ข่าวสารจุฬาฯ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ลงนาม MOU เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคด้านจักษุวิทยา

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ Mr. Masakazu Ikeda ประธานบริษัท Mitsubishi UFJ Research and Consulting จำกัด กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคด้านจักษุวิทยา ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ บริษัท Mitsubishi UFJ Research and Consulting จำกัด ประเทศญี่ปุ่น โดยมี รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ รศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา รศ.พญ.วิศนี ตันติเสวี รองหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ฝ่ายวิรัชกิจ ศ.พญ.วสี ตุลวรรธนะ อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา รศ.(พิเศษ) นพ.ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร และ อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา และ อ.นพ.รัฐ อิทธิพานิชพงศ์ อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าวการลงนามความร่วมมือนี้ ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ แฟนเพจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2564 เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรคด้านจักษุวิทยาร่วมกัน อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) และอุปกรณ์อัจฉริยะ (smart devices) ให้กับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (LMICs) โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท Mitsubishi UFJ Research and Consulting จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้วางแผนร่วมกันในการสนับสนุนสุขภาพระดับโลกผ่านการทำวิจัยและการพัฒนาโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีวินิจฉัยโรคด้านจักษุวิทยา โดยอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือของหน่วยงานแต่ละแห่ง

จากสถิติที่ผ่านที่มา จำนวนผู้ป่วยโรคด้านจักษุวิทยาและความบกพร่องทางการมองเห็นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในประเทศต่าง ๆ สืบเนื่องจากการเพิ่มประชากร การสูงวัยขึ้นของประชากร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ การวินิจฉัยและรักษาโรคด้านจักษุวิทยา เป็นประเด็นทางสุขภาพที่ได้รับการมองข้ามในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ เมื่อเทียบกับประเด็นสุขภาพอื่น ๆ อีกทั้งการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคด้านจักษุวิทยาที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวต่างเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยโรคด้านจักษุวิทยาและความบกพร่องทางการมองเห็นที่เพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นอย่างที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้านจักษุวิทยา และเพิ่มคุณภาพการวินิจฉัยและรักษาโรคด้านจักษุวิทยา

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรม ผลักดันการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการวิจัยและการให้บริการทางการแพทย์ สร้างชุมชนการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัยโรคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมบุคลากรในการพัฒนาโครงการวิจัย และเพิ่มคุณภาพงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์สูงเพื่อสังคม

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้สร้างความร่วมมือกับบริษัท Mitsubishi UFJ Research and Consulting จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและการวิจัยในเครือ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) โดยตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว กรุงนาโกยา และกรุงโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เป็นบริษัทที่มุ่งขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการบริการให้คำปรึกษาสำหรับองค์กรต่าง ๆ การวิจัยเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลแห่งชาติและรัฐบาลท้องถิ่น การบริการข้อมูลเพื่อการจัดการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการวิจัยทางเศรษฐกิจ โดยมีหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ คือ Center on Global Health Architecture ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประเด็นสุขภาพโลก ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวินิจฉัยโรคด้านจักษุวิทยา

รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ

รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะสถาบันชั้นนำในการผลิตแพทย์ในประเทศไทย ได้มีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานทางภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ จำนวน 52 แห่ง ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันมาเป็นเวลายาวนาน นับเป็นการต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้า เพื่อประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า