความหวังให้กับสังคมได้อีกมาก ทุกวันนี้บริบททางสังคมเปลี่ยนไปมาก มหาวิทยาลัยไทยต้องพัฒนาผลงานวิจัยขึ้นเองเพื่อให้ทันกับความรู้และสร้างความมั่นคงในประเทศ มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลไกสำคัญที่ตอบโจทย์สังคม

            2. จุฬาฯ จะบูรณาการงานสอนและงานบริการสังคม เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมแก่คนในสังคม  ให้มากยิ่งขึ้น เช่น โครงการจุฬาฯ-ชนบท เพิ่มการศึกษาที่มีคุณภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เสริมความรู้เรื่อง SDG ทั้ง17 ข้อให้แก่นิสิตจุฬาฯ

             “จุฬาฯ ต้องแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในอาเซียนและในเอเชีย การนำมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืนอันดับ 1 ของเอเชียเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเครื่องชี้ว่าคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยทัดเทียมมหาวิทยาลัยโลก อยากให้คณาจารย์และนิสิตมุ่งมั่นตั้งใจทำงานวิจัยที่มีประโยชน์สูงต่อสังคม งานวิจัยที่ดีนอกจากจะวัดด้วยการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการแล้ว อยากให้มองถึงการนำผลงานวิจัยไปช่วยเหลือสังคมด้วย สมกับสโลแกนใหม่ของจุฬาฯ Innovations for Society” รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวในที่สุด

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า