ข่าวสารจุฬาฯ

อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะนักวิจัยที่อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการจากงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ Blockchain และ IoT เพื่อทำให้กระบวนการทางธุรกิจมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

รศ.ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

ความรู้สึกที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ

รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ขอขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่สนับสนุนให้อาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยได้ทำวิจัย และยังส่งเสริมในด้านต่างๆ ทำให้งานวิจัยประสบความสำเร็จ

ความสำคัญของผลงานวิจัยต่อธุรกิจ

งานวิจัยที่ผ่านมาเป็นเรื่องการประยุกต์ใช้ Blockchain และ IoT กับกระบวนการธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีร่วมกันระหว่าง Blockchain และ IoT ส่งผลให้ให้กระบวนการธุรกิจ ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

IoT เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมถึงกันได้ และเทคโนโลยี Blockchain สร้างความปลอดภัยโดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เช่น ในบริบทขององค์กรทำอย่างไรให้กระบวนการการทำงานหรือกระบวนการธุรกิจจากเดิมที่อาศัยการใช้มนุษย์ทำงาน สามารถใช้คอมพิวเตอร์จัดการแทนได้ทั้งหมด ทำให้การทำงานหรือกระบวนการธุรกิจเป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้น และมีข้อมูลที่ปลอดภัยเชื่อถือได้

สำหรับ IoT (Internet of Things) เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต เราสามารถควบคุมการใช้งานหรือการทำงานอุปกรณ์ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ในโรงงานจะมีเซนเซอร์ที่ตรวจจับว่าเครื่องจักรนี้มีความเสียหาย หรือมีความผิดปกติหรือไม่ ต้องบำรุงรักษาเมื่อใด ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างนี้สามารถทำให้เป็นแบบอัตโนมัติ และสร้างความฉลาดให้กับมันได้

Blockchain และ IOT กับบทบาทสำคัญในอนาคต

กระบวนทัศน์ทาง Digital Transformation เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ในหลายประเทศให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี เช่น Blockchain, IOT, AI, Big Data, Metaverse, AR และ VR  มาใช้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญคือการพัฒนาเมืองตัวอย่าง หรือ Smart City ซึ่งจะเป็นเมืองที่เทคโนโลยี ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญช่วยให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น การที่ข้อมูลมีจำนวนมหาศาล และต้องการความถูกต้อง ปลอดภัย และทันเวลา Blockchain และ IoT จึงมีบทบาทสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยของการจัดเก็บข้อมูล สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องมั่นใจ สามารถนำข้อมูลแบบเรียลไทม์จาก IoT และสามารถรู้และวิเคราะห์ได้ทันที

เคล็ดลับความสำเร็จในการทำงานวิจัย

เริ่มจากการทำงานวิจัยด้วยความชอบ เมื่อเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความชอบ ระหว่างทางเราจะมีความสุข ไม่รู้สึกว่าเป็นการเสียเวลาหรือต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ และไม่มีความเครียดเข้ามา ต่อมาคือเรื่องการมีต้นทุนที่ดี การได้ทำงานในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมงานวิจัยถือเป็นต้นทุนที่ดีมาก นอกจากนี้ลักษณะของงานวิจัยที่ทำนั้น เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือการใช้เทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องออกพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเหมือนงานวิจัยในหลายๆ ด้าน ในสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายคนคิดว่าจะมีส่วนลดทอนงานวิจัย จริงๆ แล้วเป็นโอกาสที่ทำให้มีเวลาในการทำงานมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารทางออนไลน์ เช่น  Zoom หรือ Microsoft Team ทำให้สามารถสื่อสารในเรื่องงานวิจัยได้มากขึ้น ช่วยผลักดันในการทำงานวิจัยได้อย่างดียิ่ง

การประยุกต์งานวิจัยกับการเรียนการสอน

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เป็นคณะที่มีการเรียนการสอนทางด้านธุรกิจ งานวิจัย ที่ผ่านมาเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้สามารถนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายของทางคณะ และเป็นโอกาสที่จะได้ใช้งานวิจัยไปสอนนิสิตในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่อง Blockchain ที่นิสิตให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

อุปสรรคในการทำงานวิจัย และแนวทางแก้ปัญหา

ปัญหาหลักที่เจอคือเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก เมื่อเราเริ่มทำวิจัย เวลาผ่านไปเพียง 1 – 2 เดือนก็เป็นเรื่องเก่าไปแล้ว หรือเมื่อทำวิจัยเสร็จแล้ว กระบวนการในการนำบทความวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ค่อนข้างใช้เวลามาก แนวทางการแก้ไขคือในการทำงานด้านเทคโนโลยีจะต้องอัพเดตข้อมูลงานวิจัย วิทยาการ หรือเทคโนโลยีต่างๆ เป็นประจำ การทำงานวิจัยต้องทำอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอะไรที่สะท้อนกลับมาเราก็จะสามารถเพิ่มเติมข้อมูลหรืออัพเดทได้ทันที

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า