ข่าวสารจุฬาฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงร่วมงานครบรอบ 105 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 เวลา 07.05 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในงานวันครบรอบ 105 ปี  แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.กิตติคุณ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จ

เมื่อเสด็จฯ ถึงมหาวิทยาลัย ทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จากนั้นเสด็จฯ ทรงบาตรร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน ณ บริเวณ เสาธง หน้าหอประชุมจุฬาฯ

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกหน้ามุข หอประชุมจุฬาฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2565  และพระราชทานพระราชดำรัส จากนั้นเสด็จฯ ไปยังห้องรับรอง หอประชุมจุฬาฯ นายกสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายของทูลพระขวัญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวัน พระราชสมภพ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนฝ่ายต่างๆเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพและเข้ารับพระราชทานของที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 105 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาฯ ณ โถงกระจก หอประชุมจุฬาฯ

            สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ไปยังหอประชุมจุฬาฯ ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยมี ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี กราบบังคมทูลรายงาน การแสดงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ในปีนี้ เริ่มด้วยการบรรเลงของวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ในเพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์ และการบรรเลงร่วมกับการจับระบำเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 105 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงดนตรีไทยจากบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง “เที่ยวไปในแดนชวา”  ร่วมกับวงสายใยจามจุรี วงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ  วงกาเมลัน กรมศิลปากร และวงอังกะลุง พร้อมการแสดงประกอบ โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินแห่งมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมการแสดงครั้งนี้ด้วย

            เวลา 12.11 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “อาคารจุฬาพัฒน์ 14” โดยมี  ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี กราบบังคมทูลรายงาน

                “อาคารจุฬาพัฒน์ 14” เป็นอาคารปฏิบัติการรวมและอาคารเอนกประสงค์กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพของจุฬาฯ เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของคณะสหเวชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะจิตวิทยา  รวมพื้นที่ใช้สอยของอาคาร 43,330 ตร.ม.

          ในโอกาสนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเยี่ยมห้องปฏิบัติการและห้องต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช ณ ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 โดยมี รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์นวัตกรรมจุฬาฯ เพื่อสังคม  โดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ  (CU Innovation Hub) และ CU Enterprise ได้บ่มเพาะและให้การสนับสนุนทีมสตาร์ทอัพมากกว่า 304 ราย สร้างมูลค่าบริษัทสตาร์ทอัพรวม 18,630 บาท สร้างผู้ประกอบการมากกว่า 2,000 คน โดยมีบริษัท จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการบ่มเพาะ    

          จากนั้น ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กราบบังคมทูลรายงานสรุปการดำเนินงานการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งคณะผู้วิจัยอยู่ในระหว่างการเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ในกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนใดๆ มาก่อน และกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น  จากนั้นจะมีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ในกลุ่มอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่ต้องการรับวัคซีนเป็นเข็มกระตุ้น หากผลการทดลองมีความปลอดภัยเพียงพอก็จะดำเนินการศึกษาในกลุ่มเด็กต่อไป

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า