ข่าวสารจุฬาฯ

สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ จัดดินเนอร์ทอล์ก แนะไทยเร่งต่อยอดจุดแข็ง-เปิดเกมรุกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เมื่อวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2564 สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน INTANIA DINNER TALK “มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022” เปิดเวทีให้ผู้บริหารองค์กรชั้นนำของเมืองไทยแสดงวิสัยทัศน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมมองอนาคตภาคพลังงาน อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และศักยภาพตลาดหุ้นไทย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธีและองค์ปาฐก กล่าวว่า รัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ รวมถึงโครงข่ายดิจิทัล สร้างระบบ Ecosystem  ที่ส่งเสริมการทำธุรกิจของคนไทย พร้อมดึงดูดคนต่างชาติให้ย้ายถิ่นฐานมาประเทศไทยและเข้ามาลงทุน  ซึ่งเชื่อว่า ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกมาก โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะเสร็จสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่ง ทั้งนี้ มองว่าทุกวิกฤตมีโอกาสอยู่เสมอ ตอนนี้หลายคนได้คว้าโอกาสได้แล้ว มีการวางรากฐานธุรกิจเพื่อเดินหน้าต่อ แต่ก็ยังเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตครั้งนี้ ดังนั้นจึงต้องการให้ผู้ที่มีศักยภาพดีดูแลช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย เพราะไม่ต้องการให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง  ในการเสวนาหัวข้อ “มุมมองใหม่ ฝ่าเศรษฐกิจไทย ปี 2022” 

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด แนะนำว่า หากต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ จะต้องต่อยอดและพัฒนาสิ่งที่ถนัดอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว การเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์แห่งอนาคต ธุรกิจอาหารไทย การส่งออกผลไม้ไทย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีศักยภาพในสายตาของนักลงทุน เป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง และไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการระดมทุนได้ในอนาคต โดยปีนี้ไทยครองแชมป์การระดมทุนจาก IPO สูงสุดในตลาดอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีมูลค่าการระดมทุนสูงถึง 4,200 ล้านบาท 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยหลังวิกฤต ภาครัฐมีหน้าที่ดูแลคนฐานราก ส่วนภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญด้านการลงทุน ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนใหม่ (Reinvest) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง จะต้องลงทุนบนพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว พร้อมสร้างนวัตกรรมเองหรือร่วมมือกับผู้อื่น โดย ปตท.จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรม New S-Curve ของไทยประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเน้นลงทุนด้านพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่นอกเหนือจากพลังงาน เช่น ผลิตภัณฑ์ยา บริการทางการแพทย์ ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ธุรกิจไลฟ์สไตล์และ Mobility โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI Robotics) โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2573 จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด นอกจากการขยายธุรกิจขององค์กรแล้ว ก็ยังสร้างโมเดลและแพลตฟอร์มธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และคนในท้องถิ่นให้เติบโตไปพร้อมกัน เช่น ปั๊มน้ำมันที่เป็นจุดรวมของชุมชน และธุรกิจร้านอเมซอน ซึ่งทั้งสองธุรกิจมี SMEs เป็นเจ้าของอยู่ประมาณ 80-90% ของสาขาทั้งหมด 

นายสมโภชน์ อาหุนัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากต้องการให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่ง ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญในปัจจุบัน อาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ หรืออาจเริ่มจากทำโครงการแบบ Sandbox ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นต่อไป นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องเร่งเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมโลกใหม่ เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งปตท.จับมือกับพันธมิตรต่างชาติพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ส่วนบมจ.พลังงานบริสุทธิ์   มุ่งเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคตทั้งตลาดในประเทศและตลาดระดับภูมิภาค 

ดร.ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมองหาโอกาส ทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมของคนและกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตโควิด-19 ทำให้สินค้าที่เคยขายในรูปแบบเดิมอาจขายไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นหากปรับตัวได้ก่อน ก็จะคว้าโอกาสได้ นอกจากนี้ ควรพัฒนาโมเดลธุรกิจแบบ Inclusive ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเติบโตไปพร้อมกับรายใหญ่ได้ด้วย กิจกรรม INTANIA DINNER TALK ปีนี้มีผู้ร่วมงานประมาณ 300 คน ซึ่งนอกจากมีการระดมความคิดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปแล้ว งานครั้งนี้ยังเป็นการระดมทุนให้สมาคมฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานด้านวิชาการ และกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญ เช่น กองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือนิสิตเก่าวิศว ฯ จุฬาฯ ที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย และต้องการความช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาล  โดยกองทุนจะให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์และช่วยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ มูลนิธิส่งเสริมนวัตกรรมวิศวกรรม มีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการสร้างงานวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมวิศวกรรมล้ำสมัย เป็นองค์ความรู้สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ โครงการ Intania for Southern Hospital มีภารกิจส่งเสริมการออกแบบและสร้างห้องความดันลบและห้องปราศจากเชื้อสำหรับโรงพยาบาล และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า