ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ กับระบบ EDPEx เพื่อความเป็นเลิศด้านคุณภาพการศึกษา พัฒนาการบริหารจัดการ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอบสนองการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยนำเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx)  ฉบับปี 2563 – 2566 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) มาใช้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะช่วยให้จุฬาฯ สามารถพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาให้จุฬาฯ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เสริมจุดแข็งของมหาวิทยาลัย

เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) คืออะไร และมีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร เพราะเหตุใดจุฬาฯ จึงนำ EdPEx เข้ามาใช้ ความคืบหน้าและความสำเร็จในการดำเนินการด้าน EdPEx ของจุฬาฯ ไปถึงขั้นไหนแล้ว รศ.ภก.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านกิจการพิเศษ จุฬาฯ ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้

รศ.ภก.ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ
ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านกิจการพิเศษ จุฬาฯ

– EdPEx คืออะไร และมีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร

EdPEx ย่อมาจาก “Education Criteria for Performance Excellence” หรือ “เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ” เป็นกรอบแนวคิดหรือเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการในองค์รวม ตามแนวทางของเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA ซึ่งเป็นเกณฑ์ต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่รู้จักกันในนาม TQA (Thailand Quality Award)  เมื่อนำเกณฑ์นี้มาใช้จะช่วยในการพัฒนาการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืนและชัดเจน ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีระหว่างส่วนงานต่าง ๆ 

รศ.ภก.ดร.วันชัย เปิดเผยว่า การนำ EdPEx เข้ามาใช้ในสถาบันอุดมศึกษานั้น EdPEx  จะตั้งคำถามให้มหาวิทยาลัยพิจารณาว่า

  • มีการดำเนินงานที่เป็นระบบหรือไม่
  • นำระบบไปใช้อย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และทั่วถึงหรือไม่
  • ติดตาม ประเมินผล เพื่อพัฒนาระบบให้ดีขึ้นหรือไม่
  • ผลการปรับปรุง ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายและทิศทางที่มุ่งหวังหรือไม่
  • ผลลัพธ์ของการปรับปรุง สร้างความยั่งยืนได้หรือไม่

คำถามเหล่านี้จะช่วยทำให้จุฬาฯ สามารถระบุคุณลักษณะที่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมี เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และประสบความสำเร็จในระยะยาวในสภาวะแวดล้อมด้านการศึกษาที่มีการแข่งขันสูง    โดยผู้บริหารทุกระดับและบุคลากรทั้งหมดจะได้เห็นภาพการทำงานและดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่ความสำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“EdPEx ทำให้เกิดมุมมองแนวคิดการบริหารองค์กรในเชิงระบบทุกระบบเชื่อมโยงถึงกันหมด และช่วยทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน จากจุดเน้น พันธกิจ และวิสัยทัศน์ที่จะต้องมีเป้าที่ชัดเจนร่วมกันและเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารไปตามวาระก็ตาม  แต่เป้าก็ยังต้องชัดเจน” รศ.ภก.ดร.วันชัย กล่าวถึง EdPEx กับการส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย

– การดำเนินงาน EdPEx ของจุฬาฯ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

เดิมการบริหารคุณภาพองค์กรระดับมหาวิทยาลัยใช้ระบบ QCU101 ที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นเอง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 จนถึงปีการศึกษา 2564 เน้นการวัดที่ Output/Outcome และ Gap ในการพัฒนาองค์กรสู่มาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการ ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายของ สป.อว. ที่เห็นว่าควรพัฒนาเกณฑ์ EDPEx สู่ความเป็นเลิศมาใช้กับทุกสถาบันการศึกษา เพราะการเปลี่ยนผู้บริหารทุก 4 ปี จะให้ทำมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการบริหารงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายปรับการดำเนินการด้านการบริหารคุณภาพองค์กรระดับมหาวิทยาลัยเข้าสู่เกณฑ์ EdPEx ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากลที่มุ่งเน้นสนับสนุนมุมมองเชิงระบบ (มองทุกระบบเชื่อมโยงกัน) ตั้งแต่ Input Process และ Output/Outcome ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 866 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้จุฬาฯ เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ EdPEx ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป

– ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่อง EdPEx ของจุฬาฯ

EdPEx เกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกระดับในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินงาน EdPEx 

– ความคืบหน้าในการดำเนินงาน EdPEx ของจุฬาฯ

มีความคืบหน้าใน 2 ระดับ คือ

> ระดับส่วนงาน

 ในจุฬาฯ มีคณะ สถาบันต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนและวิจัย จำนวน 35 ส่วนงาน ซึ่งมี  2 ส่วนงานที่ไม่ต้องใช้เกณฑ์ EdPEx เนื่องจากมีการใช้เกณฑ์อื่นซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ใช้เกณฑ์ AACSB กับ EQUIS ทั้ง 2 ส่วนงาน

ก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัยจะนำ EdPEx มาใช้ มี 7 ส่วนงานที่เริ่มดำเนินการงาน EdPEx ไปบ้างแล้ว ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งผ่านโครงการ EdPEx200 และ TQC (เทียบเท่า EdPEx300) ขณะนี้อยู่ในระหว่างเข้าสู่ EdPEx400  และอีก 6 คณะ กำลังยื่น EdPEx200 ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์  ซึ่งอยู่ระหว่างการสมัครเข้าร่วมโครงการ EdPEx200  ส่วนอีก 26 ส่วนงานได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2564

> ในระดับมหาวิทยาลัย

จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2565 (สิงหาคม 2565 – กรกฎาคม 2566)  โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมตามบริบทของจุฬาฯ ดูจุดอ่อนจุดแข็งของมหาวิทยาลัย

“ระบบนี้จะช่วยให้การดำเนินการของจุฬาฯ สู่ความเป็นเลิศ ช่วยพัฒนาให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต ตื่นตัว ใส่ใจเรียนรู้  เกิดการทบทวนและพัฒนากระบวนงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมถึงเกิดการบูรณาการและนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมบริหารจัดการที่ยั่งยืน” รศ.ภก.ดร.วันชัย กล่าวย้ำ

– ความท้าทายในการดำเนินงานเรื่อง EdPEx

รศ.ภก.ดร.วันชัย กล่าวว่า เนื่องจากจุฬาฯ เพิ่งเริ่มนำเกณฑ์ EdPEx มาใช้ในมหาวิทยาลัย ในการดำเนินงานเรื่องนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเกณฑ์อย่างถ่องแท้และเป็นผู้นำในการนำเกณฑ์นี้มาใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารระดับสูงสุดจะต้องดำเนินการให้เกิดเป็นนโยบายขึ้นมา และถ่ายทอดให้กับผู้บริหารในทุกระดับได้เรียนรู้เพื่อให้เห็นความสำคัญและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  นอกจากนี้การดำเนินการในเรื่องนี้ยังต้องมีการสื่อสารทั่วทั้งองค์กรเพื่อทำให้ทุกคนตระหนักในการบูรณาการงานประจำเข้าสู่เกณฑ์ EdPEx  รวมถึงมีการบริหารจัดการในการรวบรวมข้อมูล เพื่อตอบเกณฑ์ EdPEx ให้ครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ เป้าหมายในการดำเนินงานด้าน EdPEx ของจุฬาฯ คือ การสมัครเข้าร่วมโครงการ EdPEx200/EdPEx300 ของ สป.อว.  และสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติต่อไป

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า