ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ เปิดตัว “Chula Art Park” สร้างแลนด์มาร์คใหม่ ด้วยนวัตกรรมศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม เล่าวิถีชีวิตชุมชน

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัว “สวนศิลป์จุฬาฯ” : Chula Art Park’ Day & Night Digital Arts Park  เมื่อวันพุธที่19 มกราคม 2565 ณ บริเวณสวนหลวงสแควร์ จัดแสดงงานประติมากรรมสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนผ่าน 15 ผลงานนวัตกรรมศิลปะ โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยสมาชิกสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมรับชมการแสดงงิ้วคณะเม้ง ป.ปลา ร่วมกับนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนและโครงการฯ  ในโอกาสนี้ สื่อมวลชนได้ให้ความสนใจเข้าชมพื้นที่กิจกรรมและสัมผัสผลงานศิลปะที่จัดแสดงตามจุดต่างๆ อาทิ ศาลเจ้าพ่อเสือ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ และสวนหลวงสแควร์

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นผลสะท้อนของความเชื่อมโยงและเกื้อกูลระหว่างจุฬาฯ และชุมชน ได้แก่ สวนหลวงและสามย่านที่มีมาช้านาน โดยแสดงออกมาในรูปแบบของงานศิลปะสร้างคุณค่าให้กับชุมชน มีการนำงานศิลปะประเภท Digital Art เข้ามาในชุมชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำผลงานศิลปะเข้ามาใกล้ชิดชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสร้างรายได้ ดึงดูดให้ประชาชนออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับกรุงเทพฯ ต่อไป

ด้าน ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะประธานสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย และหัวหน้าโครงการวิจัย “การใช้ศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่านและสวนกลวงอย่างยั่งยืน” เปิดเผยว่า โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พื้นที่แลนด์มาร์ก และเส้นทางท่องเที่ยวระดับนานาชาติแห่งใหม่ ที่สะท้อนอัตลักษณ์และชีวิตชุมชนย่านสามย่านและสวนหลวง สอดคล้องนวัตกรรมทางศิลปกรรมดิจิทัล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการสร้างชุมชนต้นแบบสามย่านและสวนหลวงที่ใช้งานศิลปกรรมพัฒนาเศรษฐกิจ    สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิติของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 “ความพิเศษของแต่ละชิ้นงานคือ จะมีระบบ Augmented Reality เข้ามาเสริม ผ่านแอปพลิเคชั่น Chula Art Park เมื่อเดินผ่านชิ้นงานก็จะมี video clip และข้อมูลของชิ้นงานทั้งหมด 4 ภาษา (ไทย จีน อังกฤษ และญี่ปุ่น) ขึ้นมาในมือถือให้ได้รับทราบ นอกจากนี้ยังมี PM 2.5 Sensor เพื่อตรวจวัดฝุ่นบริเวณรอบชิ้นงาน และใช้พลังงานสะอาด Solar cell เพื่อประหยัดพลังงานด้วย ก็อยากจะเชิญชวนทุกๆ ท่าน    มาเที่ยวที่สวนหลวง-สามย่าน เพื่อชมประติมากรรมเหล่านี้ โดยสามารถรับชมผลงานศิลปะทั้ง 15ผลงานได้ทั้งในสถานที่จริงและในรูปแบบออนไลน์ผ่าน www.chulaartpark.art ” ศ.ดร.บุษกร กล่าวเชิญชวน

อุทยานศิลปะหรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” (CHULA ART PARK) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องการใช้ศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่านและสวนหลวงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยผลงานนวัตกรรมประติมากรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสมาชิกสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทยจำนวน 15 ผลงาน ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนสามย่านสวนหลวง ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน (Day and Night Digital Arts Park ) ซึ่งจะได้รับบรรยากาศที่แตกต่างกันไปด้วยพลังงานสะอาดไม่ก่อมลพิษ เพราะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยมี ผศ.ดร.สิริธร ศรีชลาคม ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ เป็นผู้ดูแลโครงการ

15 ผลงานประติมากรรมในโครงการประกอบไปด้วย

– ไมตรี-ผูกพัน  โดย อ.ตระการ พนมวัน ณ อยุธยา การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาวจีนมาแต่โบราณ ชาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมงคลเป็นความดีเป็นความอบอุ่น มีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันเสมอมา

– ชาวไทยเชื้อสายจีน: วิถีและศรัทธา โดย ผศ.ศิริชัย พุ่มมาก สะท้อนเรื่องราวรูปแบบวิถีชีวิตการค้าขายของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนสามย่าน รวมถึงบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา อันทรงคุณค่าที่ชาวไทยเชื้อสายจีนปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน

– วัฒนธรรมความดีงามของชุมชนสามย่าน  โดย ผศ.ไกรสร ประเสริฐนำสัญลักษณ์รูปดาว มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลงานประติมากรรมเพื่อสื่อความหมายวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนสามย่าน โดยใช้วัสดุที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันมาสร้างประติมากรรม

– ปอดกลางเมือง โดย อ.อุกฤษ วรรณประภา เรื่องเล่า กระต่ายในจันทร์และดอกบัวสีทองเป็นตัวสื่อความหมาย คือ เรื่องราวในอดีตสู่การพัฒนาความเป็นย่านที่ทันสมัยเป็นจุดศูนย์กลางของเศรษฐกิจ การค้า และความเป็นเมืองแห่งอนาคต                       

– ภาพสะท้อนของกระรอกน้อย  โดย รศ.ดร.ทักษิณา พิพิธกุล ประติมากรรมรูปลักษณ์โพลีกอน (Polygon) ออกแบบเป็นรูปทรงกระรอกกำลังทำท่าถ่ายภาพเซลฟี่ เพื่อเป็นภาพแทนของธรรมชาติที่ผ่อนคลายในพื้นที่เมืองที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเทคโนโลยี

– สถานีสามย่าน-สวนหลวง โดย ศ.กมล เผ่าสวัสดิ์ เป็นผลงาน Site Specific ที่สร้างบทสนทนาและประสบการณ์ระหว่างผู้ชมกับพื้นที่ กระตุ้นการรับรู้ของ Landscape และ Soundscape      ของสามย่าน-สวนหลวง ผ่านการจำลองและความหมายของสถานีที่มีภาพตัวแทนของวัฒนธรรมชุมชน  

– สะพานอ่อน (Saphan On) โดย อ.ดร.พิชัย ตุรงคินานนท์ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุมชนบริเวณแยกสะพานอ่อน โดยได้มีการใช้สัญลักษณ์ของสะพาน แสงไฟ และแผนที่โบราณในการสื่อความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและการเชื่อมโยงอดีต-ปัจจุบันด้วยรูปแบบศิลปะมินิมอลอาร์ต

– ดอกไม้กลางเมือง โดย อ.กฤช งามสม ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนย่านเซียงกงสวนหลวง-ปทุมวัน ที่ปรับตัวสามารถเบ่งบานเจริญขึ้นใหม่อีกครั้งเหมือนแสงสว่างจากดอกไม้ที่ทำจากชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์

– สร้างการรับรู้วิถีชุมชนสามย่าน (Create the Acknowledgement of Samyan Communal Ways) โดย อ.อนุพงศ์ สุทธะลักษณ์ และ อ.เอกชัย สมบูรณ์ สะท้อนภาพวิถีพหุวัฒนธรรมชุมชนสามย่านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการสร้างพื้นที่ศิลปะจากรูปทรงสัญญะอินฟินิตี้ (Infinity) ที่ประกอบด้วยประติมากรรมสื่อประสม ที่สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนไปสู่อนาคตที่ไม่มีวันสิ้นสุด

– ประตูสวรรค์สามย่าน โดย อ.อคราส พรขจรกิจกุล โครงการศิลปะที่แสดงภาพแทนทางความคิดเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรม “ซุ้มประตูโขง” และ “ไผฟาง” มาจากคติความเชื่อของคนไทยและคนจีน ศิลปินใช้รูปสัญญะดังกล่าวในการออกแบบเพื่อแสดงถึงการหลอมรวมทางวัฒนธรรม ซึ่งมีอิทธิพลจากการเคลื่อนตัวและปรับเปลี่ยนของผู้คน

– กลิ่นอายหมอกมังกรจีน โดย ผศ.ดร. ถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์ “มังกร” เป็นสื่อสัญลักษณ์ของความเป็นคนจีนที่เข้ามาในสยามแต่อดีต และสามย่านเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ยังคงกลิ่นอายของ ความเป็นจีน ร่องรอยวิถีชีวิตและความเชื่อถูกถ่ายทอดสอดแทรกในงานหัตถกรรมเครื่องจักสานอุปกรณ์ต่างๆ การประกอบเป็นรูปทรงแสดงความเป็นวัฒนธรรมจีน “กลิ่นอายหมอกมังกรจีน” เป็นสัญลักษณ์ของหัตถศิลป์  ที่ซ่อนไว้ซึ่งวัฒนธรรมจีนในสามย่าน

– สังสรรค์  โดย อ.ศุภเดช หิมะมาน ศูนย์รวมของสิ่งมงคลที่มาจากทั้งสี่ทิศถูกถ่ายทอดผ่านสัตว์มงคลและตัวอักษรจีนให้ปรากฏบนประติมากรรมโคมไฟฉลุ ติดตั้งบนพื้นที่ที่ผู้คนมาร่วมสังสรรค์กัน

– ประติมากรรมประแจจีน  โดย อ.ธัญญารัตน์ ทองใจ “ประแจจีน” หรือลายตะขอเกี่ยวทรัพย์เป็นลวดลายเชิงสัญลักษณ์และสื่อความเป็นมงคล การอวยพรให้เจริญก้าวหน้าที่แสดงถึงความต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุดสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบประติมากรรมปฏิสัมพันธ์

Hide and Seek โดย อ.ภัทร นิมมล วัฒนธรรมขับเคลื่อนไปผ่านการละเล่นและความไร้สาระของความเยาว์วัย พร้อมกับความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของค่านิยม ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ

– เรือ(น) โดย อ.ดร.สมพงษ์ ลีระศิริ งานประติมากรรมศิลปะเคลื่อนไหวสื่อผสม เชิงนวัตกรรม 3 มิติ แฝง “ปรัชญาชีวิต” ผ่านเรื่องเล่าของคนจีนโพ้นทะเลสื่อถึง “เสื่อ 1 ผืนและหมอน 1 ใบ” รวมถึงการดำเนินชีวิตผสมผสานคติแนวคิด วิถีชีวิตและความเชื่อ

          ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.chulaartpark.art

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า