ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ ร่วมจัดโครงการ International Friends for Peace 2022 นำนักเรียนมัธยมต้นเสนอไอเดียเพื่อยุติความรุนแรง และการข่มเหงรังแกในโรงเรียน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรผู้นำนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย และบริษัทโกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Innovation Hub) เป็นเจ้าภาพจัดโครงการ International Friends for Peace 2022 เนื่องในวันสันติภาพโลก 21 กันยายน 2565 นำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 30 คนจาก 10 ทีมนำเสนอแนวคิดในหัวข้อ “หลังเสียงออดดังขึ้น น้องและเพื่อนจะช่วยลดความรุนแรงในโรงเรียนได้อย่างไร” โดยจัดการแข่งขันประชันไอเดียสุดยอดในรอบชิงชนะเลิศและพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 801 อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนักเรียนชั้นมัธยมปลายจากทั่วประเทศที่ผ่านเข้าร่วมโครงการในรอบแรกจำนวน 1,300 คน ได้มีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 10 ทีมสุดท้ายผ่านเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โดยมี อ.กัญญสร ตัณศุภผล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน การแข่งขันครั้งนี้แต่ละทีมได้นำเสนอไอเดียและนวัตกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ด้วยความมุ่งหวังที่จะยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน นอกจากนี้ในงานยังมีการบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในหัวข้อต่างๆ อาทิ ทำไมเราต้องยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน แนวคิดและนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน เป็นต้น

โครงการ International Friends for Peace 2022 เริ่มต้นจากการค้นหาตัวแทนเยาวชนเพื่อเป็นผู้นำด้านสันติภาพ หรือ Peace Leader รุ่นแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยจัดกิจกรรมคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนกว่าหมื่นคนจากโรงเรียนต่างๆ  ทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนผู้นำที่มีคุณสมบัติหลักคือมีความปรารถนา (Passion) และความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนเยาวชนด้วยกันในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน เยาวชนกลุ่มนี้ได้คิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดความรุนแรงในโรงเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะของการคิดเพื่อออกแบบ หรือ Design Thinking และการสร้างโครงการ (Project Creation)  พร้อมนำเสนอต่อหน้าสาธารณชน

     โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมสร้างตัวแทนเยาวชนที่จะมาร่วมเป็นผู้นำด้านสันติภาพในระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัยในปีต่อไป ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดความรุนแรงในโรงเรียนจะสามารถช่วยเหลือเพื่อนนักเรียน ครู โรงเรียนและสังคมไทยได้ นอกจากนี้ตัวแทนเยาวชนผู้นำด้านสันติภาพทั้ง 30 คนจะช่วยเป็นกระบอกเสียงสร้างความตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงทั้งในโรงเรียนและครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายตัวแทนเยาวชนไทยและสร้างผู้นำด้านสันติภาพ หรือ Peace Leader กว้างขวางมากยิ่งขึ้น  เพื่อให้นักเรียนไทยได้เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำและพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 สามารถช่วยยุติปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในเร็ววัน

นายธีรกร อานันโทไทย
น.ส.ศรัญญา ศิริรัตน์

นายธีรกร อานันโทไทย ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันสอนภาษาอังกฤษ Globish และน.ส.ศรัญญา ศิริรัตน์ สมาคมไอเซคแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานโครงการนี้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในโรงเรียนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์หาแนวทางยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน โดยมุ่งไปที่กลุ่มน้องๆ มัธยมต้นเพราะมีความเป็นได้สูงมากที่จะเจอกับการ bully ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะมีส่วนรับรู้ รวมถึงแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การสร้างภาคีเครือข่ายที่เรียกว่า Peace Leader จะทำให้น้องๆ นำวิธี  Design Thinking  มาใช้ในกระบวนการการเข้าใจเหยื่อที่ถูกกระทำ และช่วยหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันลดปัญหานี้ให้เกิดได้จริง

ด.ญ.ประณิตา อุทัยเฉลิม โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ด.ญ.มัญชุวีร์ ศักดิ์ชนะลายา โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้เซนต์ยอห์นบอสโก และ ด.ญ.ธนิกา ชมภูทีป โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จากทีม “School-ly” ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า การแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น (bully) ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนไม่ควรแก้ที่ปลายเหตุคือตัวนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อของการ bully แต่ควรย้อนกลับไปที่ต้นเหตุ ด้วยการทำให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีแก่นักเรียนจะช่วยแก้ปัญหาการ bully ให้ลดลงได้

การแข่งขันในครั้งนี้ นักเรียนทั้งสามได้สร้างเกมที่ชื่อว่า “School-ly” เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการถูก bully ในลักษณะ  Edutainment เพื่อทำให้เด็กๆ เรียนได้สนุก ไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งเกมนี้มีจุดเด่นในการใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ตัวเกมจะถามว่าเราควรทำอะไร โดยมีการให้สวมบทบาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ bully ในโรงเรียน นวัตกรรมที่สร้างขึ้นนี้จะมีส่วนช่วยตรวจสุขภาพจิตของเราได้ รวมทั้งเป็นการฝึกตัวเองว่าถ้าเจอสถานการณ์จริงเราควรทำอย่างไร

“ปัญหาความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เด็กเสียความมั่นใจ และเป็นปมในใจไปอีกนาน อยากบอกว่าปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง เราควรแก้ปัญหาในภาพรวม เพื่อช่วยให้ปัญหานี้ค่อยๆ หายไป” สามนักเรียนคนเก่งได้ฝากข้อคิดที่น่าสนใจทิ้งท้าย

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า