รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
24 พฤษภาคม 2565
ข่าวเด่น, ความภูมิใจของจุฬาฯ
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตจุฬาฯ เป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้นำวิชาความรู้ออกไปทำหน้าที่รับใช้สังคมสมความตั้งใจ ส่วนหนึ่งของบัณฑิตจุฬาฯ ปีนี้ได้เผยถึงความประทับใจในรั้วจามจุรี รวมทั้งได้ฝากข้อคิดในเรื่องการเรียนให้ประสบความสำเร็จ และแนวทางการใช้ชีวิตแก่นิสิตจุฬาฯ
ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือหมอแล็บ แพนด้า มหาบัณฑิตคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เผยความรู้สึกว่า ภูมิใจที่จบการศึกษาทางด้านเทคนิคการแพทย์จากจุฬาฯ ซึ่งเรียนมาตั้งแต่ปริญญาตรี หากมีใครถามว่าเราจบจากที่ไหน เราสามารถตอบอย่างภาคภูมิใจได้เลยว่าจบจากจุฬาฯ ความเป็นน้องพี่สีชมพูฝังอยู่ใน DNA ด้วยสายใยความผูกพันของชาวจุฬาฯ ที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เสมอ จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาที่ตนรักและผูกพัน มีการเรียนที่เข้มข้นและฐานความรู้ทางวิชาการที่แน่น
“หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม อ่านหนังสือหลายรอบให้เข้าใจเพราะต้องเรียนและทำงานไปด้วย จุฬาฯ ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้สามารถนำไปใช้ได้จริง ตนจะนำความรู้ทางด้านเทคนิคการแพทย์ไปถ่ายทอดแก่ประชาชนผ่านเพจ “หมอแล็บแพนด้า” รวมทั้งนำไปต่อยอดในการให้บริการรับเจาะเลือดถึงบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล” มหาบัณฑิตคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
นพ.ณัฐภัทร อนุดวง บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับรางวัลบัณฑิตแพทยศาสตร์ดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2564 ในฐานะบัณฑิตแพทย์ที่ประพฤติตนอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และอุทิศตนเพื่อส่วนรวม เปิดเผยว่าการสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตแพทย์ จุฬาฯ ถือเป็นจุดสำคัญหนึ่งในชีวิต เมื่อได้ทำงานดูแลรักษาคนไข้ทำให้รู้ว่าสิ่งที่จุฬาฯ สอนเป็นสิ่งที่ครบถ้วนเพียบพร้อมในการนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ได้จริง
บัณฑิตแพทยศาสตร์ดีเด่นยอดเยี่ยม ประจำปี 2564 กล่าวถึงการเรียนในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่าทำให้ได้ความรู้ทางด้านการแพทย์ในการดูแลรักษาคนไข้ ส่วนการทำกิจกรรมทำให้ช่วยสื่อสารกับคนไข้ได้ดี การเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้ทำงานได้ราบรื่น ปรับตัวได้ง่าย ทำให้ชีวิตเราสมบูรณ์พร้อมมากขึ้น ปัจจุบัน นพ.ณัฐภัทร กำลังศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม
ปฏิพล แก้วสีมรกต บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งได้รับรางวัลเยาวชนคนต้นแบบ สาขาบำเพ็ญประโยชน์ ปี 2564 เปิดเผยว่ารู้สึกภาคภูมิใจมากที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ และยังจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ตนใฝ่ฝันอยากจะเข้าเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม 4 ปีในรั้วจามจุรีมีความประทับใจในสังคมของจุฬาฯ ที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อบอุ่น มีความเป็นกันเองระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง
หลักในการเรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องรู้จักแบ่งเวลาให้ดี หมั่นทบทวนตำรา ฝึกทำโจทย์เป็นประจำ สิ่งสำคัญต้องมีวินัยในตนเอง ไม่ละเลยที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสีสันการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์และมิตรภาพ
“อยากให้น้องๆ ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอย่างคุ้มค่า นอกจากจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนแล้ว อยากให้แบ่งเวลาในการทำกิจกรรมด้วย เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ จากการเรียนรู้นอกห้องเรียน ต้องแบ่งเวลาให้ดีเพื่อไม่ให้การเรียนได้รับผลกระทบ” ปฏิพล กล่าว
ณัฏฐา สุคนธพันธ์ บัณฑิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เผยว่ารู้สึกภูมิใจและดีใจที่สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตจุฬาฯ หลักในการเรียนที่ยึดถือมาตลอดคือเข้าเรียนสม่ำเสมอและอ่านหนังสือทบทวนนอกห้องเรียนด้วยเมื่อตั้งใจจะทำสิ่งใดก็พยายามวางแผนการทำงานล่วงหน้า จุฬาฯ ให้สิ่งดีๆ มากมาย ตั้งแต่ที่ได้เข้ามาเรียน ตนเป็นนิสิตหอพักจุฬาฯ ทำให้ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในจุฬาฯ ได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ ทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้น
“ชีวิตนิสิตจุฬาฯ เป็นช่วงชีวิตที่มีค่า ถ้าผ่านไปแล้วไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ นอกเหนือจากการเรียนแล้วอยากให้ลองทำในสิ่งที่ตนเองรักตามความชอบของแต่ละคนซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิต” ณัฏฐา กล่าวทิ้งท้าย
ปุญญพัฒน์ ลือนาม บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เผยว่า การได้เป็นบัณฑิตจุฬาฯ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร คือผลลัพธ์ของความตั้งใจตลอดระยะเวลา 4 ปี เป็นการเตือนใจว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ขอเพียงแค่มีความตั้งใจ ใส่ใจ มีความพยายามและให้เวลา สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือผู้คนมากมายที่ได้พบเจอในช่วงเวลาที่เรียนในจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ นิสิตในคณะ เพื่อนๆ ในชมรมที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน การได้เจอคนหลากหลายช่วยทำให้เรารู้จักมุมมองความคิดใหม่ ๆ มากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ จุฬาฯ ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยแต่เป็น community หรือชุมชนของนิสิตทุกคน
หลังจากนี้ปุญญพัฒน์จะไปศึกษาต่อทางด้าน Critical and Cultural Theory programme ที่ University of Warwick ประเทศอังกฤษ อนาคตวางแผนจะศึกษาต่อปริญญาเอกและอยากกลับมาเป็นอาจารย์จุฬาฯ “ความสำเร็จต้องใช้เวลา ควรหาโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้เจอเพื่อนใหม่ๆ” คือข้อคิดส่งท้ายของรุ่นพี่จุฬาฯคนเก่งคนนี้
จิรายุ เตชะมานะพงษ์ บัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เผยถึงความรู้สึกที่ได้เป็นบัณฑิตจุฬาฯ ว่ารู้สึกดีใจเเละภูมิใจมาก ประทับใจจุฬาฯ ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ ครูอาจารย์ ที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวที่อบอุ่น จุฬาฯ สอนให้ตนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เคล็ดลับการเรียนให้ประสบความสำเร็จคือความมั่นคงเเละคงที่ ถ้าต้องการทำอะไรให้สำเร็จ ความเสมอต้นเสมอปลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในขณะเดียวกันต้องมีความสุขในสิ่งที่ทำด้วย ปัจจุบันจิรายุกำลังศึกษาต่อปริญญาโทควบปริญญาเอก สาขาวิชาดนตรีศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ อนาคตอยากเป็นอาจารย์พัฒนานักดนตรีให้มีความสามารถ เเละอยากถ่ายทอดความรู้ รวมถึงศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยให้การสอนดนตรีมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ชีวิตการเป็นนิสิตจุฬาฯ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ขอให้น้องๆ ใช้ชีวิตช่วงนี้ให้เต็มที่ ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เเละทำในสิ่งที่อยากทำ มีความอดทน สนุกที่จะเรียนรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำจะเป็นประโยชน์กับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเเน่นอน” จิรายุฝากข้อคิดทิ้งท้าย
รัฐกร ใจเย็น บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ อดีตนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ กล่าวว่าการสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตจุฬาฯ เหมือนได้มาถึงจุดหนึ่งที่สำคัญของชีวิต และจะเริ่มการเดินทางครั้งใหม่ในเป็นโลกความเป็นจริงที่ต้องออกไปเผชิญด้วยตัวเอง
หลักในการเรียนที่ผ่านมาของรัฐกร มีการจัดลำดับความสำคัญทั้งเรื่องชีวิต กิจกรรมและการเรียนให้สามารถไปด้วยกันได้ 4 ปีที่ใช้ชีวิตในจุฬาฯ ประทับใจกับสังคมและเพื่อนๆ ได้เปิดรับความคิดใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันที่ช่วยเปิดมุมมองของเราให้หลากหลายมากขึ้น ในอนาคตอยากจะทำงานเพื่อค้นหาสิ่งที่สนใจเพิ่มเติม จากนั้นจะไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อเปิดโลกความคิดของเราให้กว้างขึ้น และจะกลับมาทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป
“แต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน อยากให้น้องๆ ทุกคนใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุดในแบบฉบับของตนเอง เพื่อที่เราจะได้ไม่เสียดายในอนาคตหากยังไม่ได้ลงมือทำ” รัฐกรกล่าว
กาญจนาภา วัฒนธรรม มหาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ตั้งใจเรียนต่อในระดับปริญญาโทในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาให้สำเร็จ เพราะอยากมอบเป็นของขวัญให้คุณพ่อก่อนเกษียณ เมื่อสำเร็จการศึกษาตามที่มุ่งหวังจึงรู้สึกภาคภูมิใจมาก การเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ต้องตั้งเป้าหมายและวางไทม์ไลน์ต่างๆ ให้ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ หากกระบวนการทำงานที่วางไว้เริ่มล่าช้า ต้องหาแผนรับมือและเร่งให้ทันกำหนดการเดิมให้ได้
กาญจนาภายังได้เผยถึงความประทับใจที่มีต่อจุฬาฯ ว่า จุฬาฯ มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรที่สนับสนุนการเรียนรู้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ทั้งสถานที่ เทคโนโลยี และแหล่งความรู้ต่างๆ จุฬาฯ มีอะไรดีๆ มากกว่าที่เห็นจากภายนอก รวมถึงมิตรภาพดีๆ ที่ได้รับจากชาวจุฬาฯ ทุกคน เธอยังได้ฝากข้อคิดแก่นิสิตรุ่นน้องในเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตนิสิตจุฬาฯ ว่าขอให้ตระหนักในคุณค่าของเวลาให้มาก บริหารจัดการชีวิตให้ดีๆ แล้วความสำเร็จก็จะตามมาแน่นอน
เทศกาลความสนุกส่งท้ายปี “Siam Street BIG RETURN 2024” 20-22 ธันวาคมนี้ที่สยามสแควร์ ชมฟรีตลอดงาน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จัดงานประกาศผลมูลค่าแบรนด์องค์กร ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2024 มอบรางวัลสุดยอดแบรนด์องค์กรและรางวัลหอเกียรติยศ
ผศ.ทพ.ดร.ศุภชัย ชื่นจิตรวงษา ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ได้รับยกย่องเป็นทันตแพทย์ดีเด่น ด้านพัฒนาวิชาชีพ
จุฬาฯ จัดงาน “Chula Townhall” เปิดวิสัยทัศน์พัฒนามหาวิทยาลัยรอบทิศโดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง พร้อมส่งความสุขปีใหม่ให้ชาวจุฬาฯ
จุฬาฯ เสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการแก่ผู้บริหาร หลักสูตร The Leader Prospects รุ่นที่ 14
เชิญชวนชาวจุฬาฯ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาฯ ครั้งที่ 45 ประจำปี 2568
27 มกราคม – 7 มีนาคม 2568
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้