รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
18 กรกฎาคม 2565
ข่าวเด่น, ความภูมิใจของจุฬาฯ
นิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ บูรณาการความรู้ทำงานร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร ถนนสายไม้บางโพ จากโจทย์ปัญหาจริง นำเสนอความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพมหานครที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ต้องปรับตัวเองเพื่อ รับการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเมืองและธุรกิจการค้าในโลกยุคใหม่ ประกอบกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจการค้าซบเซา หนึ่งในนั้นคือชุมชนประชานฤมิตรชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะแหล่งรวมผู้ประกอบการงานไม้มายาวนานมากกว่า 60 ปี ตลอดสองข้างทางในซอยประชานฤมิตรเป็นแหล่งรวมของร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้ งานตกแต่ง งานแกะสลักไม้ งานช่างและสารพัดงานไม้ที่ให้บริการครบวงจรในที่เดียว
โครงการ “ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565” ได้เปิดโอกาสให้นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จากภาควิชาต่างๆ จำนวน 40 คนใช้เวลากว่า 1 เดือนในช่วงปิดเทอมลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ ออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหา และลงมือสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับชาวชุมชนประชานฤมิตร มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจนกลายเป็นนิทรรศการ “บางโ พซิเบิ้ล” หรือ “BANG PO(SSIBLE)” ซึ่งจัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ ตั้งแต่บัดนี้ – 30 กรกฎาคม 2565
กว่าจะเป็นนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
“ที่ผ่านมาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดกิจกรรมสำหรับนิสิตในช่วงปิดเทอมในรูปของกิจกรรมค่ายอาสาในพื้นที่ที่ห่างไกล โครงการ “ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565” เป็นโครงการแรกที่นิสิตได้เข้าไปทำงานในชุมชนเมืองที่ประสบปัญหาชุมชนเริ่มเสื่อมโทรม ชุมชนมีแต่ผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ย้ายออก ซึ่งเป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเมืองในปัจจุบัน” ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้
นิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” มีจุดเริ่มต้นมาจากชุมชนประชานฤมิตร บางโพติดต่อมาที่คณะฯ เนื่องจากธุรกิจงานไม้ของชุมชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ช่างฝีมืองานไม้ในชุมชนขาดคนรุ่นใหม่มาสืบทอด ในขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมๆ นอกจากนี้ชุมชนยังต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นรายล้อมชุมชน ในขณะที่ชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีเตาปูนและสถานีบางโพธิ์ รวมทั้งไม่ไกลจากสถานีรถไฟสถานีกลางบางซื่อ จึงเพิ่มทางเลือกในการเดินทางมายังชุมชนได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่าจากการพูดคุยกับชาวชุมชนประชานฤมิตร เห็นว่าศักยภาพของชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนจากการขายวัสดุงานไม้ไปสู่การออกแบบที่มีการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ลงนาม MOU ร่วมกับชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยช่วงเวลา 2 ปีแรกได้นำเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนนิสิตในคณะ และในปีนี้ได้ใช้เวลา 1 เดือนที่นิสิตปิดเทอมจัดโครงการ“ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565”ซึ่งเป็นการนำโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากชุมชนเมืองมาให้นิสิตร่วมกันคิด โดยเปิดโอกาสให้นิสิตจากหลายหลักสูตรทั้งภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง สถาปัตยกรรมไทย การออกแบบอุตสาหกรรม ทำงานร่วมกับชุมชน จัดทำข้อเสนอและเชิญชุมชนมาให้ข้อคิดเห็น จนเป็นที่มาของนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” ในครั้งนี้
วัตถุประสงค์ของนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
นิทรรศการครั้งนี้นำเสนอความเป็นไปได้ 3 เรื่อง ได้แก่
– ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงของบางโพ การเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของชุมชนถนนสายไม้บางโพจากการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างรวดเร็ว
– ความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านแนวทางข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชนประชานฤมิตรและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
– ความเป็นไปได้ของการสร้างความร่วมมือของชุมชนผ่านนิทรรศการ สร้างความร่วมมือและมีส่วนร่วมในระดับชุมชน และดำเนินการผลักดันการอนุรักษ์พัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติ
อัตลักษณ์ของชุมชนประชานฤมิตร
ชุมชนประชานฤมิตรบนถนนสายไม้บางโพ มีความโดดเด่นที่การประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานไม้ที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ งานต้นน้ำ เป็นการแปรรูปซุงเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อสร้างบ้าน เช่น เสาไม้ แผ่นไม้ งานกลางน้ำ เป็นการนำไม้มาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ส่วนปลายน้ำ ในชุมชนมีช่างแกะสลักงานไม้ที่มากฝีมือ ระยะทาง 1 กิโลเมตรในซอยประชานฤมิตรเป็นแหล่งจำหน่ายงานไม้ที่ใหญ่ที่สุดลำดับต้นๆ ของประเทศไทย มีผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 149 ร้าน ผลิตภัณฑ์งานไม้ในชุมชนราคาไม่แพง ลูกค้ามีทุกระดับ
ความน่าสนใจของนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
พื้นที่ชั้นล่างของร้าน “สมเกียรติการช่าง” อาคารสองคูหาริมถนนในซอยประชานฤมิตรที่ถูกทิ้งร้าง ได้กลายเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” เนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามขอบเขตของงานที่นิสิตรับผิดชอบ ได้แก่ กลุ่มปรับปรุงพื้นที่ กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกลุ่มสื่อประชาสัมพันธ์ แต่ละกลุ่มมีนิสิตจากหลายภาควิชาทำงานบูรณาการร่วมกัน เป็นโอกาสที่นิสิตได้เรียนรู้ข้ามศาสตร์ตามความสนใจ โดยมีชุมชนสนับสนุนพื้นที่การทำงาน ที่พัก ให้ความช่วยเหลือในการผลิตหุ่นจำลองและต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอในนิทรรศการ รวมทั้งจัดทำป้ายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มเติม นิทรรศการครั้งนี้นิสิตได้นำเสนอแนวคิดทั้งสามกลุ่มที่นิสิตเลือกตามความสนใจ พร้อมเสนอทางเลือกว่าชุมชนมีความชอบแบบใด
ข้อเสนอของนิสิตเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนถนนสายไม้บางโพ
กลุ่มการปรับปรุงพื้นที่
– การปรับปรุงคลองซึ่งในอดีตใช้ในการขนส่งซุงเพื่อนำมาผลิตเป็นงานไม้ในชุมชน ปัจจุบันคลองเป็นที่ระบายน้ำ ไม่ได้ใช้งาน หากมีการปรับปรุงคลองให้สามารถสัญจรได้จะช่วยเปิดพื้นที่ทำให้คนกลุ่มใหม่ๆ ที่เดินทางจากรถไฟฟ้าสามารถเข้าถึงกลางชุมชนได้ง่าย ส่วนคลองบางโพขวางซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของชุมชน นิสิตเสนอให้คลองนี้เป็นคลองสหชุมชนสำหรับหลายชุมชนที่มีคลองผ่านมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
– ซอยประชานฤมิตร เป็นถนนวันเวย์ และมีซอยคู่ขนานชื่อซอยไสวสุวรรณ ซอยประชานฤมิตร มีปัญหาไม่สามารถจอดรถข้างทางได้ นิสิตได้เสนอให้ปรับปรุงถนนเพื่อให้สามารถเข้ามายังชุมชนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งปรับปรุงการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์งานไม้จากเดิมที่ต้องขับรถมาซื้อของที่โชว์หน้าร้าน เปลี่ยนเป็นมีโกดังกลางที่ลูกค้าสามารถดูสินค้าและสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ มีการส่งของจากโกดังกลางไปให้ถึงที่บ้าน
กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์
นิสิตได้สร้างสรรค์บานประตูรูปแบบใหม่ที่มีฟังก์ชั่นหมุนด้านบนแล้วทำให้ถาดเครื่องปรุงออกมาอยู่ด้านนอกได้ บานประตูมีที่ใช้เท้าเหยียบแล้วมีที่ยื่นออกมาเป็นที่วางจาน ส่งอาหารได้ นอกจากนี้ยังได้ผลิตหิ้งพระบูชารูปแบบใหม่ที่ติดตั้งอยู่มุมห้อง ช่วยประหยัดพื้นที่
กลุ่มการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์
นิสิตได้ออกแบบโลโก้ชุมชนประชานฤมิตรจำนวน 6 แบบให้คนในชุมชนเลือก รวมทั้งจัดทำมาสคอตเป็นที่แขวนม่านและราวลูกกรงไม้ ซึ่งเป็นไอเดียที่แปลกใหม่และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ความท้าทายในการสร้างสรรค์นิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล”
ผศ.ดร.ปริญญ์กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นิสิตกับช่างฝีมือในชุมชนมาจับมือทำงานร่วมกัน พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เกิดเป็นผลผลิตที่จับต้องได้ ชุมชนประชานฤมิตรเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีหลายเจเนอเรชั่น ความท้าทายอยู่ที่การทำให้คนจำนวนมาก ในชุมชนมาพูดคุยในเรื่องเดียวกัน เกิดความเห็นและผลักดันโครงการที่นิสิตนำเสนอต่อไป นอกจากนี้ข้อเสนอของนิสิตในการปรับปรุงในเชิงพื้นที่ไปสู่อนาคต ชุมชนไม่สามารถทำเองได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและกลุ่มที่ให้การสนับสนุน
“ความยั่งยืนต้องเกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่เริ่มแรก โดยชุมชนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโครงการขึ้นมา และสถาบันการศึกษาเข้าไปช่วยสนับสนุน นิทรรศการครั้งนี้จะทำให้คนในชุมชนได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะได้รับโอกาสอะไรบ้าง สำหรับบุคคลภายนอกชุมชนจะได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของเมือง ได้สัมผัสบรรยากาศของชุมชนประชานฤมิตรที่เป็นแหล่งรวมงานไม้ที่ครบวงจรที่เดียวในกรุงเทพฯ ในขณะที่เยาวชนที่มาชมนิทรรศการจะได้แรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” จัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ ซอยประชานฤมิตร ตั้งแต่บัดนี้ – 30 กรกฎาคม 2565 วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 จะมีการจัดกิจกรรม Learning Day เชิญชวนนักเรียนมาชมนิทรรศการ โดยมีนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้นำชม ทั้งนี้หลังจากจบนิทรรศการแล้ว มีโครงการจะนำนิทรรศการดังกล่าวมาจัดแสดงที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ต่อไป
ดุสิต วงษ์ล้วนงาม เลขาวิสาหกิจชุมชนประชานฤมิตร เผยว่า “แนวคิดที่นิสิตนำเสนอ เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์ เป็นแนวคิดที่ชุมชนชื่นชม ทางเขตบางซื่อสนใจจะเข้ามาพัฒนาชุมชนนี้ด้วย นิทรรศการนี้เหมาะสำหรับผู้สนใจงานสถาปัตยกรรม เฟอร์นิเจอร์ การออกแบบชุมชน การเดินทางมาชมนิทรรศการก็สะดวก มีรถไฟฟ้า 2 สาย สถานีบางโพ สถานีเตาปูน รวมทั้งรถโดยสาร”
กัณฐิกา พุฒิดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ถนนสายไม้บางโพ กล่าวว่า”ขอขอบคุณนิสิตและคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ทำให้เห็นว่าความร่วมมือร่วมใจกันทำให้เกิดพลัง นิสิตเก่งมาก สามารถจำลองให้เห็นภาพและแผนอนาคตที่เป็นไปได้ในการพัฒนา ข้อเสนอของนิสิตสามารถนำไปใช้จริงได้ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการครั้งนี้ผ่านทาง Facebook, Instagram, Youtube : Bangpho Wood Street ซึ่งผู้มาชมนิทรรศการสามารถนำแนวคิดไปปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ได้”
นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Spark the Local 2024 by PTT
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ต้อนรับผู้แทนจาก Indiana University สหรัฐอเมริกา เจรจาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการ
ศศินทร์จัด Open House แนะนำหลักสูตรต่างๆ วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567
30 พ.ย. 67 เวลา 10.00 น.
ศศินทร์ จุฬาฯ
เชิญฟังการบรรยาย Chula Lunch Talk หัวข้อ “Smart VET-Learning: นวัตกรรม AR สู่การศึกษาสัตวแพทย์ยุคดิจิทัล”
ครุศาสตร์ จุฬาฯ เชิญร่วมสองกิจกรรมโครงการ “เล่นเพลินสำหรับเด็กปฐมวัย” “นิทานฟังเพลิน” และ “Happy Play Day”
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปอมท.” ประจำปี 2567
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้