รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
16 ธันวาคม 2564
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข่าวเด่น
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19พ.ศ. ๒๕๖๔
______________________
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มหาวิทยาลัยโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เห็นสมควรออกแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“สถานการณ์ระดับที่ ๑” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ยังสามารถควบคุมได้
“สถานการณ์ระดับที่ ๒” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เริ่มมีความรุนแรงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
“สถานการณ์ระดับที่ ๓” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีความรุนแรงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อ ๔ ในการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้หัวหน้าส่วนงานเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการหรือกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในประกาศนี้
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ในการตีความหรือในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
หมวด ๑
บททั่วไป
__________
ข้อ ๖ ในการจัดการเรียนการสอนตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน โควิด-19 กำหนดระดับของสถานการณ์โดยพิจารณาตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19
ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 อาจกำหนดเงื่อนไขอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน นิสิต และบุคลากรก็ได้
ข้อ ๗ หลักสูตรหรือรายวิชาควรจัดทำคู่มือหรือแนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 โดยควรเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนิสิต
ข้อ ๘ หลักสูตรหรือรายวิชาควรจัดสรรเวลาและทรัพยากร รวมถึงจัดให้มีระบบและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้นิสิตเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19
ข้อ ๙ ส่วนงานมีหน้าที่จัดให้มีระบบการติดตามดูแลและช่วยเหลือด้านสุขภาวะแก่นิสิตเป็นระยะ ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19
ข้อ ๑๐ การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย นิสิตและบุคลากรจะต้องได้รับวัคซีนที่ทางราชการกำหนดอย่างน้อยเข็มที่สอง หรือวัคซีนชนิดอื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองตามจำนวนที่กำหนด แล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
ข้อ ๑๑ ส่วนงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้โดยเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรค COVID-19 จากการจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย หากผู้ใดเริ่มมีอาการของโรคหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโรค COVID-19 หรือมีกรณีติดเชื้อโรค COVID-19 ขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ข้อ ๑๒ ในกรณีมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ผู้สอนจะต้องคงความครบถ้วนด้านผลลัพธ์การจัดการเรียนรู้และสมรรถนะตามเป้าประสงค์ของหลักสูตร หรือเทียบเคียงได้กับมาตรฐานที่หลักสูตรกำหนด
ข้อ ๑๓ ให้หัวหน้าส่วนงานกำหนดผู้รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ตามประกาศนี้ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนการสอน เช่น การปฐมนิเทศนิสิต การสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน และให้จัดระบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประกาศหรือคำสั่งของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด และต้องสื่อสารกับนิสิต ผู้สมัครสอบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอน กระบวนการ หรือรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลของรายวิชา หรือการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสังกัด การฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไป
หมวด ๒
การจัดการเรียนการสอน
______________
ส่วนที่ ๑
แนวปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน
ข้อ ๑๔ การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) เป็นการผสมผสานรูปแบบที่นิสิตสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) ร่วมกับรูปแบบที่นิสิตทั้งชั้นเรียนได้มีโอกาสอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกัน (Synchronous Learning) ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้ทั้งในสถานที่ตั้ง (Onsite Synchronous Learning) และแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ดังนี้
(๑) กรณี Asynchronous ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิตไว้อย่างชัดเจน ควรมีคำแนะนำกรอบเวลาการศึกษาด้วยตนเองที่เหมาะสมแก่นิสิต และสร้างโอกาสการสื่อสารโต้ตอบระหว่างนิสิตกับอาจารย์ หรือระหว่างนิสิตในชั้นเรียนผ่านการสื่อสารหรือเรียนรู้แบบออนไลน์
(๒) กรณี Synchronous ควรเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์ เช่น การอภิปราย การแก้โจทย์ปัญหา การเรียนรู้แบบ problem-based learning เป็นต้น
ข้อ ๑๕ ส่วนงานควรมีระบบในการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนเป็นระยะ ๆ
ข้อ ๑๖ กรณีการจัดการอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกันผ่านระบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) เช่น Zoom MSTeam หรือ Google Meet ให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติของรายวิชา หากมีความจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนนอกเวลาปกติ ให้ผู้สอนตกลงวันเวลาในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมร่วมกับนิสิต
ข้อ ๑๗ รายวิชาภาคปฏิบัติหมายความรวมถึงรายวิชาที่ต้องมีกิจกรรมการเรียนแบบฝึกทักษะปฏิบัติประเภทเดี่ยวหรือกลุ่ม (เช่น วิชา Studio, Skill, Perform, Ensemble, รายวิชาทางคลินิก) หรือรายวิชาที่มีลักษณะการเรียนการสอนในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน
ข้อ ๑๘ ส่วนงานหรือหลักสูตรพิจารณาจัดตารางสอนให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เช่น ปรับรายวิชาที่จัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้อยู่ในวันเดียวกัน ปรับรายวิชาที่จัดการเรียนรู้ในสถานที่ตั้งให้อยู่ในวันเดียวกัน ปรับเพิ่มตอนเรียนของรายวิชาภาคปฏิบัติเพื่อลดจำนวนนิสิตและบุคลากรที่จะต้องเข้ามาในสถานที่ตั้ง เป็นต้น
ส่วนที่ ๒
แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID–19
_____________
ข้อ ๑๙ รายวิชาภาคทฤษฎีหรือสัมมนา
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้ส่วนงานเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยมีทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) และการเรียนรู้ร่วมกัน (Synchronous Learning) โดยส่วนงานสามารถจัดการเรียนรู้ได้ทั้งในสถานที่ตั้ง (Onsite Synchronous Learning) และแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning)
หัวหน้าส่วนงานอาจกำหนดให้รายวิชาใดจัดการเรียนการสอนเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือให้มีการผสมผสานทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกันให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชาก็ได้
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ ให้ส่วนงานจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้มีการผสมผสานของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) และการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชา
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้ส่วนงานจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้มีการผสมผสานของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) และการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชา
ข้อ ๒๐ รายวิชาภาคปฏิบัติ
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้ส่วนงานจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยเน้นการนำระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System) เช่น MyCourseVille Blackboard หรือ Google Classroom มาใช้ในการบริหารจัดการรายวิชา ร่วมกับการฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง ทั้งนี้ให้ผู้สอนพิจารณาสัดส่วนความจำเป็นและเกิดความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้มีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาคปฏิบัติในสถานที่ตั้ง ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) เป็นรายวิชาที่มีนิสิตที่ศึกษาในภาคการศึกษาสุดท้ายลงทะเบียนเรียนอยู่และเป็นรายวิชาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการเรียนในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือที่มีเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
(ข) เป็นรายวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานสภาวิชาชีพ ซึ่งหากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ จะส่งผลให้นิสิตไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพกำหนดไว้
รายวิชาที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใน (ก) และ (ข) ให้ปรับการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ทั้งหมด
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้ส่วนงานงดการจัดการเรียนการสอนในสถานที่ตั้ง โดยให้ผู้สอนปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นวิธีการอื่นที่สามารถทำเป็นการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ทั้งหมด
กรณีการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยหรือของส่วนงาน ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติของแต่ละวิชาชีพ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
(๔) สำหรับการปฏิบัติงานที่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาการวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์ ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๒๑ การฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตร
(ก) พิจารณาให้มีรายวิชาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้
(ข) พิจารณายกเลิกรายวิชาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรที่มิได้กำหนดไว้ใน มคอ. ๑ ได้ แต่ให้มีการเรียนการสอนหรือกิจกรรมรูปแบบอื่นเพื่อทดแทน เพื่อคงความครบถ้วนด้านผลลัพธ์การจัดการเรียนและสมรรถนะตามเป้าประสงค์ของหลักสูตรอยู่อย่างครบถ้วน
(ค) พิจารณาปรับระยะเวลาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรได้โดยดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
๑) ลดระยะเวลาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานให้กระชับและสั้นลง ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับกับสถานการณ์ในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19
๒) แยกหรือกระจายการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานออกไปเป็นหลายระยะตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ให้กระทบกระเทือนหรือมีความสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพของนิสิตที่ฝึกงาน
๓) สลับการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงาน กับรายวิชาปกติในแผนการการจัดการศึกษาเดิมที่ออกแบบและระบุไว้ใน มคอ. ๒
(ง) พิจารณาปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของ แต่ละหลักสูตรได้ตามความเหมาะสม โดยประสานกับสถานประกอบการหรือองค์กรวิชาชีพเพื่อส่งนิสิตเข้าฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงาน
การยกเลิก การปรับระยะเวลา และการปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรตามวรรคหนึ่ง ต้องดำเนินการไม่ให้กระทบต่อเกณฑ์มาตรฐานหรือข้อกำหนดของ แต่ละสภาวิชาชีพ
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้นิสิตออกไปฝึกงาน ทัศนศึกษา หรือ ดูงานภายในประเทศได้ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นลักษณะอื่นได้ หรือกิจกรรมนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งรายวิชาตามข้อ ๒๐ (๒) (ก) และ (ข) ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรค COVID-19 จากกิจกรรมดังกล่าว ถ้าหากมีกรณีติดเชื้อโรคขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้ส่วนงานปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานของแต่ละหลักสูตรเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้ใช้การมอบหมายงาน (Assignment Based) หรือ ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) หรือในลักษณะมอบหมายโครงการ (Project Based) และนัดประเมินหรือให้ข้อสังเกตแก่นิสิตเป็นระยะ ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้การปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานจะต้องพิจารณาไม่ให้กระทบต่อเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรหรือข้อกำหนดของแต่ละสภาวิชาชีพ
สำหรับกิจกรรมหรือโครงการด้านวิชาการใด ๆ ที่มีนิสิตหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีนิสิตหรือบุคลากรจากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
หมวด ๓
การวัดและประเมินผลการศึกษา
ข้อ ๒๒ ให้ผู้สอนรายวิชาเลือกใช้รูปแบบและเครื่องมือการวัดและประเมินผลการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ทั้งนี้ การวัดและประเมินผลการศึกษาที่ใช้ต้องสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชาหรือมาตรฐานของหลักสูตร
ข้อ ๒๓ กรณีการวัดและประเมินผลการศึกษาแบบออนไลน์ รายวิชาควรปรับรูปแบบจากการประเมินผลการศึกษาด้วยการทำข้อสอบไปเป็นการประเมินในลักษณะอื่น ๆ เช่น การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report)
ข้อ ๒๔ กรณีการจัดสอบระหว่างภาคและปลายภาคแบบออนไลน์ ให้ส่วนงาน หลักสูตร หรือรายวิชาพิจารณาช่วยเหลือและปรับรูปแบบให้เหมาะสมในกรณีที่นิสิตไม่สามารถสอบในรูปแบบออนไลน์นอกสถานที่ตั้งได้
ข้อ ๒๕ การวัดและประเมินผลการศึกษา ให้ส่วนงานดำเนินการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID- 19 ดังนี้
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้พิจารณาจัดให้มีการสอบ การวัดและประเมินผลผู้เรียน ในรูปแบบผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และในสถานที่ตั้ง กรณีจัดสอบในสถานที่ตั้ง ให้พิจารณาถึงความจำเป็น จำนวนผู้สอบต่อห้องเรียน ความพร้อมและความสามารถในการจัดการรูปแบบที่ยืดหยุ่น
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ ให้ปรับการสอบ การวัดและประเมินผลผู้เรียน ไปเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลแบบออนไลน์ในรูปแบบอื่นเป็นระยะ
หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้มีการจัดการวัดและการประเมินผลผู้เรียนในสถานที่ตั้ง ได้เฉพาะในกรณีรายวิชาตามข้อ ๒๐ (๒) (ก) และ (ข) ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ตามที่ระบุในข้อ ๒๐(๒) (ก) และ (ข) อย่างเคร่งครัด
(ข) ให้ปรับการสอบ การวัดและประเมินผลผู้เรียน ไปเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลแบบออนไลน์ในรูปแบบอื่นเป็นระยะ
หมวด ๔
การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสังกัด
__________________
ข้อ ๒๖ การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสังกัด ให้ส่วนงานดำเนินการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID- 19 ดังนี้
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้พิจารณาจัดให้มีการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร ในรูปแบบผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และในสถานที่ตั้ง กรณีจัดสอบในสถานที่ตั้ง ให้พิจารณาถึงความจำเป็น จำนวนผู้สอบต่อห้องเรียน ความพร้อมและความสามารถในการจัดการรูปแบบที่ยืดหยุ่น
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ สำหรับการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร เช่น การสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติ ให้ปรับรูปแบบเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และหลักสูตรต้องสื่อสารให้ผู้สมัครรับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอนรายละเอียดของการสอบคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป
หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาจัดการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสถานที่ตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นออนไลน์ได้ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้งดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร ในสถานที่ตั้งในทุกกรณี ให้ปรับรูปแบบเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และหลักสูตรต้องสื่อสารให้ผู้สมัครรับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอนรายละเอียดของการสอบคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)
อธิการบดี
ครุศาสตร์ จุฬาฯ เชิญร่วมสองกิจกรรมโครงการ “เล่นเพลินสำหรับเด็กปฐมวัย” “นิทานฟังเพลิน” และ “Happy Play Day”
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปอมท.” ประจำปี 2567
อธิการบดีจุฬาฯ ได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASAIHL) ปี 2025-2026
นิสิตภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน CHOICEISYOURS 2024
จุฬาฯ เชิญชวนร่วมงาน “One Stop Open House 2024” โดยกระทรวง อว. ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมด้านจิตวิทยา “BRIDGING DISCIPLINES: Incorporate Psychology into Your Endeavor”
8 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น.
ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้