ข่าวสารจุฬาฯ

นิสิตแพทย์จุฬาฯ ได้รับรางวัล “ทูตสันถวไมตรี” การประกวดผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง Thailand Top Peritoneal Dialysis Idol 2021

นายหัฐพร ธารพานิช นิสิตชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับรางวัล “ทูตสันถวไมตรี” จากการประกวด “ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง สุขภาพดี อิสระเสรี ชีวีมีสุข แห่งชาติ 2564” (THAILAND TOP PERITONEAL DIALYSIS IDOL 2021) ซึ่งจัดโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคีองค์กร เพื่อเฟ้นหาตัวแทนผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องกว่า 30,000 รายทั่วประเทศ จาก 13 เขตสุขภาพ ที่มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดีเยี่ยม มีจิตสาธารณะ และโดดเด่นด้านการล้างไตทางช่องท้อง เหมาะสมกับการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ป่วยที่กำลังตัดสินใจฟอกไตหรือได้ฟอกไตไปแล้ว ประกอบด้วยผู้ป่วยฟอกไตที่มีความเป็นเลิศด้านต่างๆ รวม 5 ด้าน คือ “สุขภาพกายโดดเด่น” “สุขภาพจิตยอดเยี่ยม” “อุทิศตนเป็นเลิศ” “ทูตสันถวไมตรี” “เลิศด้านการล้างไตทางช่องท้อง” และรางวัลพิเศษ “ขวัญใจประชาชน”

นายหัฐพร ธารพานิช นิสิตชั้นปีที่ 6
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

หัฐพร ธารพานิช ซึ่งได้รับรางวัล “ทูตสันถวไมตรี” จากการประกวดในครั้งนี้ จะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์โรคไตเรื้อรัง การรักษา และแง่มุมต่างๆ ให้กับสาธารณชน รวมถึงแนะนำวิธีการดูแลตนเองให้สุขกาย สุขใจ เป็นตัวอย่างที่ดีในการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วยโรคไต


เข้าร่วมประกวดผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องได้อย่างไร

หัฐพร เผยว่า ได้เข้าร่วมประกวดโครงการนี้เพราะอยากให้เรื่องราวของตนเองเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคนี้ที่เคยท้อมีแรงลุกขึ้นมาสู้ต่อไปได้ไม่มากก็น้อย การส่งผลงานเข้าประกวดเป็นการอัดคลิปวิดิโอเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของตนเองกับโรคไต การก้าวข้ามผ่านโรคนี้ วิธีการดูแลตนเอง โดยทางสมาคมฯ จะคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นตัวแทนทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ผ่านสื่อและกิจกรรมของสมาคมฯ

“ผมเป็นโรคไตอักเสบจากไอจีเอ (IgA Nephropathy) ตั้งแต่เป็นนิสิตแพทย์ปี 1 มีอาการผื่นที่ผิวหนัง ปวดข้อ และเป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง จึงได้เข้ารับการรักษาและอาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดอาการไตวายตอนเรียนอยู่ปี 4 ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก  มีอาการเหนื่อย บวม และเป็นช่วงเวลาที่ต้องขึ้นคลินิกด้วย จึงตัดสินใจรับการบำบัดทดแทนไตเพื่อให้สามารถเรียนและใช้ชีวิตต่อไปได้ โดยเลือกใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง หลังจากนั้นอาการต่างๆ ก็ดีขึ้น จึงอยากให้เรื่องราวของตนเองช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยโรคไตต่อสู้กับโรคนี้ต่อไป”


การล้างไตทางช่องท้องมีวิธีการอย่างไร

การบำบัดทดแทนไตในปัจจุบันมีด้วยกันมี 3 แบบ ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการเข้ารับการปลูกถ่ายไต ซึ่งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นการล้างไตผ่านทางเส้นเลือดเทียม ใช้เวลาครั้งละ 4 ชั่วโมง และต้องล้างไต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย โดยต้องไปฟอกเลือดที่โรงพยาบาลและต้องใช้เวลามาก ส่วนการล้างไตทางช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำด้วยตัวเองได้ที่บ้าน ทำได้ง่าย ไม่ต้องไปโรงพยาบาล เป็นการลดภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยและผู้ดูแล สามารถกำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินได้อย่างต่อเนื่อง ระหว่างล้างไตทางช่องท้องสามารถทำกิจกรรมอื่นไปด้วยก็ได้ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น เพียงแค่ขณะถ่ายน้ำล้างไตเข้าออกทางช่องท้อง ผู้ป่วยอาจจะต้องอยู่กับที่ชั่วคราว

หัฐพร เผยว่า ผลของการบำบัดทดแทนไตทั้ง 2 แบบสามารถกำจัดของเสียในเลือดและดึงน้ำส่วนเกินในร่างกายออกไปได้ในประสิทธิภาพใกล้เคียงกันใน แต่การล้างไตทางช่องท้องจะสามารถรักษาปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วยโรคไตไว้ได้นานกว่าในช่วงแรกและส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิตน้อยกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ส่วนการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือต้องรอรับไตบริจาคจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน


จุดเด่นที่ทำให้ได้รับรางวัลทูตสันถวไมตรี

 “ผมเป็นนิสิตแพทย์ ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคไตและสามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับโรคนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวได้ดีกว่าผู้ป่วยท่านอื่นๆ ผมคิดว่าเมื่อทุกคนมาอยู่ในจุดเดียวกับผมก็คงต้องสู้ ทำไมถึงต้องยอมแพ้ในเมื่อเรายังสู้ไหว” หัฐพร กล่าวด้วยความหวัง


การป้องกันโรคไต และการดูแลตนเอง

สาเหตุอันดับหนึ่งของโรคไตสำหรับคนไทยคือโรคเบาหวาน วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานคือ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลปริมาณสูง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หัฐพรแนะนำวิธีป้องกันโรคไตว่า จำกัดปริมาณเกลือหรืออาหารรสเค็ม ตามหลักการแพทย์ไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2 กรัมต่อวัน (เกลือแกง 1 ช้อนชา) หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและการปรุงรสชาติเพิ่มเติม รู้จักสังเกตปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ที่เราซื้อมา หลีกเลี่ยงอาหารมัน ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรงดสูบบุหรี่ ตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

“สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าชีวิตของคนเราทุกคนมีคุณค่าในรูปแบบของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบไปในทุกๆ อย่าง ความบกพร่องเหล่านี้ที่ทำให้คนเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเราเอง เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้นแล้วจะมีความสุข รักตัวเองให้มากๆ และหันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้มากๆ ด้วยนะครับ” หัฐพรฝากทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า