รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
21 ตุลาคม 2565
ข่าวเด่น
ผู้เขียน คณาจารย์ศศินทร์ จุฬาฯ
คณาจารย์ศศินทร์ จุฬาฯ ชี้ อนาคตสังคมสูงวัยในประเทศไทย อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คาดการณ์ หากเปลี่ยนมุมมองต่อผู้สูงวัยให้เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพ โดยใช้แนวคิดที่เรียกว่า “สะกิดใจ” (Nudging) สนับสนุนให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการดูแลสุขภาพของตนเอง
โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะมองว่าการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประเทศ ประเทศจะมีผู้สูงวัยจำนวนมาก ซึ่งผู้สูงวัยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่มีรายได้เพราะอายุเกินที่จะทำงาน มีสุขภาพที่ไม่ดี เต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาล เป็นการเอาเงินเก็บ (ถ้ามี) ไปให้หมอ
คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ ผู้นำเสนอบทความเรื่องนี้เชื่อว่าอนาคตของการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยสามารถสดใสได้มากกว่านี้ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยอาจเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศก็เป็นได้ ในบทความนี้คณาจารย์ผู้เขียนบทความได้นำเสนอแนวคิดใหม่ 2 แนวคิด ซึ่งหากนำ 2 แนวคิดนี้มารวมกัน เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะ “สะกิดใจ”ให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างทรงพลัง
แนวคิดที่ 1: การปันผลทางประชากรระยะที่สาม (The Third Demographic Dividend)
การปันผลทางประชากรระยะที่สามเป็นแนวคิดใหม่ที่องค์การสหประชาชาตินำเสนอขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ และเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัย ถ้าเรามองการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอีกมุมหนึ่ง โดยในมุมนี้เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในระยะสูงสุด ประเทศจะมีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมากและผู้สูงวัยเหล่านี้จะมีจำนวนมากกว่าหนึ่งในสามของจำนวนประชากรในประเทศ หากเราเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองไปจากเดิม โดยมองว่าผู้สูงวัยสามารถเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าให้กับประเทศ และอาจเป็นทรัพยากรหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ ผู้สูงวัยสามารถเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศได้ด้วยสาเหตุ 3 ประการ
ประการแรก มีอาชีพจำนวนไม่น้อยที่ผู้ประกอบอาชีพจะมีทักษะเพิ่มขึ้นตามอายุ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น อาชีพที่เน้นทักษะด้านการสื่อสาร อาทิ ครู อาจารย์ นักขาย นักกฎหมาย และผู้จัดการ ดังนั้นถ้าผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเหล่านี้อยู่แล้วสามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ต่อไปได้ หรือผู้สูงวัยในอาชีพอื่นสามารถได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ (New Skills) และประกอบอาชีพที่ทักษะเพิ่มขึ้นตามอายุ จำนวนและผลิตภาพแรงงานในประเทศอาจจะเพิ่มขึ้น (หรือไม่ลดลงอย่างรุนแรง) และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ประการที่สอง แม้ว่าเป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าบางอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เน้นการใช้ร่างกาย ความจำ หรือความรวดเร็วในการทำงาน อาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ทักษะจะลดลงตามอายุ แต่ในปัจจุบันการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technologies) หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีการควบคุมหุ่นยนต์จากระยะไกล หรือเทคโนโลยีโลกเสมือน (Virtual Reality) ต่างก็เป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ และทำให้ผู้ประกอบอาชีพที่ทักษะอาจเคยลดลงตามอายุ มีทักษะที่เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมก็เป็นได้ ดังนั้นถ้าผู้สูงวัยที่ประกอบอาชีพที่ทักษะลดลงตามอายุ สามารถได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ (New Skills) ในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่กล่าวไปข้างต้น จำนวนและผลิตภาพแรงงานในประเทศอาจเพิ่มขึ้น (หรือไม่ลดลงอย่างรุนแรง) และเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ประการที่สาม ผู้สูงวัยเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ และมีเวลา จึงสามารถมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาทางสังคมด้วยการเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการต่าง ๆ ในด้านที่ผู้สูงวัยแต่ละคนมีประสบการณ์และมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสอนหนังสือให้กับผู้ยากไร้หรือผู้พิการ โครงการด้านการพัฒนาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โครงการช่วยเหลือสัตว์ที่พิการ หรือโครงการด้านศาสนาและวัฒนธรรม
แนวคิดที่ 2: การ “สะกิดใจ” ให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี (Nudging for Healthy Aging)
การปันผลทางประชากรระยะที่สามที่กล่าวไปข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนไทยเป็นผู้สูงวัยที่สุขภาพไม่ดี ดังนั้นการเตรียมพร้อมให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่การเตรียมพร้อมให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีเป็นเรื่องที่ “พูดง่าย แต่ทำยาก” โดยทั่วไปเรามักจะคิดว่าการส่งเสริมให้คนในครอบครัว คนในองค์กร หรือประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่ดี สิ่งแรก สิ่งเดียว และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำคือการให้ข้อมูล ให้ความรู้ว่าควรมีพฤติกรรมอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพดี เช่น ให้คำแนะนำว่าควรทานอาหารอย่างไร ควรออกกำลังกายอย่างไร หรือควรป้องกันโรคต่าง ๆ อย่างไร เป็นต้น แน่นอนว่าคำแนะนำเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากจะอ้างอิงมาจากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่ถูกพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับแล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริง ผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทำ หรือไม่สามารถทำตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ “ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้ว” ว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพของตนเองในปัจจุบันและในอนาคต
ในแนวคิดที่สองนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าเราสามารถเพิ่มทางเลือกเพิ่มเติมจากจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี งานวิจัยจำนวนมากในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) พบว่าการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อย เพราะคนส่วนมากติดกับดักหรืออุปสรรคทางความคิด (Cognitive Biases) ผู้เขียนเชื่อว่าวิธีการที่เหมาะสมคือการใช้การ “สะกิดใจ” (Nudging) ที่เป็นแนวคิดที่ถูกบุกเบิกโดย ศาสตราจารย์ ริชาร์ด เทลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2017 มาปรับใช้ ตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากมักจะสั่งอาหารเวลาหิว ซึ่งจะทำให้สั่งอาหารเป็นจำนวนมาก สั่งอาหารที่เน้นความอร่อยโดยลืมความสำคัญทางโภชนาการหรือด้านสุขภาพไปโดยสิ้นเชิง (เพราะกำลังหิว)
อย่างไรก็ดี งานวิจัยทางเศรษศาสตร์พฤติกรรมหลายชิ้นพบว่า ถ้าเราสั่งอาหาร “ล่วงหน้า” (ตอนไม่หิว) จะสามารถทำให้เราสั่งอาหารในปริมาณที่พอดี และให้ความสำคัญทางโภชนาการหรือด้านสุขภาพในอาหารที่เราจะสั่งได้มากขึ้น ดังนั้นถ้าภาครัฐ ร่วมมือกับแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารชั้นนำที่คนใช้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ให้คูปองส่วนลดหรือคะแนนสะสมในกรณีที่ผู้ใช้สั่งอาหารล่วงหน้า หรือสั่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นการสะกิดใจ อาจเป็นการลงทุนที่มีคุณค่าและคุ้มค่าต่อประเทศในอนาคต อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น คนจำนวนมากมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีขึ้น โดยการสัญญากับตัวเองในวันปีใหม่ว่าปีนี้จะลดน้ำหนักให้ได้ หรือจะออกกำลังกายให้ได้อาทิตย์ละ 3 ครั้ง แต่งานวิจัยทางเศรษศาสตร์พฤติกรรมหลายชิ้นพบว่าคนจำนวนมากกลับทำไม่สำเร็จ โดยงานวิจัยพบว่าสิ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่เพียงแค่ความตั้งใจหรือการสัญญากับตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมีแผนที่จะรับมือกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะขัดขวางการทำให้สำเร็จ เช่นถ้าตั้งใจว่าจะลดน้ำหนักแต่เพื่อนที่ทำงานชวนไปทานบุฟเฟต์ เราจะรับมือกับอุปสรรคเช่นนี้อย่างไร เราอาจไม่ไปเพราะเราสั่งอาหารมาทานล่วงหน้าแล้ว หรือถ้าจำเป็นต้องไปเราจะรับมืออย่างไร สิ่งที่สำคัญคือเราไม่ควรจัดการกับอุปสรรค “ในขณะที่กำลังเผชิญกับอุปสรรค” แต่เราควรมีแผนในการจัดการกับอุปสรรคที่คาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นเพราะเราจะรับมือกับอุปสรรคเหล่านี้ได้ดีกว่า
โดยสรุป การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยสามารถเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้ แต่การที่ประเทศจะได้รับประโยชน์ที่ถูกเรียกว่าการปันผลทางประชากรระยะที่สามนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนไทยเป็นผู้สูงวัยที่สุขภาพไม่ดี แต่การเตรียมพร้อมให้คนไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ “พูดง่าย แต่ทำยาก” การให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อย เพราะการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหา ในทางกลับกันแนวคิดจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสามารถนำมาปรับใช้ เพราะเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ต้องอาศัยการเข้าใจ “ธรรมชาติ” ที่แท้จริงของการตัดสินใจของมนุษย์ และอาศัยธรรมชาตินี้ในการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ “อย่างเป็นธรรมชาติ”
*บทความนี้ถูกเขียนขึ้นจากองค์ความรู้ในหนังสือเรื่อง “การปันผลทางประชากรระยะที่ 3 ของประเทศไทย: โอกาสจากสังคมสูงวัยที่สร้างได้ด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” โดย ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ศ.ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน และ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน ที่อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์*
ครุศาสตร์ จุฬาฯ เชิญร่วมสองกิจกรรมโครงการ “เล่นเพลินสำหรับเด็กปฐมวัย” “นิทานฟังเพลิน” และ “Happy Play Day”
อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปอมท.” ประจำปี 2567
อธิการบดีจุฬาฯ ได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASAIHL) ปี 2025-2026
นิสิตภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน CHOICEISYOURS 2024
จุฬาฯ เชิญชวนร่วมงาน “One Stop Open House 2024” โดยกระทรวง อว. ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมด้านจิตวิทยา “BRIDGING DISCIPLINES: Incorporate Psychology into Your Endeavor”
8 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น.
ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้