รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
10 กุมภาพันธ์ 2565
ข่าวเด่น, ความภูมิใจของจุฬาฯ
จากการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 7 เรื่อง “ความก้าวหน้าวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะรายบุคคล นวัตกรรมแห่งความหวังของสังคมไทย” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีน โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วางยุทธศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมชั้นนำที่มุ่งสร้างสรรค์องค์ความรู้และผลผลิตจากงานวิจัย ตลอดจนสร้างบัณฑิตที่เป็นนวัตกร เป็นผู้นำสร้างสรรค์สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต จุฬาฯ มุ่งส่งเสริมให้ผลงานวิจัยจุฬาฯ เชื่อมโยงกับประชาชนคนไทยและประชาคมโลก เพื่อขับเคลื่อนให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยระดับชาติที่ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติอย่างเต็มภาคภูมิ
โครงการแพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ของจุฬาฯ เป็นความร่วมมือระหว่างหลายคณะ สถาบัน และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนศตวรรษที่ 2 ของจุฬาฯ ช่วยขับเคลื่อนให้งานวิจัยของจุฬาฯ ก้าวกระโดด หลุดพ้นจากกับดักงานวิจัยที่ตามหลังต่างประเทศ ที่สำคัญคือเป็นงานวิจัยที่นำไปใช้ได้ผลจริง เกิดผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก งานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือบริจาคจากประชาชนจำนวนมาก ช่วยลดปัญหาในเชิงสาธารณสุขและสังคมสูงวัยที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเป็นมะเร็งจำนวนมาก
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและถ่ายทอดงานวิจัยมาสู่การทดลองรักษาผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด นำไปสู่การขยายขีดจำกัดในการให้บริการและรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงมาก จึงได้มีโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อการวิจัยด้านการรักษามะเร็ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง
“มะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย จากสถิติมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งไม่ต่ำกว่าแสนรายต่อปี และมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย รักษาโรงมะเร็ง ตลอดจนการดูแลติดตามผลหลังการเป็นโรค สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันและวินิจฉัยให้เร็ว ถ้าพบในระยะแรกๆ มีโอกาสสามารถหายขาดได้”
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการให้ยารักษามะเร็ง มีแนวทางหลัก 3 วิธี คือ ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง มีประสิทธิภาพปานกลาง และอาจมีผลข้างเคียงที่มาก ยามุ่งเป้า เป็นการให้ยารักษาที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง มีประสิทธิภาพจำเพาะเฉพาะในรายที่มีการกลายพันธุ์ตรงกับตัวยา อาการข้างเคียงมักจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งมีทั้งการรักษาแบบการให้ยาแอนติบอดีและการใช้เซลล์บำบัด ทั้งสองแนวทางนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วย ไม่จำเพาะกับชนิดมะเร็ง ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงน้อย
ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้มีการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มุ่งเน้นพัฒนาการรักษาใน 3 วิธีคือ เซลล์บำบัดมะเร็ง วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) ซึ่งภูมิคุ้มกันบำบัดทั้ง 3 วิธีนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สามารถใช้รักษาร่วมกัน และใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
“มะเร็งเป็นความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ปัจจุบันมีการรักษาโดยการผ่าตัด การฉายรังสี และรักษาด้วยยา รวมทั้งมีการวิจัยและพัฒนามุ่งเน้นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงไปในรายบุคคลให้มีความแม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในขั้นตอนการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป้าหมายในอนาคตจะมีการทดสอบในวงกว้างต่อไป” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ กล่าว
อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงโครงการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงขั้นตอนทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 นับเป็นการทดสอบทางคลินิกครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การผลิตวัคซีนเฉพาะบุคคลนี้ต้องใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ที่ตรวจพบในผู้ป่วยรายนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ต่างกัน การผลิตวัคซีนจึงต้องทำครั้งละ 1 ราย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะและมีประสิทธิภาพไว้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง ในการให้วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล เริ่มต้นด้วยการนำชิ้นเนื้อมะเร็งจากผู้ป่วยมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ที่พบในชิ้นเนื้อมะเร็งเท่านั้น ซึ่งไม่พบในเซลล์ปกติของร่างกาย และนำข้อมูลการกลายพันธุ์มาผลิตเป็นชิ้นส่วนของโปรตีนของมะเร็งที่กลายพันธุ์ขนาดเล็ก ที่มีเพียงข้อมูลการกลายพันธุ์แต่ไม่สามารถก่อโรคได้ โดยไม่มีการฉีดเซลล์มะเร็งเข้าในร่างกาย แต่อย่างใด หลังฉีดวัคซีน เม็ดเลือดขาวชนิด antigen presenting cells จะกินชิ้นส่วนโปรตีนกลายพันธุ์ที่ผลิตไว้ และกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งมากขึ้นอย่างจำเพาะ ดังนั้นวัคซีนนี้จึงเป็น “วัคซีนรักษามะเร็ง” ไม่ใช่วัคซีนป้องกันมะเร็ง ในต่างประเทศ เช่น ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีการศึกษาพบว่าการใช้วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลร่วมกับการให้ยาแอนติบอดีที่ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้สูงขึ้นได้
“การทำวัคซีนเฉพาะบุคคล ถ้าประเทศไทยสามารถทำเอง จะได้ทั้งราคาที่ถูกลงและมีความเฉพาะบุคคลสูง ทำให้เกิดการเข้าถึงนวัตกรรมวัคซีนนี้ได้มากขึ้น สามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของราคาในปัจจุบัน” อ.นพ.ไตรรักษ์กล่าว
ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทดสอบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลกับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 จำนวน 4 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) 3 ราย และมะเร็งไต 1 ราย พบว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อย เช่น มีอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และหลังจากการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรายนั้น
นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ตรวจติดตามการตอบสนองทางพยาธิวิทยาในผู้ป่วย 1 ราย โดยประเมินการกระจายตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ในชิ้นเนื้อมะเร็ง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยก่อนฉีดวัคซีน ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่บริเวณรอบนอกก้อนมะเร็งเป็นหลัก หลังได้รับวัคซีนพบว่าเม็ดเลือดขาวมีการเปลี่ยนแปลง ตอบสนองในทางบวก มีการกระจายตัวเข้าไปในชิ้นเนื้อมะเร็งมากขึ้น ปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้อาการคงที่หลังได้รับการรักษาด้วยวัคซีนมะเร็ง และตรวจติดตามเป็นเวลา 9 เดือน
อ.นพ.ไตรรักษ์เผยถึงเป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้าว่า หากมีการพิสูจน์ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ ทีมวิจัยจะเดินหน้าเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะถัดไป โดยเริ่มเปิดให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่องานวิจัยสามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะดำเนินการขึ้นทะเบียน ในขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้ทำการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) คู่ขนานกันไป ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยจะเริ่มการทดสอบในสัตว์ทดสองในปี 2565 และเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปี 2566 ในต่อไป ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น และส่งผลต่อราคาที่ผู้ป่วยสามารเข้าถึงการรักษาได้
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการสร้างห้องปลอดเชื้อพิเศษเพื่อการผลิตเซลล์และวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลเพิ่มเติมในอาคารบูรณาการวิจัยใหม่ร่วมกับอาคารรักษาพยาบาล ที่เน้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร รวมกันเป็น “ศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานเสวนา “โปรตุเกส…เหตุที่รัก”
นิสิตสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสีน้ำระดับอุดมศึกษา
คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ชวนช็อป ดีมีคืน กับ Chula Dent ในโครงการ Easy E-Receipt 2.0
ขอเชิญชาวจุฬาฯ ประกวดคลิปวิดีโอสร้างสรรค์ “Chula Ethics: Our Code, Our Way: วิถีเรา ตัวตนเรา”
เชิญชวนชาวจุฬาฯ ประกวดออกแบบมาสคอต “Chula Mascot challenge ตัวแทนแห่งความโปร่งใส: CU Good gift mascot”
จุฬาฯ หัวเว่ย และ BUPT ร่วมพัฒนาบุคลากร ICT ในงาน Asia Pacific Cloud AI Forum & Huawei Developer Competition
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้