ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดงานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประจำปี 2565

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม สภาวัฒนธรรมอำเภอแม่ริม กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ภาคเหนือ สถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ และประชาชนชาวเชียงใหม่ จัดงานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประจำปี 2565 ณ พระตำหนักดาราภิรมย์  อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2565 เพื่อเชิดชูพระเกียรติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี  ขัตติยนารีผู้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการอันเป็นคุณูปการต่อดินแดนล้านนา

งานวันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประกอบด้วย นิทรรศการเรื่อง “ดารารัศมี รัตนเทวีแห่งนครเชียงใหม่”โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ  เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ อาคารรัศมีทัศนา  ในงานมีการแสดงนาฏศิลป์ รวมทั้งมีงานเลี้ยงรับรองแบบกาดหมั้ว กาดเมือง โดยนิทรรศการเรื่อง “ดารารัศมี รัตนเทวีแห่งนครเชียงใหม่” จะเปิดให้ชมเป็นเวลา 3 เดือน 

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2565 ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นประธานพิธีบวงสรวงถวายสักการะพระราชชายาเจ้าดารารัศมี หลังจากนั้น ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายฯ พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ หน้าพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมพิธีวาง พวงมาลาถวายสักการะเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ถวายโดยกลุ่มศิลปินจากชมรม สถานศึกษา องค์กรต่างๆ กิจกรรมกาดหมั้ว การละเล่นพื้นเมือง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาอื่นๆ โดยมีประชาชนชาวเชียงใหม่และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มาร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน รวมทั้งได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ทรงเป็นพระราชชายาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดปรานมากพระองค์หนึ่ง ทรงมีพระอัธยาศัยอันงดงาม และทรงเป็นผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระบรมราชวงศ์จักรีกับดินแดนล้านนา ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ยังประโยชน์แก่ราชอาณาจักรสยาม และหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงย้ายกลับมาประทับที่นครเชียงใหม่ แล้วทรงสร้างพระตำหนักดาราภิรมย์ขึ้น ทรงใช้ตำหนักหลังนี้ปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการ  ทั้งทางด้านการเกษตรและศิลปวัฒนธรรม อาทิ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมล้านนาให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือ ทรงสร้างสวนทดลองการเกษตร ชื่อ “สวนเจ้าสบาย” เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเกษตรและทรงหวังที่จะช่วยเหลือกสิกรรมของภาคเหนือ จึงทรงทดลองปลูกดอกกุหลาบพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทรงได้มาจากสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษที่ทรงเป็นสมาชิก พันธุ์ที่โปรดที่สุดเป็นกุหลาบดอกใหญ่สีชมพูกลิ่นหอมเย็น จึงทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า “จุฬาลงกรณ์” อีกด้วย

“พระตำหนักดาราภิรมย์ในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี” เป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติให้เป็นผู้สืบทอดและพิทักษ์รักษา ด้วยตระหนักในภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้เอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทำการบูรณะพระตำหนักขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์งดงามใกล้เคียงสภาพเดิม   เมื่อกาลก่อน และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงสิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และ พระกรณียกิจต่างๆของพระองค์ท่าน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้า และประชาชนชาวเชียงใหม่ ในการร่วมกันบริจาคและเสาะหาสิ่งของเครื่องใช้เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากอาคารพระตำหนักดาราภิรมย์แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้จัดสร้างอาคารรัศมีทัศนา เพื่อเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และงานด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทุกๆ 3 เดือน รวมทั้งดำเนินโครงการฝึกอบรมงานทางด้านวัฒนธรรมล้านนาต่างๆ เช่น ดนตรีพื้นเมือง ช่างฟ้อน การตัดตุง และทำโคมแก่นักเรียน นักศึกษา และชุมชนโดยรอบพระตำหนักดาราภิรมย์  เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ และสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่สืบไป

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า