ข่าวสารจุฬาฯ

APEC University Leaders’ Forum 2022
เปิดเวทีการประชุมอภิปรายระดับสูงของผู้นำด้านการศึกษา
ว่าด้วยการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป

APEC University Leaders’ Forum 2022 เวทีการประชุมที่ทุกคนต่างตั้งตารอ ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit 2022 เป็นเวทีความร่วมมือระดับโลกที่อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้กำหนดนโยบายให้การสนับสนุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำวิจัยและกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

ผู้นำธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในThe Association of Pacific Rim Universities หรือ APRU ซึ่งเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก 60 แห่งจาก 19 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเปก มาร่วมประชุมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในงาน APEC University Leaders’ Forum (AULF) 2022 ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในฐานะที่เป็นเวทีคู่ขนานกับงานประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่ได้รับการคัดเลือกให้จัดขึ้นในปีนี้ ณ ประเทศไทย เวทีการประชุมนี้เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับโลกมาร่วมกันวางแผนผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันข้ามทวีป

หลังจากที่โลกประสบกับความปั่นป่วนจากโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี ปีนี้ AULF ได้เตรียมเวทีไว้ให้สำหรับผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ธุรกิจ และการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อร่วมหารือถึงวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวของโลก หากเกิดโรคระบาดอีกครั้ง

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 20 คนได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานวิจัย กลยุทธ์ และนโยบายร่วมกัน โดย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ยีน ดี บล็อก ประธาน APRU และอธิการบดี University of California, Los Angeles (UCLA) ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการประชุม

ศาสตราจารย์ ยีน ดี บล็อก จาก UCLA กล่าวว่า นับเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำด้านวิชาการ ธุรกิจ และการเมือง มาประชุมกันที่ AULF 2022 เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการสร้างโลกในอนาคตที่แข็งแกร่ง มีไหวพริบในแก้ปัญหาและยืดหยุ่นมากขึ้น

“ในนามของเครือข่าย APRU ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ วิทยากร และผู้เข้าร่วมจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าสู่เวทีการประชุม APRU APEC University Leaders’ Forum 2022 ซึ่งแนวคิดหลักในปีนี้เกี่ยวกับโลกของพวกเราที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาเกือบ 3 ปีจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19”

ศาสตราจารย์ ยีน ดี บล็อก กล่าวเสริมว่า “เวทีการประชุมนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้นำจากหลากหลายภาคส่วนและภูมิภาค จะมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันมุมมอง กลยุทธ์ และเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่อีกครั้ง”

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีที่ได้รวมผู้นำทางความคิดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองทั่วโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อในพลังความร่วมมือและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสถาบันอื่น เครือข่าย APRU และผู้นำ เพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกัน”

หลังจากที่ศาสตราจารย์ ยีน ดี บล็อก ได้กล่าวปราศรัยพิเศษว่าด้วยความร่วมมือระดับโลกที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมฟังแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Preventing the Next Pandemic – The Global Partnership Agenda: Government, Business and Research University” สรุปได้ว่าการประชุมทางวิชาการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC รวมถึงเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดจนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน เช่นเดียวกับประเด็นสำคัญในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ที่มุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” นอกจากนี้การประชุมฯ ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ ที่พร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความถูกต้องของข้อมูล การเผยแพร่/รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งภาคการศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤต โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศในการดำเนินนโยบายและมาตรการการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการดูแลประชาชน ทำให้องค์การอนามัยโลกเลือกไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง “การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาที่ร่วมมือกับ ศบค. ช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน

 นายกรัฐมนตรีหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบไป

สำหรับไฮไลท์อื่น ๆ ของเวทีการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การอภิปรายชวนคิด 3 หัวข้อที่จะค้นหาวิธีการสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการทำวิจัย การวางกลยุทธ์ และการจัดการกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

การอภิปรายในช่วงแรก หัวข้อ “ความร่วมมือด้านงานวิจัยชีวการแพทย์ (Partnering on Biomedical Research)” มีผู้นำจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงการตอบสนองทางชีวการแพทย์ เช่น การผลิต แจกจ่ายสินทรัพย์ทางชีวการแพทย์และการรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลก

ในช่วงที่สอง ผู้ร่วมอภิปรายมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมของการระบาดใหญ่ ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือด้านกลยุทธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ (Partnering on Effective Socio-cultural Strategies)” ซึ่งได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายในการกำหนดกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขในโลกที่มีความหลากหลายแต่เชื่อมโยงถึงกัน

ช่วงสุดท้ายได้กล่าวถึงหัวข้อที่เป็นหัวใจของโลกดิจิทัลคือ“ความร่วมมือในการต่อสู้กับภาวะข้อมูลระบาด (Partnering on Combatting the Infodemic)” ผู้ร่วมอภิปรายได้ประเมินบทบาทของข้อมูลที่เป็นเท็จและข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดเรื่องโรคระบาดและเรื่องเร่งด่วนในหลายประเทศ เพื่อจัดการกับปรากฏการณ์นี้ร่วมกัน

ศาสตราจารย์ ร็อกกี้ เอส ตวน รองประธาน APRU และอธิการบดี The Chinese University of Hong Kong ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัย ชีวการแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกและอื่น ๆ

ศาสตราจารย์ ร็อกกี้ เอส ตวน ตั้งข้อสังเกตว่า “แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะพ้นจากเงามืดของการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว แต่ประสบการณ์ร่วมกันของพวกเราในช่วงสามปีที่ผ่านมาทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ กลุ่ม NGO และชุมชนในยามที่ต้องหาทางจัดการกับวิกฤตสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้นคว้าวิจัย การผลิต การรวมตัวกัน และการแจกจ่ายทรัพยากรทางชีวการแพทย์และการรักษาโรค”

ศาสตราจารย์ เดโบราห์ เทอร์รี่ อธิการบดี The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประเมินปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กับกำหนดกลยุทธ์สำหรับอนาคตโดยกล่าวว่า “เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก การประเมินบทบาทของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วโลก เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างหลักประกันว่าพวกเราสามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ยุติธรรม และครอบคลุม”

ศาสตราจารย์ ดอห์น เฟรชวอเทอร์ รองอธิการบดี The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง”Infodemic” ว่า “โลกของพวกเรานั้นเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิมในยุคดิจิทัลนี้ ข้อมูลจะถูกส่งต่อและแบ่งปันภายในเศษเสี้ยววินาทีข้ามพรมแดน ภาษา และความเชื่อ การต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดและถูกบิดเบือนจะมีความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ในบริบทนี้ ความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการบรรลุเป้าหมาย”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ APRU และเวทีการประชุม อ่านต่อได้ที่ https://www.apru.org

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า