ข่าวสารจุฬาฯ

มุมมองหลากมิติจากนักวิชาการจุฬาฯ เรื่อง “อุบัติภัย โรงงานสารเคมีระเบิด”

จากงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “มองทุกมิติ กับอุบัติภัย โรงงานสารเคมีระเบิด” ซึ่งหลักสูตร สหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ ร่วมกับศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.) จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในมิติที่เกี่ยวข้องจากเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว 21  ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นอุบัติภัยที่สร้างความเสียหายและผลกระทบเป็นวงกว้าง

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ และเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) ได้นำเสนอมุมมองทั้งในมิติด้านสารเคมี ด้านเคมีวิศวกรรม ด้านสังคม ด้านความปลอดภัยสำหรับโรงงาน ด้านการวางผังเมือง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจ ชี้แจงถึงความเสี่ยง อันตราย ผลกระทบ รวมถึงแนวทางการจัดการและรับมือกับผลกระทบที่สืบเนื่องจากอุบัติภัยนี้อย่างครอบคลุมรอบด้าน

ดร.พิจิตต รัตตกุล ที่ปรึกษาพิเศษศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) และประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) กล่าวถึง“ระบบการสื่อสารต่อสาธารณะ” ในกรณีที่เกิดอุบัติภัยครั้งนี้ยังขาดประสิทธิภาพกล่าวคือการสื่อสารการเตือนภัยไปยังชุมชนรอบข้างและสาธารณะมีความล่าช้า ช่องทางการสื่อสารและเนื้อหาในการสื่อสารไม่เพียงพอ ขาดความชัดเจน ทำให้กลุ่มประชาชนที่ได้รับความเสี่ยง ไม่ทราบว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร สารเคมีมีอันตรายอย่างไร และจะป้องกันตนเองจากอันตรายอย่างไร  และอีกปัญหาในการตอบโต้เหตุมีข้อจำกัดด้านเครื่องมือและบุคลากรที่มีไม่เพียงพอและยังขาดความเชี่ยวชาญในการรองรับเหตุการไฟไหม้และสารเคมีรั่วไหลพร้อมกล่าวถึงความสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมการก่อนเหตุ เช่น การประเมินความเสี่ยงฯ การมีแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน และการฝึกซ้อมร่วมกับชุมชนการมอบหมายผู้รับผิดชอบเพื่อเข้าผจญภัยสารเคมี รวมถึงการเรียนรู้อันตรายของสารเคมี การตรวจสอบและเตรียมพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับตอบโต้เหตุฉุกเฉิน ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ควรมีการควบคุมดูแลบังคับใช้ และทำให้เป็นระเบียบของโรงงาน

 ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการ ศปอส. และอาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาฯ กล่าวถึงมิติด้านอันตรายของสารเคมีจากเหตุอุบัติภัยโรงงานสารเคมีระเบิดในครั้งนี้ มี “สารสไตรีน” (styrene) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเม็ดโฟมพลาสติกของโรงงานดังกล่าวมีลักษณะของเหลวคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสารไวไฟ สามารถลุกติดไฟได้ง่ายไอระเหยของสไตรีนมีความเป็นพิษจัดเป็นสารก่อมะเร็งและก่อการระคายเคือง เมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide : CO) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon dioxide : CO2) และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbon : PAHs) ซึ่งเป็นสารพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ในระยะยาวในเหตุการณ์ไฟไหม้ที่มีสารเคมีลักษณะคล้ายน้ำมันและมีไอระเหยที่ติดไฟ จำเป็นต้องใช้โฟมดับเพลิงการใช้น้ำสามารถช่วยได้เพียงควบคุมความรุนแรงหรือป้องกันการลุกลามเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ไฟดับได้ นอกจากนี้ยังเห็นถึงความสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของโรงงานที่มีการจัดเก็บสารเคมีปริมาณมาก เพราะปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติภัยที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นจึงควรเตรียมแผนรองรับตอบโต้เหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแนะนำการศึกษาข้อมูลเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (Safety Data Sheet : SDS) แนะนำให้ศึกษาข้อมูลสารเคมีเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์ http://www.chemtrack.org/

รศ.ดร.ธราธร มงคลศรี  ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ได้แลกเปลี่ยนเรื่องการจัดการความเสี่ยง โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของ “การประเมินความเสี่ยง” เมื่อสามารถระบุความเสี่ยงได้จะสามารถวางแผนการป้องกันรวมถึงการรับมือกับอุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผ่านการยกตัวอย่างถนนทางโค้งและถนนทางตรงที่มีลักษณะอันตรายแตกต่างกันขึ้นกับมุมมองประสบการณ์ของผู้ทำการประเมิน และสถานการณ์ของเหตุการณ์นั้น ซึ่งการค้นหาสาเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำจะมีการพิจารณาข้อมูล 3 ส่วน คือ 1. ใครเป็นคนทำ 2. ใครออกแบบกระบวนการ / กระบวนการเป็นอย่างไรและ 3. ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้อย่างไร

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  ให้ข้อมูลว่าโรงงานสารเคมีที่ระเบิดดังกล่าวได้ก่อสร้างเมื่อปี 2532 ในขณะที่ “พรบ.การผังเมือง”ได้มีการประกาศใช้ฉบับแรกเมื่อปี 2537 ซึ่งโรงงานได้ก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน พรบ. จะมีการประกาศใช้ ประกอบกับที่ตั้งโรงงานในอดีตอยู่ห่างไกลจากเมืองแต่ในปัจจุบันความเป็นเมืองได้ขยายออกไปอยู่รอบโรงงาน ทำให้โรงงานตั้งอยู่ในเขตที่มีชุมชนเมือง ทั้งนี้ในการประกาศใช้ พรบ. การผังเมืองระบุไว้ว่าโรงงานที่มีการก่อสร้างมาก่อน พรบ. การผังเมืองประกาศใช้ให้สามารถตั้งอยู่ต่อในทำเลเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับสาระสำคัญ คือไม่ขัดต่อความปลอดภัยสาธารณะ ความเป็นอยู่สาธารณะ และสุขอนามัยสาธารณะ หากจะต้องมีดำเนินการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงโรงงานผู้ที่มีส่วนได้ประโยชน์ (หมายถึงชุมชนรอบข้าง) จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่เสียประโยชน์ (หมายถึงโรงงาน) โดยชุมชนรอบข้างไม่สามารถบังคับให้ (โรงงาน) เปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งถือเป็นหลักการสากล

ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึง “กลุ่มคนที่ได้รับสัมผัสสารเคมี” แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่รับสัมผัสสารอันตรายจากการทำงาน เช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่ผจญเพลิง ซึ่งขณะเข้าปฏิบัติงานควรใส่ชุดผจญเพลิง สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) ที่เหมาะสม และหากพบอากาศไม่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ควรใส่ชุดผจญเพลิงที่มีเครื่องช่วยหายใจ (Self-Contained Breathing Apparatus : SCBA) และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องช่วยชีวิตในพื้นที่เกิดเหตุซึ่งอาจจะสัมผัสสารอันตรายด้วย และ 2. กลุ่มที่สัมผัสสารอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ประชาชนผู้อยู่ใกล้เคียง โดยในกรณีมีผู้ป่วยจากการรับสารเคมีในอุบัติภัยครั้งนี้ควรมีการติดตามผลและเก็บข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวด้วย

อ.ดร.กัลยา สุนทรวงศ์สกุล สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ และรองผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ กล่าวถึง “แหล่งกำเกิดมลพิษ” คือ สารสไตรีนและสารเคมีต่าง ๆ ที่อาจมีคุณสมบัติต่างไปจากเดิม เมื่อปนเปื้อนกับน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงจะถูกส่งผ่านไปยังท่อน้ำลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ทำให้สัตว์น้ำได้รับผลกระทบ และเมื่อน้ำดังกล่าวซึมผ่านชั้นผิวดิน จุลินทรีย์ดินหลายชนิดทำให้สารสไตรีนเปลี่ยนแปลงเกิดการปนเปื้อนในดินและอาหารอาจทำให้ความเป็นพิษสูงขึ้น ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และแบ่งโซนเพื่อติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและกล่าวเสริมถึงการวางแผนการรองรับตอบโต้ทั้งก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุเพื่อป้องกันสารเคมีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมด้วย

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีและอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึง “ผลกระทบของมลพิษอากาศ” สามารถพิจารณาได้จาก 3 ปัจจัย คือ 1. ความเข้มข้น (ppm) 2. ระยะเวลาการสัมผัส 3. ลักษณะสุขภาพของผู้รับสัมผัสและจากเหตุโรงงานสารเคมีระเบิดในครั้งนี้เกิดมลพิษอากาศ 2 กลุ่ม คือ 1. ก๊าซ (gas) ที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารสไตรีน เป็นสารละลายอินทรีย์ระเหย (VOCs) เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะลอยอยู่ในอากาศ และจะเป็นอันตรายกับคนในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนผลกระทบจะไปไกลแค่ไหนขึ้นกับทิศทางลม 2.ฝุ่นละออง (particles) ซึ่งเห็นชัดด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นเขม่าควันดำลอยอยู่ในอากาศ เมื่อฝนตกก็สามารถชะล้างได้ อาจจะดูว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เมื่อถูกชะล้างลงสู่ผิวดินก็จะเกิดการปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสปนเปื้อนและกลิ่นกินเข้าไป ดังนั้นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในช่วงแรก เช่น สวมเสื้อผ้าแขนยาว สวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 หรือหน้ากากเคลือบสารคาร์บอนกัมมันต์ เพื่อป้องกันการรับสัมผัสสารมลพิษดังกล่าว

 คุณกฤษฎา ประเสริฐสุโขรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด กล่าวถึง“การจัดการภาวะฉุกเฉินในโรงงาน”จะประกอบด้วย 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ก่อนเกิดเหตุ ควรมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ การเตรียมการเพื่อป้องกันการเหตุ เช่น ระบบเตือนภัย แนวปฏิบัติต่าง ๆ ขั้นที่ 2 ขณะเกิดเหตุ จะต้องประกอบด้วย 4 ขั้น คือ 1. การประเมินสถานการณ์ 2. แผนเข้าปฏิบัติการรวมกัน3. จัดทีมเพื่อเข้าระงับเหตุ 4. การเฝ้าระวัง ขั้นที่ 3 หลังเกิดเหตุ ควรมีการจัดการเชื้อเพลิงที่หลงเหลืออยู่และการจัดการสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปประเด็นผ่านมุมมองของหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติภัยที่มีการส่วนร่วมในมิติต่างๆ มากมาย  สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการรู้จักกับนิยามและหลักการซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในทุกช่วงสถานการณ์วิกฤต แม้ว่าเราจะไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดภัยบางประเภทได้ แต่ทักษะการระบุความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยง รวมถึงการออกแบบมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพถือว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบของสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

สามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/ChulaRDM/videos/4161050187348971


จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า