ข่าวสารจุฬาฯ

แพทย์จุฬาฯ เผยข่าวดีการทดสอบวัคซีน “ChulaCov19” ในอาสาสมัคร เร่งวิจัยระยะต่อไป

เมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวความคืบหน้าการทดสอบฉีดวัคซีน “ChulaCov19” ชนิด mRNA สัญชาติไทย ของอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีในระยะที่ 1 พบอาสาสมัครมีภูมิคุ้มกันดี กระตุ้นแอนตี้บอดี้ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม และสามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์คือ Alpha, Beta, Gamma และ Delta ได้ เร่งเตรียมเดินหน้าผลิต และเตรียมการเพื่อขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินต่อไป

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เตรียมความพร้อมของสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองและรักษาประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาร่วมกันพัฒนา วิจัย ต่อยอด คิดค้น ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่างๆ ให้กับประชาชน โดยล่าสุด การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ในระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันแรกที่ได้ทำการทดสอบในอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดี พร้อมทั้งติดตามผล ภายใต้การดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด พบว่าอาสาสมัครในการทดสอบระยะแรกทั้งหมดมีระดับภูมิคุ้มกันที่ดีมาก และมีความปลอดภัย

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่การคิดค้นพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 เป็นไปได้ตามเป้าหมาย ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดของการทดสอบฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน รวมถึงนักวิจัยทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกที่ร่วมกันพัฒนาวิจัย ต่อยอดคิดค้นผลิตวัคซีน รวมถึงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จนประสบความสำเร็จ สามารถผลิตและพร้อมฉีดให้กับอาสาสมัครในระยะต่อไป ซึ่งจะนำมาใช้และสร้างคุณประโยชน์และชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในระดับสากล

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย

วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่ตรงกันคือต้องการให้เทคโนโลยี mRNA vaccine เข้าถึงคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในต่างประเทศที่รายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำมากขึ้น

วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่เกิน 6 วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และ ทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก โดยแบ่งการทดสอบได้ดังนี้ การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน กลุ่มที่สอง เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 56-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน

ในจำนวนสองกลุ่มข้างต้นจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่าวัคซีน ChulaCov19 มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าใด เพราะปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ทางศูนย์ฯ ต้องศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชีย เหมาะกับการฉีด 10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับกับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ว่า ผลจากการทดลองในอาสาสมัครเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ของระยะที่ 1 ในอาสาสมัคร 36 คน กลุ่มอายุระหว่าง 18-55 ปี และอีก 36 คน กลุ่มอายุระหว่าง 56-75 ปี พบว่าเมื่ออาสาสมัครได้ฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 7 วัน ผลข้างเคียงอยู่ในขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด เพลีย ไข้ หนาวสั่น แต่อาการจะดีขึ้นโดยเฉลี่ยภายใน 1-3 วัน และจากการทดสอบพบว่า ChulaCov19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนตี้บอดี้ได้สูง กระตุ้นแอนตี้บอดี้ที่ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม

นอกจากนี้ สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์คือ Alpha, Beta, Gamma และ Delta ได้เกิน 80% พร้อมทั้ง ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้อีกด้วย

จุดเด่นอื่นๆ ของวัคซีน ChulaCov19 ได้แก่

  1. จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่นเป็นอย่างมาก
  2. ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
  3. วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่สองกับสัตว์ทดลองควบคู่กันไปกับรุ่นแรก เพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ ทั้งหมดนี้นับเป็นวัคซีนที่คิดค้น พัฒนาและผลิตโดยคนไทย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผนคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนได้เพื่อทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาสสี่ของปีนี้

ความท้าทายสำหรับชาวไทยก็คือถ้าเราต้องการให้มีวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งในสี่ชนิดที่กำลังดำเนินการวิจัยและพัฒนาอยู่รวมทั้งของ ChulaCov19 mRNA vaccine ให้สามารถขึ้นทะเบียนได้และใช้ได้กว้างขวางภายในก่อนปีใหม่ไทยปีหน้าก็คือเมษายน 2565 ประเทศไทยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน 4 ด้านและต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง คู่ขนานไป นั่นคือ

1. ต้องมีระบบการระดมทุนภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนอย่างมีเป้าหมายและเป็นวงเงินที่เพียงพอและมีการอนุมัติการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลักแต่ละไฟล์ประชุมหารือกันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ติดในรูปแบบของกรอบราชการแบบดั้งเดิม

2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เร่งกำหนดแนวทางกติกา การขอขึ้นทะเบียนวัคซีนที่ผลิตคิดคนในประเทศไทยว่าจะต้องทำวิจัยมากน้อยอย่างไรหรือจะยึดเกณฑ์ใกล้เคียงกับของไต้หวัน ซึ่งต้องเร่งออกมาให้ชัดเจนภายในกันยายนนี้ เพื่อจะได้มีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

3. โรงงานผลิตวัคซีนของไทยในกรณีของ ChulaCov19 mRNA กำลังเร่งระดมการผลิตให้สามารถผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในอาสาสมัครระยะที่สองบีหรือระยะที่สามและต่อยอดไปเป็นการผลิตจำนวนหลายล้านโดส เพื่อใช้จริงในการขึ้นทะเบียน

4. รัฐบาลต้องมีนโยบายการจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าเพื่อทำให้ผู้พัฒนาวัคซีนสามารถที่จะมีงบประมาณในการไปจองเลขสั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อยหกเดือน หากประเทศไทยมุ่งมั่นจริงจังและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเราเชื่อว่าประเทศไทยภายในก่อนสงกรานต์ปีหน้าจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งวัคซีนได้ใช้จริงสำหรับคนไทยโดยคนไทย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า