ข่าวสารจุฬาฯ

สรุปเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 12 “ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 12 เรื่อง “ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยมี ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณสุผจญ กลิ่นสุวรรณ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ PPTV

ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ รองคณบดีนโยบายและแผน และอาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าว่า ได้กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนในทุกระดับ เนื่องจากเริ่มมีข่าวการพบเห็นสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้น และมีผู้ติดเชื้อ รวมทั้งมีผู้เสียชีวิต      ทำให้คนในสังคมเริ่มกังวล ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ พบว่า 4 ปีที่ผ่านมา พบโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเกิดจากการที่คนตื่นตัวในเรื่องนี้ และการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพบกระจายตัวในวงกว้างและพบในพื้นที่เดิมๆ สัตว์ที่นำโรคสู่คน 90 % คือสุนัข ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ติดจากการสัมผัสหรือถูกกัดจากสุนัขที่ได้เชื้อมาก่อน ซึ่งสุนัขกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อนหรือไม่ทราบประวัติ

ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา เผยอีกว่า โรคพิษสุนัขเป็นโรคที่ป้องกันได้ ถ้าเราให้วัคซีนถูกต้อง และควบคุมจำนวนประชากรให้มีอัตราส่วนของสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ในพื้นที่มากพอ ประเทศไทยมีจำนวนสุนัขและแมวประมาณ 10 ล้านตัว ในเชิงทฤษฎี หากมีภูมิคุ้มกันเกิน 70% เชื่อว่าจะหยุดโรคได้ ในปี 2557 เราใช้วัคซีนไปประมาณ 20 ล้านโดส ซึ่งสุนัขหนึ่งตัวก็อาจได้รับวัคซีนมากกว่า 1 ครั้ง และมีการผลิตวัคซีนประมาณ 15 – 20 ล้านโดสมาโดยตลอด แต่ในช่วงปี 2558 มีข้อสงสัยเรื่องอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้วัคซีน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎหมายมารองรับแล้ว ทำให้ในปี 2559 ได้ลดการใช้วัคซีนเหลือ 5 ล้านโดส และในปีเดียวกันก็มีการเรียกคืนวัคซีนไม่ได้มาตรฐานประมาณ 3.5 ล้านโดส

“เราควรจะมองปัญหาอย่างจริงจังแล้วว่า เรามีสุนัขมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การให้วัคซีนของเราทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ขณะนี้เป็นวิกฤติของภูมิคุ้มกันสุนัขทั้งประเทศที่มีต่ำเกินไป จนไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายของโรคได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปี 2560 ผ่านช่วงการเรียกคืนวัคซีนไปแล้ว แต่การปริมาณใช้ก็ยังยังอยู่ที่ 5 – 6 ล้านโดส ซึ่งในปี 2561 หน่วยงานต่างๆ ก็ระดมกำลังเต็มที่  เมื่อร่วมกับการให้ความรู้แก่ประชาชนในหลายภายส่วน เชื่อว่าปัญหาตรงนี้น่าจะลดลงในที่สุด โดยเป้าหมายที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ขณะนี้คือสัตว์ที่เกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน” ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา กล่าว

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เผยว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2554 เริ่มไม่พบผู้เสียชีวิต พบเพียง 1 รายในปี 2555 และปี 2559 ในปีนี้ตามข่าวที่เสียชีวิต 6 ราย ก็เป็นสัตว์ไม่ใช่คน โดยพื้นที่ที่พบในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นซีกตะวันออก เช่น ลาดกระบัง หนองจอก บางขุนเทียน ในปีนี้ 6 ราย  ที่พบคือ บางเขน บางซื่อ จตุจักร เพราะฉะนั้นการจะบอกว่าส่วนไหนปลอดโรคพิษสุนัขบ้าก็เป็นเรื่องยาก

สพ.ญ.เบญจวรรณ ระบุการดำเนินการของกรุงเทพฯ ว่า เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า ตอนนี้เรามีการรณรงค์พร้อมกันใน 50 เขต เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีหน่วยดำเนินการออกฉีดวัคซีน 500 หน่วย ขณะเดียวกันก็มีคลินิกดูแลสัตว์เลี้ยงกระจายทั่วกรุงเทพฯ 8 แห่ง มีหน่วยเคลื่อนที่ตามหน่วยงานหรือชุมชนร้องขอ ด้านการควบคุมจำนวนพาหะนำโรค เน้นเรื่องการทำหมัน ทั้งสุนัขและแมวเพศผู้ เพศเมีย ทั้งจรจัดและมีเจ้าของ และมีหน่วยจับสุนัขจรจัดตามที่ร้องเรียน โดยจะรับไปเลี้ยงดูจนหมดอายุขัย และกรุงเทพฯ ได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 บังคับให้สุนัขมีเจ้าของต้องจดทะเบียน ฉีดไมโครชิป และทำทะเบียนประวัติ นอกจากนี้ยังมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคพิษสุนัขบ้าเคลื่อนที่เร็ว ดำเนินการสอบสวนโรคภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับรายงาน ค้นหาคนที่สัมผัสโรคเพื่อการให้รักษา และนำสัตว์ที่สัมผัสโรคไปกักดูอาการ เป็นเวลา 6 เดือน

“ปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่คือประชาชนบางส่วนยังขาดความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง ไม่นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน รวมทั้งอัตรากำลังสัตวแพทย์มีอยู่จำนวนจำกัด ส่งผลให้บริการได้ไม่ครอบคลุม รวมทั้งทัศนคติที่ไม่ดีต่อการนำสุนัขไปเลี้ยงดูในสถานพักพิง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางการแก้ไขนั้น กรุงเทพฯ ได้จับมือเป็นพันธมิตรทำงานร่วมกันกับเครือข่ายคนรักสัตว์จัดกิจกรรมต่างๆ มีการเข้าไปเจรจาชี้แจงเมื่อมีกรณีความขัดแย้งเรื่องสุนัขจรจัด รวมทั้งมีอาสาสมัครดูแลรักษาและหาบ้านให้สัตว์ในศูนย์พักพิง

สำหรับประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่องการเซตซีโร่ หรือการกำจัดสุนัขจรจัดให้หมดไป สพ.ญ.เบญจวรรณ แสดงทัศนะว่า ในอดีตกรุงเทพฯ เคยมีการทำลายสุนัขจรจัดมาก่อน แต่เมื่อไปดูตัวเลขเก่าๆ ก็พบว่ามีการทำลายสุนัขไปเท่าไร เมื่อทำการสำรวจก็ยังมีอีกมากเท่านั้น ปัญหาจำนวนสุนัขจรจัด ส่วนหนึ่งเพิ่มจำนวนด้วยตัวมันเอง ซึ่งกรุงเทพฯ มีการทำหมัน 2 – 3 หมื่นตัวทุกปี หากไม่มีการปล่อยเพิ่มมันต้องจบ จำนวนต้องลด เพราะฉะนั้นคิดว่าการเซตซีโร่หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จ

ด้าน น.สพ.วีระ เทพสุเมธานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒินายสัตวแพทย์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวถึงการการวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าว่า เมื่อคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเสียชีวิต วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการตรวจเชื้อจากสมองด้วยวิธี DFA หรือการย้อมสีพิเศษและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เรืองแสง ซึ่งสถานที่ส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมี 24 แห่งทั่วประเทศ หรือสามารถติดต่อปศุสัตว์ได้เลย หากยังไม่เสียชีวิตจะใช้วิธีตรวจทางการแพทย์หรือสัตวแพทย์ เฉพาะสุนัขกับแมวจะดูอาการ 10 วันนับจากวันที่กัดคน หากยังไม่ตายก็ไม่ใช่โรคพิษสุนัขบ้า

น.สพ.วีระ ระบุการวินิจฉัยโรคสุนัขที่ยังไม่เสียชีวิตว่า จากการทำงานด้านนี้มา 30 กว่าปี ยังไม่พบสุนัขอายุน้อยกว่า 1 เดือนเป็นโรค หากป่วยมากกว่า 10 วัน หรือมีอาการกะทันหัน มีอาการดีขึ้นในระยะ 3 วัน ก็ไม่ใช่โรคพิษสุนัขบ้า เพราะจุดตั้งต้นของการป่วยจะเริ่มต้นการป่วยเป็นระยะๆ คือระยะทั่วไป ดุร้าย และเป็นอัมพาต นอกจากนี้มี 3 กลุ่มอาการที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือ อาการกลืนกินลำบาก เช่น คางห้อย ไม่สามารถหุบปากได้ ลิ้นที่แลบออกมาจะเป็นสีแดงคล้ำหรือแดงม่วง ฯลฯ อาการเป็นอัมพาต 2 ขาหลัง เช่น เดินวิ่งแข็งๆ ฯลฯ และอาการทางประสาทอื่นๆ เช่น มีอาการแปลกๆ กัดกินสิ่งแปลกปลอม ดุร้ายผิดปกติ คือกัดมากกว่า 1 ตัวหรือ 1 คน ภายใน 1 สัปดาห์ วิ่งโดยไม่มีจุดหมาย นั่งสัปหงก ฯลฯ

“คนไทยที่ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเกือบ 100 % เกิดจากถูกสุนัขกัด กลุ่มนี้ไม่ไปหาหมอ ไม่สนใจแผลที่ถูกกัด ไม่ทำความสะอาดและยังเข้าใจว่าถูกสุนัขมีเจ้าของหรือลูกสุนัขกัดไม่เป็นไร ซึ่งก็วกกลับมาที่เรื่องการศึกษา หากถูกกัดแล้วมีการล้างแผลและฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรค ก็อาจไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ จุดที่สำคัญที่สุดคือเมื่อใดก็ตามที่เราถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด จะสงสัยว่าเป็นโรคหรือไม่ก็ตาม ต้องผ่านกระบวนการล้างด้วยน้ำประปาและฟอกสบู่ เพราะจะทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าลดเหลือน้อยมากหรืออาจจะถึงศูนย์เลยก็ได้ ยิ่งใส่ยาใส่แผลสดก็จะสามารถช่วยลดเชื้อลงได้”  น.สพ.วีระ กล่าว

สำหรับภาคประชาชน กลุ่มสานสายใยชีวิต SOS ซึ่งเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการดูแลสุนัขจรจัด ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเสวนาครั้งนี้ โดยคุณบุญโฮม แสนเมืองชิน ผู้แทนกลุ่มฯ    เล่าว่า เริ่มต้นจากการจัดการสุนัขจรจัดในหมู่บ้าน โดยจับสุนัขไปทำหมัน และทำวัคซีนรวมให้ทุกปี จากนั้นเริ่มไปตามวัดต่างๆ เมื่อสุนัขมีลูกจะนำมาหาบ้านที่ตลาดนัดวันศุกร์ จุฬาฯ จากนั้นเริ่มมาจับสุนัขในจุฬาฯ ไปทำหมัน และนำมาพักที่บ้านพักฟื้นสุนัขและแมวจรจัด เมื่อมีสุขภาพดีก็จะส่งคืนที่เดิม ซึ่งเราทำต่อเนื่องกันมา   20 ปีแล้ว จนจำนวนสุนัขในจุฬาฯ ลดลง ตามชุมชนที่มีสุนัขจรจัดก็จะร่วมมือกันมาทำหมันให้จำนวนลดลง โดยเราจะไม่เคลื่อนย้ายสัตว์ไปอยู่ที่อื่น เอามาจากชุมชนไหนก็ต้องเอากลับไปคืนที่เดิม

ด้าน อ.ภาวรรณ หมอกยา อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้แทนกลุ่มฯ อีกท่าน เผยว่า ความคิดพื้นฐานในการทำงานของ SOS คือเราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่งไม่ได้ คนทั้งสังคมต้องช่วยกัน ใครช่วยตรงไหนได้ต้องช่วยตรงนั้น โดยกลุ่มได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการในการเข้ามาดูปัญหาสัตว์จรจัดในจุฬาฯ เพื่อให้ทั้งคนที่รักและไม่รักสัตว์สบายใจ โดยตั้งชื่อว่า “จุฬาฯ โมเดล” และได้มีการนำไปเสนอเป็นแนวทางการจัดการปัญหาสัตว์จรจัดให้หน่วยงาน ชุมชนอื่นๆ มากมาย

“การทำงานเรื่องสัตว์ เราต้องทำงานกับคน คือต้องมีคนไปเผยแพร่ความรู้ ไกล่เกลี่ยเวลามีปัญหา ซึ่งเรื่องสัตว์ทำให้คนมีความขัดแย้งทะเลาะกันมาก การโยนความรับผิดชอบกันไปมา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้    ในการทำงานเราต้องเข้าใจว่าทำไมคนถึงไม่ชอบสัตว์ และเห็นใจเขา หากมีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสัตว์ที่ถูกต้องออกไป ความกลัวก็จะลดลง” อ.ภาวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า